© 2017 Copyright - Haijai.com
โครงสร้างของรก ส่งผลต่อระยะเวลาของการตั้งครรภ์
ทำไมคนถึงต้องอุ้มท้องเก้าเดือน คิดว่าหลายคนคงเคยสงสัยในเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมาแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ก็ได้มีความพยายามที่จะศึกษามาโดยตลอด เร็วๆ นี้ได้มีงานวิจัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการของการเจริญพันธุ์ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่แสดงให้เห็นว่าการตั้งครรภ์เก้าเดือนในมนุษย์มีอิทธิพลจากโครงสร้างของรก
การศึกษาโดยมหาวิทยาลัย Durham ได้แสดงให้เห็นว่าในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด ตัวอ่อนมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วเป็นสองเท่าในมดลูกของแม่ เมื่อเทียบกับสัตว์อื่นๆ ความแตกต่างในอัตราการเจริญเติบโตที่ปรากฏนั้นเกิดจากโครงสร้างของรกและวิธีการที่เชื่อมต่อของรกระหว่างแม่และตัวอ่อน
การวิจัยพบว่ายิ่งการเชื่อมต่อที่ใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างเนื้อเยื่อของแม่และตัวอ่อนในครรภ์ อัตราการเจริญเติบโตของตัวอ่อนก็จะรวดเร็วยิ่งขึ้น และการตั้งครรภ์ก็จะยิ่งสั้นลง ผลการวิจัยช่วยอธิบายว่า ทำไม มนุษย์ที่มีลักษณะของรกไม่เป็นรูปแบบโครงสร้างที่ซับซ้อนเหมือนไยแมงมุม เหมือนกับที่เห็นในสัตว์บางชนิด เช่น สุนัขและเสือดาว จึงมีการตั้งครรภ์ค่อนข้างยาว
โครงสร้างของรกนั้นยิ่งน่าแปลกใจ ที่มีความแตกต่างกันในหมู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแต่ละชนิด แม้ว่าจะมีหน้าที่พื้นฐานเช่นเดียวกันก็ตาม นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า แม้จะเป็นการคาดคะเน แต่เหตุผลสำหรับรูปแบบที่แปรผันนี้เป็นความลับมานานกว่า 100 ปีจนถึงขณะนี้
นักวิจัยซึ่งผลการวิจัยของเขาได้มีการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ Academic journal American Naturalist ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 109 ชนิด และแสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่าโครงสร้างของรกมีผลต่อระยะเวลาการตั้งครรภ์ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าในการเลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด รกของพวกมันมีโครงสร้างที่ &;#39;ม้วนพับ&;#39; ทั้งนี้เพื่อการสร้างพื้นที่ขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราที่สารอาหารจะถูกส่งผ่านจากแม่สู่ลูกได้มากขึ้น
การจัดเรียงของรกโดยการม้วนพับนี้เป็นวิธีการทั่วไปในวิวัฒนาการที่มีการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ผิวที่เพิ่มขึ้นในร่างกายสัตว์ ซึ่งจะพบได้ในเนื้อเยื่อหลายชนิด ที่มีพื้นที่ผิวขนาดใหญ่ที่จะต้องมีการบรรจุลงในพื้นที่ขนาดเล็ก เช่นปอด ลำไส้ และสมอง
เพศหญิงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดจะมีการที่พัฒนารกขึ้นมาเมื่อตั้งครรภ์ ซึ่งรวมทั้งค้างคาว วาฬ และช้าง รกเชื่อมต่อกับตัวอ่อนซึ่งกำลังเติบโตขึ้นในครรภ์ ไปยังเยื่อบุของมดลูกแม่ เพื่อให้การดูดซึมสารอาหารการกำจัดของเสีย และการแลกเปลี่ยนก๊าซผ่านทางเลือดของแม่ได้
ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาความยาวของการตั้งครรภ์ โครงสร้างของรก และขนาดของลูกหลาน ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และตรวจสอบว่าลักษณะเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างการวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือไม่ นักวิจัยพบว่า แม้รกจะมีหน้าที่สำคัญเช่นเดียวกันในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด แต่มีความแตกต่างกันอย่างโดดเด่นของโครงสร้างในสัตว์บางชนิด
ในคน รกมีลักษณะแผ่ออกเหมือนนิ้ว ซึ่งค่อนข้างจำกัดการเชื่อมต่อระหว่างเนื้อเยื่อของมารดาและของตัวอ่อน ในขณะที่รกของเสือดาวนั้น มีรูปแบบไยแมงมุมที่ซับซ้อนที่สร้างพื้นที่ผิวขนาดใหญ่สำหรับการแลกเปลี่ยน ของสารอาหาร ระยะเวลาการตั้งครรภ์ของเสือดาวซึ่งตั้งครรภ์ประมาณ 90-100 วัน จึงสั้นกว่าระยะเวลาการตั้งครรภ์ของมนุษย์ เพราะตัวอ่อนของเสือดาวมีการเจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่า จากสารอาหารที่รกสามารถส่งผ่านให้ได้มากกว่า รวดเร็วกว่านั่นเอง
นพ.ม.ร.ว.ทองทิศ ทองใหญ่
(Some images used under license from Shutterstock.com.)