© 2017 Copyright - Haijai.com
มาเป็นสาวเล็บสวยกันเถอะ
“เล็บ” แม้หลายคนจะมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจกันมากเท่าใดนัก แต่คุณรู้หรือไม่ว่าแท้ที่จริงแล้ว เล็บมีความสำคัญมาก เพราะเล็บ เป็นส่วนหนึ่งในร่างกายที่จะช่วยในเรื่องของบุคลิกภาพ อีกทั้งถ้าหากลองสังเกตกันดีๆ เล็บเหล่านี้สามารถบอกโรคของเจ้าของเล็บได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถบอกเราได้อีกว่าเล็บของคุณติดเชื้อมาจากอะไรได้บ้าง ถ้าหากไม่เริ่มต้นที่จะสังเกต ก็อาจจะทำให้สูญเสียเล็บไป จนทำให้กลายเป็นบุคคลที่มือไม่สวยเพราะไม่มีเล็บเลยก็เป็นได้
เล็บ มีส่วนประกอบของโปรตีนที่เรียก “เคราติน” เป็นส่วนของเซลล์ที่สร้างมาจากหนังกำพร้า ส่วนประกอบของเล็บจะเรียกว่า Nail Unit ทั้งนี้โครงสร้างที่จะประกอบเป็นเล็บได้มี 5 ส่วนด้วยกัน คือ
1.ส่วนที่เป็นเซลล์สร้างเล็บ เราเรียกว่า Nail Matrix
2.ส่วนที่เป็นกรอบของเล็บจะเรียกว่า Proximal nail fold
3.ส่วนที่อยู่โคนเล็บ ด้านข้างเรียกว่า Lateral nail folds
4.ส่วนที่เป็นฐานเรียกว่า Nail bed
5.ส่วนที่เป็นตัวเล็บเรียกว่า Nail plate
ซึ่งเป็นเซลล์ที่ตายแล้วประกอบไปด้วยโปรตีนและเคราติน โดยลักษณะของเล็บปกติที่จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สุขภาพดี ก็จะลักษณะเป็นสีชมพูอ่อน ผิวเรียบรื่น ไม่มีลักษณะขรุขระ ไม่มีรอยหยัก สามารถทำหน้าที่หยิบจับสิ่งของที่มีขนาดเล็ก ใช้ในการฉีกอาหาร รวมถึงป้องกันตัว แน่นอนว่าอีกประการที่สำคัญ คือ เพื่อความสวยงามบนนิ้วมือ จากที่กล่าวมาข้างต้นว่า แท้จริงแล้วหากเราสังเกตเล็บดีๆ ก็จะรู้ได้ว่า เป็นโรคกับอวัยวะส่วนใดได้บ้าง ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จัก และเรียนรู้วิธีการสังเกตเพื่อป้องกันและแก้ในอนาคต
เรียนรู้ โรคที่มากับเล็บ
เล็บที่มากับโรคนั้นจะมีลักษณะต่างๆ มากมาย
• เล็บที่หนา ล่อน เปราะ จนมีสาเหตุของเชื้อราได้ พวกนี้อาจจะเกิดจากความอับชื้น หรือการรักษาความสะอาดที่ไม่ดีพอก็อาจจะต้องไปพบแพทย์ผิวหนัง
• ถ้าหากเล็บเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำผิดปกติ ก็สังเกตว่าเราได้เกิดอุบัติเหตุมาหรือไม่ เพราะสีเล็บเหล่านี้จะเกิดจากการกระแทกอย่างรุนแรง หรือว่าถ้ามีอาการแดง หรือเขียวคล้ำๆ ก็อาจจะเกิดจากการติดเชื้อ
• ถ้าหากเล็บที่มีแถบสีผิดปกติไม่ว่าจะเป็นแถบแนวตั้งหรือแถบแนวนอน ก็ถือว่าเป็นเล็บที่ไม่ปกติเหมือนกัน เพราะว่าอาจจะมีการรบกวนจากโครงสร้างเล็บด้านในได้
• ส่วนเล็บมีลักษณะเป็นจุด ขาวๆ ถ้าเป็นจุดขาวๆ ก็คือ อาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพด้านความเจ็บป่วย หรือขาดสารอาหารบางอย่างได้ ทำให้เซลล์ที่สร้างเล็บสร้างได้ไม่สมบูรณ์
• และถ้าเล็บค่อนข้างขาวซีด อ่อนแบน หรือบุ๋มๆ อาจเป็นโรคเกี่ยวกับโลหิตจางหรือขาดธาตุเหล็กได้
โดยจะจำแนกโรคและลักษณะของเล็บมาให้ดูกันอย่างง่ายๆ ดังนี้
• โรคตับหรือโรคไต เล็บจะมีลักษณะสีขาว จะพบลักษณะของเล็บมีสีแตกต่างกัน ส่วนที่อยู่ตรงโพรงจมูกเล็บจะมีสีขาว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งหรือส่วนปลายเล็บจะเป็นสีปกติ
• โรคปอดหรือโรคหัวใจ สีเล็บมีความผิดปกติด้วย โดยเล็บจะมีสีที่คล้ำลง นอกจากนี้เล็บจะงุ้มมากผิดปกติ และเล็บจะมีสีซีดหรือเขียว
• โรคเบาหวานหรือโรคภูมิแพ้ เล็บจะเกิดการเปลี่ยนสี จากสีเล็บปกติ สีเล็บก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไป
• โรคข้ออักเสบ เล็บจะมีลักษณะเป็นหลุม หรือเป็นบ่อ
• โรคสะเก็ดเงิน เล็บจะมีลักษณะขรุขระและหยาบ
• โรคมะเร็งผิวหนัง อาจจะทำให้เล็บเปลี่ยนสี มีจุดสีดำ หรือแถบสีดำเกิดขึ้นบริเวณเล็บได้
• โรคขาดสารอาหาร จะเกิดเป็นจุดขาวๆ ในเล็บ หรือดอกเล็บ แต่ในประเทศไทยไม่ค่อยพบเรื่องโรคขาดสารอาหาร ที่เห็นเป็นดอกเล็บจะเป็นเพราะตัวนิวเคลียสเซลล์ที่ไม่สลายไปเท่านั้น
เมื่อทราบแล้วว่าเล็บลักษณะแบบไหนสามารถบอกโรคอะไรได้บ้าง แต่โรคเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะต้องรักษาตามอาการ แต่สำหรับบางคนที่เป็นโรคที่เกิดจากเล็บโดยตรง โดยบางครั้งไม่ได้สนใจก็อาจจะทำให้มีโอกาสถึงขั้นเล็บหลุดได้ โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่สามารถทำให้เล็บหลุดได้จะเป็นลักษณะของการติดเชื้อ โดยเล็บจะเปลี่ยนรูปจากปกติก็จะกลายเป็น ค่อนข้างหน้า ขรุขระ อาจจะมีสีเปลี่ยนนิดหน่อย ถ้าหากไม่รีบมาพบแพทย์ เล็บก็อาจจะหลุดได้ และถ้าหากจมูกเล็บอักเสบด้วย ก็จะยิ่งทำให้ติดเชื้อได้ง่าย โดยจมูกเล็บอักเสบมักจะเกิดในคนที่ทำงานบ้านหรือคนที่โดนน้ำ และถ้าหากคนที่ชอบทำเล็บตามร้านก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากการทำความสะอาดเล็บของทางร้านมักจะมีการเซาะเล็บให้เกิดเป็นร่อง เมื่อเล็บเป็นร่องเชื้อโรคก็อาจจะเข้ามาได้ง่าย อาจติดเชื้อและถ้าหากไม่รีบพบแพทย์เล็บก็อาจจะหลุดได้
การรักษา
ในส่วนของการรักษา ถ้าเป็นโรคที่เกี่ยวกับเล็บ เล็บที่เป็นเชื้อราก็จะต้องได้รับการให้ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อราไม่ว่าจะเป็นยากินหรือยาทา รวมทั้งในเรื่องของการรักษาความสะอาดด้วย โรคที่เป็นจมูกเล็บอักเสบ หรือว่าเชื้อรา ก็อาจจะต้องระวังเรื่องการโดนน้ำบ่อยๆ การเปียกน้ำ ในเรื่องของงานบ้านควรจะงดไปก่อน หรือถ้าหากจำเป็นที่จะต้องทำจริงๆ ก็อาจจะต้องใส่ถุงมือทุกครั้ง ในเรื่องของเล็บล่อนในการขาดวิตามินบางคน อาจจะต้องมีการได้รับวิตามินที่เกี่ยวกับการบำรุงเล็บบ้าง ก็อาจจะช่วยให้เล็บดีขึ้นบ้าง ส่วนโรคต่างๆ ก็ต้องรักษาตามอาการในกลุ่มที่เป็นมากๆ จนเกิดอาการเล็บหลุด ในปัจจุบันมีวิธีการปลูกเล็บเหมือนกัน เราเรียก Nail transplantation โดยจะนำตัวเซลล์ที่เล็บไม่ได้รับการกระทบกระเทือนมาก ก็คือไม่ได้เกิดอุบัติเหตุบริเวณนั้นโดยตรง การนำเซลล์ส่วนนั้นมาสร้างเล็บ ก็จะสามารถสร้างเล็บออกมาได้เอง แต่ว่าก็ไม่ได้ทำทุกราย และยังไม่แพร่หลายกันมาก วิธีการคือ ตัดชิ้นส่วนของเล็บ ซึ่งจะเป็นชิ้นส่วนที่มีชีวิตที่สุดในโครงสร้างของเล็บที่เราเรียกว่า Nail Matrix จะเป็นเล็บต้นกำเนิดประกอบด้วยเซลล์ที่เป็นตัวสร้างเล็บขึ้นมา และเล็บจะค่อยๆ ยาวงอกขึ้นไป และจะมีการตัดชิ้นของบริเวณนั้น ไม่ว่าจะเป็นนิ้วที่มีปัญหาหรือว่าส่วนอื่นๆ มาปลูกถ่ายบริเวณนั้น ในบางกรณีถ้าโครงสร้างอื่นยังอยู่ เช่นพวกฐานเล็บ หรือตัวเล็บเอง ก็จะมีการประกอบกันให้เข้าไปเป็นรูปเล็บปกติ ในขั้นตอนการทำก็จะเหมือนการผ่าตัดเล็บทั่วๆ ไป ก็คือ ทำความสะอาดแผลผ่าตัด มีการฉีดยาชา และก็เริ่มผ่าตัด ไปจนถึงการเย็บแผลและดูแลแผลผ่าตัดหลังจากทำโดยการเย็บแผล บางคนอาจจะต้องมีการกรีด เวลาเราฝังเราจะฝังตรงโคนเล็บ เพราะฉะนั้นบางคนจะต้องเปิดเนื้อกรีด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจและเทคนิคของแพทย์ด้วยว่าจะเย็บหรือไม่ เพราะในบางรายก็อาจจะไม่เย็บ และปิดพันแผลเอาไว้เท่านั้น ซึ่งจะเริ่มเห็นผลประมาณ 2 สัปดาห์ไปจนถึง 2 เดือน ก็จะเห็นว่าเล็บเริ่มยาวขึ้น โดยจะค่อยๆ งอกออกจนกระทั้งเหมือนเล็บปกติ ถ้าตัว Nail matrix ที่เรานำมาปลูกฝังมีความแข็งแรงดี ไม่ได้ผ่านการกระทบกระเทือนมามาก ก็จะสามารถสร้างเล็บที่แข็งแรง และหน้าตาปกติกลับมาได้ แข็งแรงเหมือนเดิม โดยจะมีระยะเวลาการงอกของเล็บ ซึ่งปกติคนเราเล็บก็จะงอกประมาณ 0.1-0.2 มม. ใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 3 เดือน ที่เล็บจะงอกออกมาอย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้ในการรักษาเล็บส่วนใหญ่แล้ว จะใช้วิธีการรักษาด้วยการทายา แต่ในปัจจุบันการรักษาเล็บที่เป็นส่วนเกินจะมีเรื่องของการใช้เลเซอร์เข้ามาทำลายเซลล์ในบริเวณนั้นได้เช่นกัน
เลเซอร์กับการรักษาเล็บ
การใช้เลเซอร์เพื่อการรักษานั้นตัวเลเซอร์จะเข้าไปจี้หรือการทำลายเซลล์ที่สร้างเล็บส่วนเกินออกมา เลเซอร์ตัวนี้จะมีชื่อเรียกว่า Matrixectomy เป็นการจี้เข้าไปทำลายเซลล์ที่เป็นปัญหา เนื่องจากเซลล์สร้างเล็บจะอยู่ตรงโคนเล็บแต่สำหรับคนที่เป็นเล็บขบ เล็บจะมีการสร้างขึ้นมายาวออกมาข้างนอก และเกิดการทิ่มเนื้อที่เป็นขอบเล็บด้านข้างทำให้เกิดการอักเสบ หากการรักษาตามปกติ โดยการเอาเล็บออกเฉพาะบางส่วนหรือที่เรียกว่า การทำ Partial nail extraction แล้วยังเกิดมีอาการเล็บขบและอักเสบอยู่บ่อยครั้ง อาจพิจาณาการรักษา โดยใช้เลเซอร์ร่วม โดยเลเซอร์ตัวนี้จะเข้าไปทำลายเซลล์ที่สร้างเล็บส่วนข้างๆ ที่งอกออกมา โดยเลเซอร์ตัวนี้จะทำลายเฉพาะบางส่วนเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้การสร้างเล็บบริเวณข้างๆ ไม่ให้ทิ่มลงไปในเนื้อ จนเกิดการอักเสบได้อีก ซึ่งเลเซอร์ชนิดนี้จะเป็นชนิดที่เรียกว่า Co2 จะคล้ายๆ กับการจี้ไฝ จี้หูด นั่นเอง สำหรับขั้นตอนการรักษานั้น แพทย์จะทำการให้ยาชา เมื่อยาชาออกฤทธิ์แพทย์จะยิงเลเซอร์ลงบริเวณขอบเล็บ โดยแพทย์จะระมัดระวังไม่ให้สัมผัสถูกผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใกล้เคียงที่ไม่เกี่ยวข้อง เพราะจะทำให้เกิดรอยคล้ำไหม้ได้ การรักษาจะใช้ระยะเวลา 2-10 นาที ขึ้นอยู่กับขนาดของเซลล์เล็บ หลังจากยิงเลเซอร์แล้วแพทย์จะให้ยาป้องกันการติดเชื้อ และปิดแผลไม่ให้ถูกน้ำ 1 วัน โดยภายใน 7 วัน ควรหลีกเลี่ยงเหงื่อ แดด ฝุ่น ควัน อาการร้อน ไม่ควรให้แผลถูกแสง ขณะเดียวกันรอยแผลจะค่อยๆ แห้งตกสะเก็ด ซึ่งส่วนใหญ่สามารถหายเป็นปกติได้ใน 1-2 สัปดาห์ โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยๆ อาจมีรอยดำ รอยแผลเป็น หากดูแลแผลไม่ดีตามคำแนะนำ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
รู้หรือไม่
สำหรับคนที่ชอบทำเล็บสวย ด้วยการต่อเล็บ หรือเพ้นท์เล็บ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เล็บไม่แข็งแรง และถ้าหากเป็นการเพ้นท์เล็บ จะทำให้ผิวสีของเล็บเปลี่ยนไป ผิวของเล็บจะไม่เรียบ อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ และถ้าขบวนการทำเล็บไม่สะอาดก็จะทำให้เกิดอาการติดเชื้อได้ โดยลักษณะแพ้สิ่งเหล่านี้ จะทำให้เกิดอาการคันเป็นผื่นแดงได้ โดยการรักษานั้นจะต้องหยุดทำแล้วรีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการติดเชื้อต่อไป
“ในการบำรุงเล็บให้ดูสุขภาพดี นอกจากจะทาครีม และดูแลตัวเองตามโรคที่เป็นอยู่แล้ว ควรที่จะรับประทานอาหารให้ถูกต้องและมีประโยชน์ หรือควรทานอาหารเสริมเรื่องวิตามินเพิ่มเข้าไปด้วย เนื่องจากในคนบางกลุ่มขาดการเสริมสร้างจากวิตามิน จึงทำให้เกิดโรคขึ้นได้ โดยวิตามินบางอย่างจะช่วยในเรื่องของการสร้างเล็บที่ดี เช่น วิตามินเอ วิตามินบี หรือเป็นวิตามินพวกกลุ่มสังกะสี ก็จะช่วยบำรุงได้ ในส่วนของอาหารควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ที่บำรุงการสร้างเล็บ ก็จะเป็นพวก ไข่ หอยนางรม นม เต้าหู้ โยเกิร์ต ถั่วแดง หน่อไม้ฝรั่ง อาหารทะเล ผักขม เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เพิ่มการหมุนเวียนของร่างกาย มีเลือดไปเลี้ยงที่ปลายนิ้วดีขึ้น การสร้างเล็บดีขึ้น และที่สำคัญควรดื่มน้ำให้มากๆ เพราะส่วนประกอบของเล็บจะมีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่ประมาณ 16% ฉะนั้น บางคนที่ดื่มน้ำน้อย อาจทำให้เล็บบาง และค่อนข้างเปราะง่ายค่ะ”
พญ.ปิยอร หัสดินทร
ประจำกองแพทย์หลวง สำนักพระราชวัง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)