Haijai.com


ไวรัสที่ทำให้เกิด โรคผิวหนังในเด็ก


 
เปิดอ่าน 2972

ไวรัสที่ทำให้เกิด โรคผิวหนังในเด็ก

 

 

คุณแม่บางคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า ผื่นบนผิวหนังของลูกเกิดจากสาเหตุใด? วันนี้คุณหมอขอมาไขข้อข้องใจในเรื่องนี้ค่ะ แท้จริงแล้วผื่นที่เกิดบนผิวลูกน้อยอาจเกิดจากเชื้อไวรัส หมอขอแบ่งง่ายๆ ตามลักษณะไวรัสที่ทำให้เกิดอาการ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

 

 

1.ไวรัสที่ทำให้เกิดตุ่มน้ำใส อันได้แก่

 

สุกใส โรคยอดฮิตของเด็กๆ โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า varicella zoster virus โดยอาการของโรคจะมีไข้ ปวดเมื่อยตัว ผื่นมีลักษณะเป็นสีแดงราบและกลายเป็นตุ่มน้ำใสและตุ่มหนอง ตกสะเก็ดใน 8-24 ชม. ลักษณะพิเศษของโรคคือ ในบริเวณเดียวกันจะสามารถพบผื่นได้หลายๆ ระยะ ทารกที่ติดสุกใสจากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ใน 3 เดือนแรกหลังคลอดอาจพบแผลเป็นตามตัว แขนขาลีบเล็ก ต้อกระจกและอาจมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย สุกใสติดต่อได้ทางการหายใจ การสัมผัสโดยตรงและทางอ้อม แนะนำให้เด็กๆ หยุดโรงเรียน 7 วันหลังมีผื่น ถ้าไม่อยากมีรอยแผลเป็นจากสุกใสสามารถพาลูกไปฉีดวัคซีนป้องกันได้ค่ะ

 

 

งูสวัด เกิดจากเชื้อโรคตัวเดียวกันกับโรคสุกใส แต่เป็นโรคที่พบน้อยในเด็ก เกิดจากการได้รับเชื้อ varicella zoster virus มาก่อน เชื้ออยู่ในปมประสาทของร่างกาย เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงจะทำให้เกิดโรค และพบได้ในทารกที่คุณแม่เป็นงูสวัดขณะตั้งครรภ์ การวินิจฉัยและการรักษาทำได้โดยการย้อมพิเศษ Tzanck smear และรักษาโดยยาต้านไวรัส เช่น acyclovia

 

 

เริม เกิดจากเชื้อ Herpes simplex virus (HSV) Type 1 และ 2 โดย HSV1 ผื่นจะพบบริเวณริมฝีปากและใบหน้า ส่วน HSV2 ส่วนใหญ่จะมีผื่นบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก แต่ก็สามารถพบเชื้อได้ทั้งสองบริเวณ ถ้าการติดเชื้อในครั้งแรกเด็กๆ จะมีไข้สูง ผื่นจะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส ในทารกที่ติดเชื้อจากคุณแม่ตอนคลอด อาการจะรุนแรง การติดเชื้อจะลามไปทั่วตัว รวมทั้งปอด ต่อมหมวกไต และระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งอาจทำให้มีอาการชักร่วมด้วยได้ การวินิจฉัยและการรักษาทำได้โดยการย้อมพิเศษ Tzanck smear และรักษาโดย ยาต้านไวรัส เช่น acyclovia

 

 

2.ไวรัสที่ทำให้เกิดผื่นนูนเฉพาะที่ อันได้แก่

 

หูด (wart) เกิดจากเชื้อ human papilloma virus (HPV) เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ตามรอยถลอกหรือผิวหนังที่มีแผลลักษณะเป็นตุ่มนูน แข็ง ผิวขรุขระสีเดียวกับผิวหนัง สามารถหายได้เองและกลับมาเป็นซ้ำได้ การรักษามีหลายวิธี ในเด็กควรเลือกวิธีที่ไม่เจ็บและไม่เป็นแผลเป็น เช่น การทายากลุ่ม keratolytic การรักษาโดยใช้ความเย็น (cryotherapy) ส่วนการรักษาอื่นๆ เช่น จี้ไฟฟ้า เลเซอร์ ใช้ได้ในเด็กโตเท่านั้น

 

 

หูดข้าวสุก (molluscum contagiosum) เกิดจากเชื้อ molluscum virus ลักษณะเป็นตุ่มนูน ผิวเรียบ พบได้ทั่วร่างกาย การรักษา ปกติหายได้เอง แต่ถ้าแพร่กระจายไปบริเวณอื่น ควรรีบรักษานะคะ ส่วนใหญ่การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดคือ สะกิดออก โดยแปะยาชาก่อนลดอาการเจ็บปวดค่ะ

 

 

3.ไวรัสที่ทำให้เกิดผื่นนูนแดง อันได้แก่

 

หัด (measle), หัดเยอรมัน (rubella) และไข้หัดกุหลาบ (roseola infantum) ส่วนใหญ่เด็กๆ จะมีอาการไข้ก่อนมีผื่น ซึมลง เล่นได้น้อย และมีผื่นแดงตามมา การรักษาขึ้นกับสาเหตุของโรคและ เฝ้าระวังโรคแทรกซ้อน

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพบผื่นบนผิวหนังลูกน้อย และคุณแม่ไม่มั่นใจว่าเกิดจากสาเหตุใด หรือจะรักษาได้อย่างไร แนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง เพื่อสุขภาพผิวที่ดีของลูกน้อยสุดที่รักของเราค่ะ

 

 

พญ.ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)