© 2017 Copyright - Haijai.com
ลูกคนเดียว
T.Berry Brazelton, M.D. หรือ ดร.แบรี่ บราเซลตัน ผู้เขียนหนังสือขายดีที่รู้จักกันดีเรื่อง Touchpoints (ทัชพอยต์) เป็นผู้ก่อตั้งแผนกพัฒนาการเด็กในโรงพยาบาลบอสตัน และเป็นศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ ที่แผนกการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้กล่าวไว้ว่า
พ่อแม่จำนวนมากในปัจจุบันตระหนักว่า การมีลูกเกินกว่าหนึ่งคนอาจเกินความสามารถที่จะเลี้ยงดูได้ ในขณะที่บางคนอาจเป็นเพราะมีลูกคนแรกช้า จึงทำให้ไม่สามารถมีลูกคนที่สองได้ เมื่อพ่อแม่ต้องทำงานกันทั้งคู่ หรือพ่อหรือแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว การนำลูกไปฝากเลี้ยงหรือเข้าโรงเรียนก็ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายซึ่งอาจไปจำกัดจำนวนของการมีลูกได้ด้วยเช่นกัน และในทุกวันนี้พ่อแม่จำนวนมากคิดว่าการมีลูกคนเดียวเป็นทางเลือกที่ถูกต้องแล้ว ในโลกที่มีประชากรมากเกินควบคุมอยู่ในขณะนี้
ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็อาจเป็นห่วงลูก เพราะรู้ตัวว่ากำลังทุ่มเททุกอย่างด้วยความเสี่ยง ถึงแม้การเสียสละอุทิศเวลาให้กับลูกคนเดียวอาจเป็นประโยชน์สำหรับเด็กเอง แต่ก็ยากที่จะไม่ไปปกป้อง ตามใจลูกเกินไป หรือเร่งให้ลูกโตเร็วเกินไป เด็กที่เป็นลูกคนเดียวอาจตอบสนองความคาดหวังที่สูงของพ่อแม่ โดยการทำล้ำหน้าหรือเก่งกว่าเพื่อนๆ แต่การไม่มีพี่น้องคอยช่วยลดทอนแรงกดดันนี้ เด็กก็อาจมีชัยชนะและอำนาจท่วมท้นหรืออาจดื้อไปเลย พ่อแม่ที่มีลูกคนเดียวต้องพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการชมเชย หรือการปกป้องลูกมากเกินไปอย่างมีสติ พวกเขาอาจหาโอกาสช่วยให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องการเชื่อมั่นหรือไว้วางใจตนเอง การใช้วินัยเป็นเรื่องที่จำเป็น และจะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นใจมากกว่าด้วยครับ
ลูกคนเดียวอาจเคยขออยากให้มีน้องมาเล่นด้วย ลูกอาจฝันที่จะมีน้องตัวเล็กๆ ไว้โอ๋ พ่อแม่ควรหาวิธีแสดงให้ลูกเห็นวิธีการแบ่งปันของเล่นกับพ่อแม่และเด็กคนอื่นๆ อีกทั้งเรียนรู้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่ขยายใหญ่ออกไปในโลกนี้ การนัดเล่นกับเพื่อน การไปเยี่ยมญาติๆ หรือการเข้าเรียนเตรียมอนุบาลก็ล้วนช่วยให้ลูกคนเดียวรู้จักการแบ่งปันของเล่นและการมีเพื่อนด้วยกันทั้งสิ้น ความโดดเดี่ยวอาจกลายเป็นพลังขับที่สำคัญที่ทำให้ลูกเรียนรู้ทักษะใหม่ในการเข้าสังคม พ่อแม่สามารถเป็นตัวอย่างในด้านความมีน้ำใจ และทำให้ลูกเห็นสิ่งที่ลูกได้รับกลับมาจากการให้
การดูแลเอาใจใส่ลูกคนเดียว
1.มองหาและให้ความสำคัญกับเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก และบุคลิกลักษณะเฉพาะของลูก
2.อย่าพยายามเปลี่ยน หรือผลักดันให้ลูกสมบูรณ์แบบ หลีกเลี่ยงการชมเชยมากเกินไป ให้ลูกได้เรียนรู้การเห็นคุณค่าในตนเอง
3.ระวังไม่ปกป้องลูกมากจนเกินไป
4.ค่อยๆ ให้ลูกได้ทดลองพบปะผู้คนแปลกๆ ใหม่ๆ กิจกรรมใหม่ๆ ที่ยากขึ้นตามความสามารถของลูก
5.พูดคุย ขอคำแนะนำจากพ่อแม่คนอื่นๆ บ้าง ซึ่งอาจทำให้คุณเห็นความคาดหวังของตนเองจากอีกมุมหนึ่ง
6.สร้างความสัมพันธ์ให้ลูกของคุณโดยการนัดเพื่อนเล่นเป็นประจำ เริ่มสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้นเรียนตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าเรียนด้วยกัน ช่วยหากิจกรรมให้ลูกกับเพื่อนทำ การมีเพื่อนสนิทเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กที่เป็นลูกคนเดียว
7.เมื่อใดก็ตามที่เป็นไปได้ ควรให้ลูกได้รู้จักญาติๆ ลูกพี่ลูกน้อง หรือลูกของเพื่อนสนิทของคุณ เพื่อให้ลูกเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวหรือชุมชน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)