© 2017 Copyright - Haijai.com
10 วิธีสยบ กลบเสียงร้องจอมโยเย
วิธีรับมือกับเสียงร้องของลูกกันบ้าง เพราะเชื่อจริงๆ ค่ะว่า เสียงร้องของเจ้าตัวน้อยจะเป็นสิ่งที่สร้างความปวดหัวให้กับคุณพ่อคุณแม่อย่างมาก ทั้งสงสารลูก ทั้งรำคาญผสมปนเปกันไป แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ถ้าอย่างนั้นลองดูวิธีที่เราเลือกมานำเสนอนะคะ เผื่อบางทีอาจช่วยคุณพ่อคุณแม่ได้บ้าง
1.ตรวจดูสภาพโดยรอบ ว่ายังปกติดีอยู่หรือไม่ โดยปกติแล้วเสียงร้องของลูกน้อยนั้นมักจะมีความหมายที่ต้องการจะบอกความต้องการของเขาให้คุณได้รับรู้ ดังนั้นอันดับแรกที่ควรทำคือ ตรวจสอบดูว่ามีสิ่งใดที่อาจไปสร้างความไม่สบายตัวให้ลูกอยู่หรือเปล่า เช่น หิวนม หิวน้ำ ผ้าอ้อมเปียกฉี่ อึ หรืออยู่ในท่านอนที่ไม่สบายตัว เป็นต้น เมื่อรู้ต้นเหตุแล้วก็จัดการซะให้เรียบร้อย
2.สีสันหลอกล่อ เมื่อลูกน้อยมีอายุได้ประมาณ 1-2 เดือน ลูกน้อยจะมีพัฒนาการทางสายตามากขึ้น และชอบที่จะมองสิ่งต่างๆ รอบตัว คุณควรหาโมบายที่มีสีสันสดใสต่างๆ มาแขวนไว้ ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อยก็อาจจะชอบดูสมุดภาพสีสันสดใส คุณลองเอาให้ลูกดูซิคะ บางทีอาจช่วยให้ลูกหยุดร้องและหลับได้ง่ายขึ้นก็ได้
3.มนต์สะกดจากบทเพลง ลูกน้อยวัยแรกเกิดจะรู้สึกสงบลง หากคุณเปิดเพลงที่เขาคุ้นเคย หรือเคยฟังบ่อยๆ ตอนที่ยังอยู่ในท้อง หรือแม้ แต่เพียงแค่เพลงกล่อมเด็กที่ร้องอย่างไร้ความหมาย แต่ด้วยโทนเสียงที่คุ้นเคยของคุณก็ทำให้ลูกน้อยเคลิ้มหลับไปได้เหมือนกันค่ะ
4.สัมผัสแผ่วเบา ก็ช่วยลูกน้อยให้ผ่อนคลายได้ ไม่ว่าจะเป็นการลูบศีรษะลูกด้วยความนุ่มนวล ตบก้นเบาๆ หรือจะนวดเฟ้นตามลำตัวให้กับลูก สัมผัสอันแผ่วเบาเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยเกิดความรู้สึกผ่อนคลายขึ้นมาได้เช่นกัน
5.ตรงนี้หนูช๊อบ ชอบ เด็กบางคนชอบให้คุณสัมผัสส่วนต่างๆ ตามร่างกายของเขา เช่น ลูบที่ใบหู หรือลูบไล้ตามลำตัวของเขา คุณลองสังเกตดูว่า ลูกของคุณชอบให้สัมผัสส่วนไหน เมื่อถึงเวลาที่เอาเขาไม่อยู่ขึ้นมาจริงๆ ก็ให้ทำในสิ่งที่ลูกชอบไม่นานก็หยุดร้องและหลับได้เองค่ะ
6.กล่อมอย่างอ่อนโยน เมื่อได้ยินเสียงร้อง คุณลองอุ้มลูกขึ้นมาไว้ในอ้อมแขนจากนั้นก็แกว่งหรือโยกตัวลูกเบาๆ พูดคุยกับลูกสักหน่อย เมื่อลูกสงบลงแล้วและรู้สึกเมื่อยขึ้นมา คุณอาจนำลูกหย่อนลงในเปลหรือรถเข็น และโยกไปมา เท่านี้ลูกก็จะหลับสบายต่อไปได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วล่ะค่ะ
จริงๆ แล้วการร้องไห้ของเด็กๆ เป็นเรื่องธรรมดาค่ะ แต่หากเด็กคนไหนเป็นเด็กขี้แย ร้องแบบ non stop แล้วล่ะก็อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ประสาทเสียได้เช่นกัน ดังนั้นโปรดจำไว้ว่า การจัดการกับเสียงร้องของลูก คุณควรใจเย็นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาเกิดร้องไม่หยุด เอาไม่อยู่ขึ้นมา สิ่งแรกที่คุณจะต้องทำก็คือ สงบจิตใจของคุณให้เย็นลงเสียก่อนที่จะเดินเข้าไปสงบเสียงร้องของลูกนะคะ
7. ลองนวดศีรษะให้ลูก การนวดบริเวณขมับเบาๆ ก็สามารถช่วยได้เหมือนกันนะ จับลูกนอนลงบนเบาะ ส่วนคุณก้มลงในลักษณะค่อมลงบนตัวลูก จากนั้นใช้สองมือค่อยๆ นวดที่บริเวณขมับเบาๆ ขณะเดียวกันก็ชวนลูกพูดคุยไปด้วย เท่านี้ก็สามารถทำให้ลูกสงบลงได้แล้วล่ะค่ะ
8.ร้องแบบโคลิค เด็กวัยก่อนสามเดือน อาจมีอาการที่เรียกว่า “ร้องโคลิค” ขึ้น หากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นกับลูกคุณ ลองอุ้มเจ้าตัวน้อยแนบไว้กับอก และตบก้นเขาเบาๆ ขณะเดียวกันก็โยกตัวไปมา ความใกล้ชิดกับคุณจะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นขึ้นจนช่วยให้สงบลงได้บ้าง
9.เปลี่ยนบรรยากาศ หากเจ้าตัวน้อยโตขึ้นมาหน่อย วิธีแบบเดิมอาจไม่ได้ผลอีกต่อไป ถ้าอย่างนั้นคุณลองอุ้มลูก หรือจับนั่งในรถเข็นออกไปเดินเที่ยวข้างนอกดูบ้าง ความเพลิดเพลินจากวิวรอบๆ ด้านจะช่วยให้ลูกสงบลงและหลับไปได้อย่างง่ายดาย
10.งานบ้านบำบัด คุณทราบหรือไม่ว่าเสียงอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น เป็นอีกหนึ่งเสียงกล่อมที่ทรงประสิทธิภาพ หากคุณอุ้มเจ้าตัวน้อยลงในเปลคาดเอว ในขณะเดียวกันก็จัดการกับงานบ้านกองโตไปด้วย การโยกตัวทำงานบ้านของคุณจะกลายเป็นเหมือนการเห่กล่อมลูกไปในตัว เผลอแป๊บเดียวเจ้าตัวน้อยก็จะหลับปุ๋ยไปแล้ว แถมบางทีงานที่ทำก็ยังไม่ทันเสร็จดีเสียด้วยซ้ำไปค่ะ
อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณลองมาแล้วทุกวิธีแล้วแต่เจ้าตัวน้อยก็ยังมีอาการแผดเสียงร้องดังๆ อยู่บ่อยๆ คุณอาจไปปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ตรวจดูว่าลูกของคุณมีอาการผิดปกติอะไรหรือไม่ บางทีคุณหมออาจจะให้ยาบรรเทาอาการมาให้ หรือถึงแม้บางทีการเป็นเด็กเจ้าน้ำตาของลูกจะไม่มีสาเหตุมาจากอาการผิดปกติอะไร แต่คุณหมอก็อาจให้คำแนะนำที่ดีกับคุณได้ค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)