
© 2017 Copyright - Haijai.com
The hands มือน้อยๆ ของหนู
“จับปูดำ ขยำปูนา จับปูม้า คว้าปูทะเล”
เพลงที่ผู้ใหญ่มักร้องเล่นกับเด็กเล็กๆ พร้อมกับทำท่ากำมือและแบมือไปด้วย ไม่ทราบว่าจริงๆแล้วเพลงนี้พูดถึงเรื่องอะไร และเนื้อร้องเต็มๆ เป็นอย่างไร แต่ท่อนที่ร้องกันนี้ ก็ทำให้เจ้าตัวน้อยที่เพิ่งหัดกำมือและแบมือสนใจเป็นอย่างยิ่ง แถมยังแอบทำมือตามผู้ใหญ่ไปอีกด้วยแน่ะ
อันที่จริงเด็กทารกเริ่มกำมือและดูดนิ้วได้ ตั้งแต่เดือนที่หกที่อยู่ในครรภ์แล้ว แต่เมื่อคลอดออกมาใหม่ๆ เจ้าตัวน้อยยังมีสภาพอ่อนแอสำหรับโลกภายนอกที่เปลี่ยนไปจากโลกภายในมดลูกคุณแม่ รวมทั้งท่าทางที่เปลี่ยนไปจากที่เคยนอนคุดคู้ งอแขนงอขา ก็ได้ออกมายืดเส้นยืดสายซักที ทำให้เจ้าตัวน้อยต้องใช้เวลาในการปรับตัวสักระยะหนึ่ง ดังนั้นในช่วงสัปดาห์แรกๆหลังคลอด เจ้าหนูของเราก็ยังกำมืออยู่อย่างเดียว และจะค่อยๆคลายออกบ้างนานๆครั้ง แขนขายังไม่ค่อยขยับมาก จวบจนเข้าเดือนที่สอง เจ้าตัวน้อยของเราก็จะเริ่มหัดกำและแบมือออกสลับกัน รวมทั้งจับมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกันเองได้ และจะเริ่มเอามือปัดของเล่นที่แขวนอยู่ตรงหน้า
พลังฝ่ามือ
พลังฝ่ามือในที่นี้ไม่ใช่แบบในหนังจีนกำลังภายในนะคะ หากแต่เป็นเพราะว่าเจ้าตัวน้อยของเรา ยังไม่สามารถใช้นิ้วมือได้อย่างคล่องแคล่วหรือถนัด จึงมักคว้าสิ่งของต่างๆด้วยมือทั้งมือ โดยการคว้าแล้วกำมือปิดจนแน่นนั่นเอง ถ้าคุณแม่สังเกตดูให้ดี ในช่วงอายุสามเดือน เจ้าตัวน้อยจะคว้าสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด แล้วกำเอาไว้แน่นหนาอยู่อย่างนั้น จนคุณแม่ต้องเป็นคนไปแกะมือลูกออก เพื่อให้ปล่อยของชิ้นนั้น บางครั้งก็อาจเป็นผมคนที่อุ้มอยู่นั่นแหละค่ะ กำเอาไว้จนแน่นเจ็บเชียว แถมบางทียังมีดึงอีกต่างหาก ไม่ได้ทำเพราะอารมณ์โกรธหรือดื้องอแงนะคะ แต่นั่นเป็นเพราะว่าเจ้าตัวน้อยของเรายังไม่มีทักษะในการใช้มือและยังไม่สามารถควบคุมการกำมือหรือแบมือได้นั่นเอง
พอย่างเข้าเดือนที่สี่ เจ้าตัวน้อยก็จะเริ่มใช้ทั้งสองมือจับหรือคว้าสิ่งของพร้อมๆกัน เริ่มสำรวจการทำงานของมือตัวเอง เริ่มมีการใช้มือที่ดีขึ้น แต่ก็ยังงุ่มง่ามและใช้วิธีกำของด้วยกำมืออยู่ค่ะ และเมื่ออายุได้ห้าเดือน เจ้าตัวน้อยของเราก็จะมีพลังการกำที่ทรงพลังและแม่นยำมากยิ่งขึ้น และอาจจะเริ่มเห็นว่าลูกน้อยเริ่มคว้าสิ่งของ แล้วนำเข้าไปสำรวจในปาก เพื่อลองชิมดูแล้วในช่วงนี้ คว้าของแล้วปล่อยมือได้
พอเริ่มเข้าเดือนที่เจ็ด เจ้าตัวน้อยเริ่มมีทักษะในการใช้มือมากขึ้นแล้ว เขาสามารถถือสิ่งของในมือข้างหนึ่งแล้วส่งผ่านไปยังมืออีกข้างหนึ่งของตนเองได้ ลองสังเกตดูดีๆนะคะ จะมีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่เจ้าตัวน้อยจะฝึกส่งของจากมือข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งสลับกันไปมา แล้วเวลาลูกน้อยกำลังฝึกทักษะอะไร ก็ไม่ควรไปทักเลยนะคะ ควรแอบดูเฉยๆค่ะ ไม่ต้องไปทัก ไปสอนหรือไปแซวใดๆทั้งสิ้น หลังจากนั้นประมาณช่วงแปดเดือน เจ้าตัวน้อยก็จะสามารถเล่นตัวต่อแบบง่ายๆได้แล้ว และกำลังฝึกเอาสิ่งของเข้าปากตนเองแบบตั้งใจได้ เช่น การถือถ้วยหัดดื่มเอง หรือหยิบอาหารใส่ปากตัวเองได้ ถึงแม้จะดูงุ่มง่ามอยู่บ้าง หรือบางครั้งอาจทำได้คล่องแคล่ว แต่ต่อมาก็ทำไม่ได้ ก็ไม่เป็นไรค่ะ เพราะเจ้าตัวน้อยกำลังอยู่ในขั้นตอนของการฝึกฝน ซึ่งในบางครั้งก็จะเกิดภาวะก้าวกระโดดหรือเกิดภาวะถดถอย เหมือนพัฒนาด้านอื่นๆ ที่จะเดินหน้าแล้วถอยหลังเล็กน้อย ก่อนที่จะปรับให้เกิดทักษะที่คงที่และชำนาญขึ้นต่อไป
เริ่มใช้นิ้วเป็นแล้ว
เมื่ออายุได้สิบเดือน เจ้าตัวน้อยของเราก็กำลังสนุกกับการฝึกฝนใช้มือทำหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการตบมือหรือการเริ่มฝึกใช้นิ้วมือ สัญญาณแรกที่จะเห็นได้ก็คือ เจ้าตัวน้อยจะใช้นิ้วชี้ ชี้ไปยังสิ่งต่างๆ ก่อน และต่อมาก็จะค่อยๆ ใช้นิ้วหัวแม่โป้งและนิ้วชี้หยิบจับสิ่งของเล็กๆ ได้อย่างแม่นยำ และจะถือเอาไว้หรือปล่อยวางลงได้ตามที่ต้องการแล้ว เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มใช้มือยึดขอบเตียงหรือคอกเพื่อเกาะยืนได้ตั้งแต่ช่วง 10-11 เดือน
เมื่อเจ้าตัวน้อยครบหนึ่งขวบ เขาก็จะใช้นิ้วมือน้อยๆเปิดพลิกหน้าหนังสือเองได้ ทักษะในการหยิบจับสิ่งของต่างๆ ก็แม่นยำและควบคุมได้ดียิ่งขึ้นไปอีก สามารถต่อบล็อกตัวต่อชิ้นใหญ่เรียงซ้อนกัน และทำให้พังลงมาได้ เพื่อที่จะต่อขึ้นไปใหม่อีกครั้ง นอกจากนี้ก็ยังสามารถใช้ช้อนตักอาหารเข้าปากตัวเองได้ และยังสามารถใช้มือจับดินสอสีเทียนแท่งใหญ่ๆ เพื่อใช้วาดรูปเป็นเส้นขยุกขยิกได้อีกด้วย
พอย่างเข้าขวบปีที่สอง เจ้าตัวน้อยวัยเตาะแตะของเรา ก็จะฝึกปรือการใช้มือได้คล่องแคล่วและชำนาญยิ่งขึ้น สามารถหยิบ-จับ-กำ-ถือ-คีบสิ่งของต่างๆด้วยนิ้วมือที่ถนัดตามสถานการณ์นั้นๆ การตักอาหารเข้าปากก็ทำได้ดีและแม่นยำมากขึ้น ส่วนเรื่องการรับประทานอาหารที่เลอะเทอะนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะคะ ไม่เกี่ยวกับความถนัดหรือทักษะในการใช้มือ ต้องค่อยๆสอนกันไป
ลายนิ้วมือ
ลายนิ้วมือของคนเราเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์อย่างยิ่งยวดอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ เพราะลายนิ้วมือของเรามีความสำคัญไม่ต่างไปจากดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของคนเราที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร แม้กระทั่งคู่แฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกัน
เรื่องความมหัศจรรย์ของลายนิ้วมือนี้ ได้เคยมีผู้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องลายนิ้วมือมานานเป็นร้อยๆ ปีแล้ว จะเห็นได้ว่าลายนิ้วมือของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจนตลอดชีวิต ลายนิ้วมือถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนที่ 3-5 ที่ทารกอยู่ในครรภ์คุณแม่ นิ้วมือน้อยๆจะเริ่มมีลายนิ้วมือปรากฏขึ้นมาให้เห็น เมื่อลูกน้อยคลอดออกมาก็จะมีพิมพ์ลายนิ้วมือเดียวกับที่อยู่ในครรภ์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพียงแต่จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามขนาดของร่างกายเมื่อเจ้าตัวน้อยของเราเติบโตขึ้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
เคยมีการค้นพบว่า ลายนิ้วมือของเด็กที่มีปัญหาเรื่องสมองจะมีแพตเทิร์นคล้ายๆ กัน จึงอาจจะทำให้พอสรุปได้ว่า ลายนิ้วมือนั้นน่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของสมอง ประกอบกับได้มีการนำทฤษฏีการทำงานของสมองมาเชื่อมโยงกับลายนิ้วมือ และพบว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก
ลายนิ้วมือคนเราแบ่งได้เป็นสามประเภทใหญ่ๆ คือ ลายมัดหวาย ( loop ) ลายก้นหอย ( whorl ) และลายโค้ง ( arch ) ลวดลายที่นูนขึ้นมาเล็กน้อยเหล่านี้ มีประโยชน์ในการหยิบจับสิ่งของไม่ให้ลื่นหลุดมือ และบนสันของเส้นเหล่านี้มีรูเล็กๆซึ่งเป็นรูเหงื่อเพื่อให้เหงื่อซึมออกมาได้ เมื่อนิ้วใดนิ้วหนึ่งจับต้องวัตถุพื้นเรียบ ลายเส้นนูนที่ชื้นด้วยเหงื่อจึงถูกกดลงบนวัตถุ ทำให้เกิดการจำลองแบบลายเส้นนิ้วมือติดอยู่บนวัตถุนั้น ดังนั้น หากมีการเก็บรอยลายนิ้วมือที่ติดอยู่บนวัตถุออกมาด้วยวิธีที่เหมาะสม ก็จะสามารถนำลายนิ้วมือนั้นไปใช้ประโยชน์ในทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น การพิสูจน์ตัวบุคคลของทางการตำรวจ หรือในด้านการแพทย์ ที่นำไปใช้ในการช่วยวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมได้อีกด้วย น่าทึ่งจริงๆเลยใช่ไหมคะ กับสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมา อย่าลืมล้างมือบ่อยๆนะคะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)