© 2017 Copyright - Haijai.com
ความต้องการเอาชนะ
T.Berry Brazelton, M.D. หรือ ดร.แบรี่ บราเซลตัน ผู้เขียนหนังสือขายดีที่รู้จักกันดีเรื่อง Touchpoints (ทัช-พอยต์) เป็นผู้ก่อตั้งแผนกพัฒนาการเด็กในโรงพยาบาลบอสตัน และเป็นศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ ที่แผนกการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้กล่าวไว้ว่า
บ่อยครั้งที่เด็กวัย 3 ขวบกว่าต้องการสร้างอำนาจในการต่อรองให้กับตัวเอง ซึ่งหลายครั้งจะออกมาในรูปของอาการซึมเศร้า บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถคาดเดาถึงสิ่งที่ลูกต้องการจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เช่น อารมณ์โกรธอาละวาดอาจลดลง แต่ความต้องการเอาชนะอาจเข้ามาแทนที่
ในขณะที่คุณทำหน้าที่พ่อแม่ และรู้สึกว่าตัวเองกำลังติดเข้าไปในสถานการณ์นี้อย่างน่าอึดอัด คุณก็ควรได้รู้ไว้ด้วยว่า ความรู้สึกอึดอัดนี้ได้ถ่ายทอดไปยังลูกตัวน้อยของคุณด้วย คุณอาจจะเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งบางทีเป็นผลมาจากการแสดงอารมณ์โกรธ และแสดงพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นผู้ใหญ่ที่ตัวโตกว่า และเป็นผู้ที่มีอำนาจในการควบคุม
ลองคิดดูว่าคุณยังมีวิธีอื่นอีกไหมที่จะบรรลุเป้าหมายได้ แน่นอนครับว่า “มี” โดยคุณอาจเดินหนีไปจนกว่าลูกน้อยจะยอมสงบลง หลังจากนั้นค่อยให้ลูกปฏิบัติตามในสิ่งที่คุณร้องขอ โดยไม่ต้องไปโต้เถียงอะไรกับลูกอีก ถ้าลูกยังแสดงอาการขัดขืนไม่ยอมทำตามอีก ก็ให้เดินหนีไปอีก การแสดงอาการเฉยเมยกับลูกเป็นวิธีการทำโทษที่ควรใช้อย่างระมัดระวัง เมื่อพ่อแม่เดินหนีไปควรบอกให้ลูกเข้าใจอย่างชัดเจนว่า “แม่จะกลับมาใหม่เมื่อหนูสงบลงได้แล้ว” ไม่ใช่ “แม่จะทิ้งหนูเพราะหนูทำตัวแย่” ถ้าไม่ใช่การต่อสู้ในเรื่องที่สลักสำคัญอะไรมากมาย คุณก็ควรปล่อยไปบ้าง เพื่อไปใส่ใจกับเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่า แต่ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญก็ควรทำให้ลูกเข้าใจอย่างชัดเจนไปเลยว่า คุณไม่มีทางเลือกอื่นอีก นอกจากลูกจะยอมทำตามคำขอของคุณ หรือคุณต้องกำหนดบทลงโทษเพื่อให้ลูกเข้าใจว่า คำสั่งของคุณนั้นมีความสำคัญอย่างไร ถึงตอนนี้ทั้งคุณและลูกต่างก็รู้ดีแล้วว่า ความต้องการที่จะเอาชนะซึ่งกันและกันไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดเลย
การวางเฉยกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
ในกรณีที่ลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหลายเรื่องติดๆ กัน พ่อแม่ควรวางเฉยในพฤติกรรมที่มีความผิดเพียงเล็กน้อย และไปให้ความสำคัญกับประเด็นที่สำคัญจะดีกว่า นั่นเพราะการถูกตำหนิซ้ำๆ จากเรื่องหลายๆ เรื่อง มีโอกาสที่จะทำให้ลูกเลิกฟังคำตักเตือนจากคุณ หรือบางครั้งอาจถึงขั้นต่อต้านเลยทีเดียว การวางเฉยในบางเรื่องที่ไม่มีความสำคัญมากนัก จะช่วยป้องกันปฏิกิริยาต่อต้านของลูกได้ แต่อย่างไรก็ตามการวางเฉยต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในบางเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญ หรือเป็นเรื่องที่มีการบอกกล่าวตักเตือนหรือทำโทษมาก่อนหน้านี้แล้วจะกลายเป็นความผิดพลาดของพ่อแม่ได้
ข้อดี
• พ่อแม่มีโอกาสเลือกสอนวินัยในบางเรื่องที่เห็นว่ามีความสำคัญ
• การไม่บ่นพูดในทุกๆ เรื่อง มีแนวโน้มที่ลูกจะยอมรับฟัง และปฏิบัติตามคำสอนของพ่อแม่
• ทำให้พฤติกรรมที่น่าหงุดหงิดรำคาญใจเล็กๆ น้อยๆ ที่ลูกต้องการให้คุณหันมาสนใจไม่ได้ผล
ข้อเสีย
• ลูกอาจรู้สึกสับสนว่าทำไมเมื่อเขาทำผิด จึงไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ ในบางครั้ง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)