© 2017 Copyright - Haijai.com
ช่องว่างระหว่างวัย พ่อแม่กับลูก
เรื่องราวของความไม่ข้าใจกันระหว่างพ่อแม่กับลูกที่เรียกกันว่าช่องว่างระหว่างวัยนั้น เป็นเรื่องราวที่มีความสำคัญมาในทุกยุคทุกสมัย และครอบครัวใดที่ไม่สามารถที่จะอุดช่องว่างนี้หรือไม่สามารถที่จะสร้างสะพานที่จะเชื่อมช่องว่างนี้ได้แล้วก็มักจะเกิดปัญหาตามมาเสมอ การเรียนรู้ที่จะทำให้ช่องว่างระหว่างวัยลดลงหรือไม่มีนั้นจึงเป็นศาสตร์และศิลปที่พ่อแม่ทุกคนรวมทั้งลูกๆ ที่รักพ่อแม่จะต้องเรียนรู้เพื่อที่จะสื่อสารให้เข้าใจกันด้วยความรักความห่วงหาอาทรในกันและกัน
ความเข้าใจกันและกันในแบบที่เป็นความจริงนั้น เป็นสิ่งที่ต้องสร้างสรรค์ขึ้นมาและพ่อแม่จะต้องรู้ว่าเวลาใดควรจะสอนลูก และเวลาใดลูกจะไม่ให้สอน
ลูกๆ นั้นเมื่อเกิดมาใหม่ๆ พ่อแม่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเขา สอนอะไรเขาจะเป็นอย่างนั้น ดังนั้นในช่วงแรกของชีวิตน้อยๆ ของลูกรักพ่อแม่จะต้องมีเวลาที่จะฟูมฟักลูกด้วยความรักและสอนสั่งเรื่องราวที่เหมาะสมกับวัยของเขาเพื่อที่จะทำให้เขามีพัฒนาการทั้งร่างกายและจิตใจเป็นไปในรูปแบบที่พ่อแม่พึงประสงค์ เคยมีคนกล่าวว่า รอจนถึงอนุบาลก็สายไปแล้ว
ขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้ ตามที่ทราบมานานแล้วว่าลูกๆ จะมีพัฒนาการในการเรียนรู้ของเขาไปตามวัย การจะอุดช่องว่างระหว่างวัยก็คือทำให้เขารู้สึกว่าพ่อแม่เป็นทั้งผู้ที่รักและห่วงใยเขา ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อที่จะทำให้เขาได้ดีมีสุข และสั่งสอนแต่สิ่งที่ดีงามแก่เขาเป็นประจำ พ่อแม่จึงต้องรู้ว่าเมื่อไรควรจะสอน และเมื่อไรพวกเขาจะไม่ฟังพ่อแม่อีกต่อไป และจะเริ่มไปเชื่อเพื่อน
ทีนี้ถ้าเขาเชื่อมาตั้งแต่เล็กๆ ว่า พ่อแม่ก็เป้นเพื่อนที่ดีที่สุดของเขาเช่นกัน เขาก้จะเชื่อพ่อแม่เช่นเดียวกับเพื่อนหรือมากกว่าเพื่อนเพราะยังคงมีความเป็นพ่อแม่อยู่ด้วย
เด็กๆ นั้น เมื่ออายุ 3 ขวบ เขาจะคิดว่า พ่อแม่รู้ทุกอย่างในโลกนี้
เมื่ออายุ 5 ขวบ เขาจะคิดว่า พ่อแม่รู้เกือบทุกอย่างในโลกนี้
อายุ 8 ขวบ พ่อแม่รู้เป็นส่วนใหญ่
อายุ 12 ขวบ พ่อแม่ก้รู้บ้างเหมือนกัน
อายุ 15 ขวบ พ่อแม่ไม่รู้อะไรเลย
อายุ 20 ขวบ พ่อแม่โง่ ต้องสอนพ่อแม่แล้ว
นั่นเป็นสัจธรรมที่เป็นมาตั้งแต่สมัยโบราณ และจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะผ่านไปอีกนานเท่าใด เพราะเมื่อลูกอายุมากขึ้น เขาจะมีประสบการณ์เรียนรู้มากขึ้น และเรียนรู้เรื่องร่าวที่พ่อแม่ไม่รู้หรือไม่สนใจจะรู้ และแล้วช่องว่างของความรู้ของลูกๆ ที่เติบใหญ่ก้จะถ่างกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ
พ่อแม่ที่ตั้งใจจะลดช่องว่างดังกล่าวจึงต้องเรียนรู้ที่จะสั่งสอนพวกเขาตั้งแต่อายุยังน้อย สอนเรื่องที่ดีงามและเป็นประโยชน์แก่พวกเขา และเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตร่วมไปกับพวกเขาด้วย ให้เขาได้แสดงออกและสนับสนุนหรือปรับปรุงการแสดงออกของพวกเขาอย่างสร้างสรรค์ การกระทำแบบนี้ทำให้มีความรู้สึกที่เป็นหนึ่งเดียวและสามารถลดช่องว่างระหว่างวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้ผลตามที่หวังและตั้งใจทั้งพ่อแม่และลูก
ลูกๆ ต้องมีสิ่ทธิมีเสียงที่จะออกความเห็นอย่างสร้างสรรค์ และทั้งพ่อแม่และลูกๆจะต้องยอมรับแนวทางในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัยหาต่างๆตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ร่วมกันมาตั้งแต่เมื่อลูกๆยังอายูน้อย แบบนี้เป็นการฝึกการทำงานร่วมกันและทำให้ลูกมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ด้วย และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีเหตุผล
พ่อแม่จึงห้ามใช้อารมณ์ในการจัดการกับปัญหาอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกันต้องให้ลูกเรียนรู้ว่าการที่พวกเขาจะใช้อารมณ์มาจัดการกับปัญหานั้นพ่อแม่ก็ยอมรับไม่ได้เหมือนกัน ถ้าสามารถที่จะก่อให้เกิดแนนวคิดแบบนี้ร่วมกันได้ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เมื่อลูกๆ โตขึ้นปัญหาของช่องว่างระหว่างวัยก็จะหมดไป
แน่นอนการจะลดช่องว่างระหว่างวัยนั้นพ่อแม่จะต้องเป็นคนที่ทันสมัย และไม่ยึดติดกับรูปแบบเก่าๆ รวมทั้งไม่ควรที่จะพูดว่า สมัยพ่อแม่ไม่เห็นทำอย่างนี้
จำได้ไหมว่าเวลาที่ตนเองเป็นลูกอยู่แล้วโดนพ่อแม่พูดแบบนั้นคิดอย่างไร ลูกๆ ของเราก้คิดอย่างนั้นเหมือนกัน ในอดีตที่ลูกๆ ทั้งหลายจำต้องว่านอนสอนง่ายและทำตัวตามคำสั่งของผู้ใหญ่อย่างเคร่งครัดโดยไม่กล้าโต้เถียงนั้นหมดไปแล้ว และในยุคที่ต้องสื่อสารกันด้วยเหตุและผลนี้พ่อแม่ยุคใหม่จำต้องลดช่องว่างระหว่างวัยด้วยการเรียนรู้ที่จะพูดคุยกับลูกๆ ด้วยเหตุและผล เช่นกันถ้าลูกไม่ยอมรับเหตุผลพ่อแม่ก็ต้องไม่ยอมรับในพฤติกรรมของลูกส่วนจะใช้วิธีการอะไรที่สร้างสรรค์ก็คงต้องแล้วแต่ครอบครัวไป
เคยมีคนถามว่าแล้วผู้เขียนทำอย่างไรกับลุกเวลาความเห็นไม่ตรงกันก็ตอบลูกไปดังนี้" พ่อว่าตอนนี้ความเห็นของเราไม่ตรงกันนะ เอาอย่างนี้ลูกๆ ก็รู้ว่าพ่อมีประสบการณ์มาก่อนและพ่อก็รักลูกไม่อยากให้ลูกทำอะไรผิดพลาดไป เรามาลองทำตามที่พ่อเสนอก่อนดีไหม ถ้าทำแล้วไม่ดีหรือลูกมีเหตุผลที่ดีกว่าก้เปลี่ยนไปทำตามที่ลูกเสนอก็แล้วกัน"
ผลก้คือบางเรื่องลูกๆ ก็ทำตามที่พ่อเสนอต่อไป และบางเรื่องที่ลูกเห็นว่าข้อเสนอของพ่อ อาจไม่เหมาะสมพวกเขา ก็พยายามไปหาเหตุผลมาค้านและบางครั้งก็ได้ผล เมื่อเป็นแบบนี้ก็สามารถทึ่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข และเข้าอกเข้าใจกันว่าครอบครัวต้องอยู่กันด้วยการถ้อยทีถ้อยอาศัย
ช่องว่างระหว่างวัยไม่มีทางลดได้ ด้วยการใช้ระบบเผด็จการเด็ดขาด แต่ช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัวจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าทุกคนที่อยู่ร้วมกันนั้นอยู่ร้วมกันด้วย ความรัก มาลดช่องว่างระหว่างวัยด้วยความรักความเข้าใจกัน และใช้แนวคิดในทางสร้างสรรค์มานำชีวิตกันจะดีกว่า
ผศ นพ พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)