© 2017 Copyright - Haijai.com
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด 2
จริงๆ แล้วพบได้บ่อย แต่ในเมืองไทยยังไม่มีการทำการศึกษาว่ามีสักกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าในเมืองนอกนี่พบบ่อยมาก เรียกว่าเกินครึ่งเลย สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแต่สันนิษฐานว่ามาจากการที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ในช่วงที่ตั้งครรภ์มีฮอร์โมนหลักๆ 2 ตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ เอสโตรเจน และโปรเจสเทอโรน ทีนี้พอหลังคลอด ฮอร์โมนทั้ง 2 นี้ก็จะลดลง จึงเชื่อได้ว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นสาเหตุหลักของอารมณ์หดหู่ซึมเศร้า นอกจากนี้ยังจะต้องดูถึงภูมิหลังของผู้ป่วยไปด้วย ในผู้หญิงที่มีครอบครัวไม่ค่อยดี หรือมีปัญหาความสัมพันธ์ทั้งกับสามีและวัยเด็กที่ไม่ดี ก็จะเจอภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมากกว่า
การบรรเทาและประคับประคองสภาพจิตใจนั้นสามีเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด ทั้งการให้กำลังใจ และให้ความอบอุ่น ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ด้วยกันจนถึงตอนคลอด ที่สำคัญเลยคือเรื่องคำพูด ไม่ว่าจะเป็นการแซวเล่นแบบเจ็บๆ ถึงรูปร่างที่เปลี่ยนไปว่าเหมือนช้างน้ำบ้าง แม่หมูบ้าง เหมือนจิงโจ้บ้าง ก็ทำผู้หญิงหมดความมั่นใจ และฝังใจกับคำพูดสะสมไปด้วยแล้ว จิตใจเลยไม่แข็งแรง
การลดการเกิดภาวะซึมเศร้าอีกทางหนึ่งคือการที่แม่ได้สัมผัสกับลูกทันทีที่แรกคลอด เมื่อคลอดปุ๊บก็ให้แม่ได้อุ้มเลย จะเกิดสายสัมพันธ์ที่ดี และที่สำคัญคือการที่แม่ได้ให้นมลูกในทันที การที่แม่ได้ให้นมนั้นจะเกิดการหลั่งของสารในสมองไม่ว่าจะเป็นออกซี่โทซิน ที่ช่วยให้มดลูกบีบตัวดี หรือเอนโดรฟิน ซึ่งเป็นสารที่จะหลั่งออกมาให้เรามีความสุข
คุณแม่ต้องหัดสังเกตตนเอง สัญญาณอันตรายนั้นคือหากความรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ อยากฆ่าตัวตาย ความรู้สึกอยากทำร้ายลูก ได้ยินลูกร้องแล้วโมโห อยากจะทำร้ายลูกด้วยวิธีต่างๆ แบบที่เราเห็นตามข่าว ต้องรีบปรึกษาหมอสูติและหมออาจจะแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการบำบัดต่อไปค่ะ
ถามว่าภาวะนี้หายเองได้ไหม บางคนก็หายเองได้ แต่ใช้เวลาต่างกัน บางคนเป็นสัปดาห์ นานสุดอาจจะถึงครึ่งปี อีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดในเรื่องความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้ คือ การออกกำลังกาย ยิ่งถ้าคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ สัก 6 สัปดาห์ก็สามารถออกกำลังกายได้แล้ว ส่วนคุณแม่ที่ผ่าคลอดอาจจะต้องรอถึง 3 เดือน หรือเลี่ยงการออกกำลังกายทางหน้าท้อง การออกกำลังกายจะช่วยลดภาวะซึมเศร้าได้ค่ะ
ขอขอบคุณ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
(Some images used under license from Shutterstock.com.)