Haijai.com


ปราบรอยดำ ปาน กระ สิว ฝ้า ให้หน้าใส


 
เปิดอ่าน 39042

ปราบรอยดำ ปาน กระ สิว ฝ้า ให้หน้าใส Dark Spot Brightening

 

 

ใครๆ ก็อยากมีผิวขาวสว่าง กระจ่างใส ยิ่งเดี๋ยวนี้มองไปทางไหนก็มีแต่คนดูแลผิวพรรณเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเหล่าสาวๆ พริตตี้ที่ปลุกกระแสผิวขาวเนียนให้หลายคนมีแรงฮึดขึ้นมาดูแลตัวเองแบบพวกเธอบ้าง ถ้าอย่างนั้นเราจะมัวแต่ปล่อยให้มีผิวพรรณหม่นหมองไม่สดใสกันอยู่ทำไม ลุกขึ้นมาดูแลตัวเองให้สวยใสเพิ่มความสุขใส่ตัวเองกันดีกว่า เรื่องราวของการดูแลรักษารอยดำบนผิวหนังสารพัดชนิด ทั้งรอยดำบนใบหน้าและบนลำตัว เช่น รอยดำจากสิว กระ ฝ้า ปานดำ ปานแดง ปานมีขนหรือไฝ รวมถึงรอยสักด้วย

 

 

เพราะรอยด่างดำต่างๆ ทั้งบนใบหน้าและลำตัวนั้น สร้างความไม่มั่นใจให้กับหลายคน ไม่ว่าจะเป็นรอยดำเล็กๆ น้อยๆ อย่างรอยดำจากสิว กระ ฝ้า ที่ปรากฏอยู่บนใบหน้า หรือรอยดำจากปานชนิดต่างๆ บางคนมีขนาดใหญ่และมองเห็นได้ชัดจนทำให้กลายเป็นปกด้อย หรือบางคนก็เกิดจากความผิดพลาดของความสวยอย่างการสักคิ้ว 3 มิติ หรือรอยสักอื่นๆ บนร่างกาย ดังนั้น โดยทั่วไปแล้วการรักษารอยดำจึงเป็นการแก้ปัญหาเรื่องความสวยงามเป็นหลัก โดยไม่ทำให้เกิดความผิดปกติในร่างกายแต่อย่างใด เมื่อสีผิวมีความเรียบเนียนสม่ำเสมอกันแล้ว ก็จะทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น

 

 

ชนิดของรอยดำบนใบหน้าและลำตัว

 

รอยดำบนใบหน้ามีหลากหลายชนิด และมีสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกันออกไป แต่สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ประเภทแรก คือ รอยดำที่อยู่ตื้น (Epidermal Lesion) รอยดำชนิดนี้เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีที่เรียกว่าเมนาโลไซต์ (Melanocyte) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นหรือมีการสร้างเม็ดสีเพิ่มมากขึ้น รอยดำชนิดตื้นนี้ เช่น กระ ฝ้า กระแดด ขี้แมลงวัน ปานชนิด CafeAulait Macules เป็นต้น ประเภทที่สอง คือรอยดำที่อยู่ลึก (Dermal Lesion) รอยดำชนิดลึกนี้ เช่น กระลึก (Hori’s Melanosis) ปานดำชนิดโอตะ ไฝหรือปานมีขน เป็นต้น ซึ่งการแบ่งชนิดของรอยดำนี้ทำให้ง่ายต่อการพิจารณาถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสม รอยดำต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งบนใบหน้าและลำตัว ได้แก่

 

 กระ เกิดจากชาติพันธุ์และเป็นมาแต่กำเนิด (Racial) เช่น คนผิวขาวชาวคอร์เคเชียนจะมีกระมากกว่าคนเอเชีย เนื่องจากเม็ดสีมีจำนวนน้อย จึงสามารถค่อยๆ รักษาด้วยการทาครีมลดเม็ดสีและครีมกันแดด ถ้าไม่ดีขึ้นก็อาจใช้การยิงเลเซอร์ให้ค่อยๆ ลอกหลุดออกไปได้ แต่ก็กลับขึ้นมาใหม่ได้อีก

 

 

 ฝ้า มีสาเหตุจากฮอร์โมน เกิดในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์หรือเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น อายุ 18-20 ปีขึ้นไป เนื่องจากเริ่มมีฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดฝ้า ส่วนคนที่รับประทานยาคุมกำเนิดก็ทำให้เกิดฝ้าได้เช่นกัน การรักษาฝ้าสามารถใช้การทายา ลอกฝ้า และหรือใช้เลเซอร์ร่วมกัน

 

 

 ปาน คือ ลักษณะความผิดปกติทางผิวหนัง ซึ่งอาจเป็นมาแต่กำเนิดและอาจเกิดในภายหลังโดยไม่ทราบสาเหตุ และกระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ปานส่วนใหญ่มักจะไม่อันตราย บางชนิดสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษา เช่นปาน Mongolian Spot แต่งบางชนิดอาจอยู่ตลอดชีวิตดังนั้น พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงและความผิดปกติ หากไม่แน่ใจควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและติดตามการรักษาต่อไป โดยปานแต่กำเนิดที่พบบ่อย มีดังนี้

 

 

(1) ปานดำแต่กำเนิด (Congenital Melanocytic Nevus) หรือปานมีขน หรือไฝ ปานชนิดนี้พบได้ตั้งแต่แรกเกิดหรือทารกอายุ 2-3 เดือน อาจพบเป็นสีเกือบแดง สีน้ำตาลเข้ม หรือสีดำ ผิวอาจเรียบ นูน หรือขรุขระเล็กน้อย และอาจพบว่ามีขนงอกขึ้นมาบริเวณปาน เมื่อโตขึ้นรอยของปานจะขยายขนาดใหญ่ขึ้น และผิวของปานอาจขรุขระมากขึ้น เมื่ออายุ 50-60 ปี ปานชนิดนี้มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ ดังนั้น หากพบว่ามีปานชนิดนี้ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งการรักษาสามารถยิงด้วยเลเซอร์เพื่อลอกปานออก ผลการรักษาขึ้นอยู่กับความลึกของปานใน บ้างครั้งเมื่อลอกปานออกแล้วจะยังมีขนหลงเหลืออยู่ เนื่องจากขนอยู่ลึกกว่าเม็ดสีของปาน

 

 

(2) ปานมองโกเลียน (Mongolian Spot) เป็นปานแต่กำเนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มีลักษณะเป็นรอยปื้นขนาดใหญ่ สีเขียว น้ำเงิน เทา หรือดำ บริเวณที่พบได้บ่อยคือ ก้น สะโพก และหลัง แต่อาจพบที่บริเวณอื่นของร่างกายได้ เช่น แขน ขา ไหล หนังศีรษะ เป็นต้น ปานชนิดนี้ไม่มีอันตรายและมักจะค่อยๆ จางหายไปในขวบปีแรก

 

 

(3) ปานโอตะ (Nevus of Ota) อาจพบได้ในเด็กแรกเกิดหรือในบางรายเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว มีลักษณะคล้ายปานมองโกเลียน คือ เป็นรอยปื้นสีเทาหรือน้ำเงิน แต่มักพบบริเวณขมับ โหนกแก้ม ปานชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายใดๆ และจะจางหายไปเมื่อโตขึ้น สามารถรักษาได้ด้วยการยิงเลเซอร์

 

 

(4) ปานสีกาแฟใส่นม (Café au lait) มีลักษณะเป็นรอยปื้นสีน้ำตาลอ่อน ผิวราบ โดยรอยปานจะขยายขนาดใหญ่ขึ้นตามการเจริญเติบโตของเด็ก และจะอยู่ไปตลอดชีวิต พบได้บริเวณต่างๆ ของร่างกายรักษาได้ด้วยการยิงเลเซอร์เช่นกัน

 

 

(5) ปานแดง คือ การรวมกลุ่มของเส้นเลือดบนใบหน้า เกิดจากการขยายตัวของเส้นเลือดที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถพบได้แต่กำเนิดแบ่งออกได้ตามลักษณะดังนี้

 

 

5.1.ปานแดงสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Nevus) เป็นปานแดงในเด็กที่มีมาแต่กำเนิด มีลักษณะเป็นตุ่มหรือก้อนนูนสีแดงเข้ม มักพบบริเวณใบหน้าและลำคอ โดยทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะสามารถหายได้เองภายในอายุ 7 ขวบ และเหลือเป็นเพียงรอยแผลจางๆ แต่ถ้าไม่หายไป แพทย์จะพิจารณาให้การรักษา

 

 

5.2.ปานแดงชนิดพอร์ท ไวน์ สเตนส์ (Port wine stains) เป็นปานแดงที่มักปรากฏอาการตั้งแต่แรกเกิดและจะคงอยู่ตลอดชีวิต มีลักษณะเป็นรอยปื้นสีแดง พบได้ทั่วไปบนร่างกายแต่มักอยู่ซีกใดซีกหนึ่ง และมักพบบ่อยบริเวณใบหน้า รอบดวงตา เมื่ออายุมากขึ้นรอยปานจะขยายขนาดใหญ่ขึ้น มีสีเข้มขึ้น รวมทั้งอาจนูน หนา และขรุขระมากขึ้น ปานชนิดนี้พ่อแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากยิ่งโตขึ้นการรักษาจะยากยิ่งขึ้น และอาจมีโอกาสพบร่วมกับความผิดของดวงตาและสมองได้

 

 

การรักษารอยสีแบบต่างๆ

 

ปานดำชนิดตื้น สามารถใช้เลเซอร์ยิง 1-2 ครั้ง ก็จะทำให้ปานดำนั้นหลุดลอกไปได้ แต่ก็จะกลับมาเป็นอีก ดังนั้น คนไข้อาจรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ปีละ 1-2 ครั้งตลอดไป ส่วนกรณีของปานดำอย่างลึกอาจต้องยิงประมาณ 5-7 ครั้ง แต่เมื่อหายแล้วมักหายไปเป็นระยะเวลานานและมักจะไม่ค่อยกลับมาเป็นอีก ส่วนการรักษาปานแดงจะเป็นการใช้เลเซอร์ที่เรียกว่า Pulsed Dye Laser เนื่องจากเส้นเลือดที่ขยายตัวจะมีปริมาณของเม็ดเลือดสีแดงเป็นจำนวนมาก และจะรับพลังงานของ Pulsed Dye Laser ซึ่งเป็นพลังงานแสงสีส้มแดงเช่นกัน เมื่อรับพลังงานเลเซอร์ไปแล้ว รอยแดงก็จะเกิดความร้อนและไหม้ ทำลายตัวเอง โดยที่เนื้อเยื่อโดยรอบที่เป็นสีปกติไม่ได้รับผลข้างเคียง เมื่อเส้นเลือดไหม้ก็จะค่อยๆ ฝ่อ และปานแดงก็จะค่อยๆ แห้งไป

 

 

การรักษาปานแดงนั้นทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ขนาด ความลึก และสีผิวของคนไข้ ปานแดงที่อยู่บนใบหน้าจะรักษาได้ผลดีกว่าอยู่บนลำตัว ปานแดงที่อยู่ตื้นสามารถรักษาได้ง่ายกว่าปานแดงที่อยู่ลึก และคนที่มีผิวดำคล้ำและมีปานแดงรักษาได้ยากกว่าคนผิวขาว แต่เมื่อรักษาหายแล้วจะหายไปค่อนข้างนานและไม่ค่อยกลับมาเป็นอีก ปานแดงที่อยู่บนใบหน้ายิงเลเซอร์ 3-5 ครั้ง ก็จะจางหายไปได้ ส่วนลำตัวอาจต้องยิงเลเซอร์ 10 ครั้งขึ้นไป และอาจใช้ระยะเวลาในการรักษา 1-2 ปี ดังนั้น โดยทั่วไปแล้วการรักษาปานแดงควรเน้นรักษาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

 

 

 รอยสัก รอยสักเป็นอีกหนึ่งรอยดำที่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วบางคนอาจไม่พอใจกับรอยสักเดิมและต้องการลบออก และในปัจจุบันการสักคิ้ว 3 มิติ กำลังมาแรง สาวๆ หลายคนมองเห็นข้อดี คือ ตื่นขึ้นมาก็ไม่ต้องทำอะไรมาก มีรูปทรงคิ้วอยู่แล้ว เพียงแค่ปัดนิดปัดหน่อยก็ได้คิ้วอันสวยงามยามต้องออกจากบ้าน ประหยัดเวลาสำหรับขั้นตอนการแต่งหน้าในส่วนอื่นๆ ไปได้อีกเยอะ แต่บางคนอาจเรียกได้ว่าพลาดสุดๆ เพราะได้รับการสักที่ไม่ดีจากผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทำให้คิ้วที่สักออกมาแล้วดูแปลกๆ นอกจากไม่ได้ดูเหมือนเป็น 3 มิติแล้ว ยังทำให้หน้าตาประหลาดมากขึ้นอีกด้วย

 

 

การลบรอยสักสามารถทำการรักษา โดยใช้เลเซอร์ชนิดทับทิม (Ruby Laser) ซึ่งได้ผลดี เพราะเลเซอร์ชนิดนี้สามารถส่งพลังงานลงไปใต้ผิวหนังได้ลึก และโดนเม็ดสีของรอยสัก ทำให้เม็ดสีของรอยสักแตกออกและค่อยๆ ลอกหลุดออกไป การลบรอยสักคิ้วจะยิงด้วยเลเซฮร์ประมาณ 3- 5 ครั้ง ห่างกันทุกๆ 1 เดือน หลังจากยิงแล้วจะมีแผลตกสะเก็ดที่คิ้วทั้งสองข้าง หลังการรักษาเม็ดสีจะค่อยๆ จางลงภายในเวลา 4-6 เดือน ในบางรายพบว่าขนคิ้วจะหายไปประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี และขนคิ้วก็จะขึ้นกลับมาเหมือนเดิม แต่ในระหว่างนั้นแพทย์จะแนะนำให้คนไข้เขียนคิ้ว เพื่อปกปิดอำพรางสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน

 

 

แนวทางการรักษารอยดำ

 

การรักษารอยดำต่างๆ บนใบหน้าให้ได้ผลดีนั้น ขึ้นอยู่กับความลึกและสาเหตุของรอยดำ โดยวิธีการรักษาในปัจจุบัน ได้แก่

 

1.การทายาและทาครีม (Bleaching Cream) เป็นครีมที่ลดการทำงานของเม็ดสี ทำให้เม็ดสีทำงานน้อยลง จึงส่งผลให้รอยดำค่อยๆ จางลง

 

 

2.การใช้สารเคมีลอกหน้า (Chemical Peeling) สารเคมีที่ทำนำมาใช้ในการลอกหน้าเป็นสารเคมีทางการแพทย์ เรียกว่า Trichloroacetic acid ซึ่งเป็นกรดอ่อนๆ มีเปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ 20-100 เปอร์เซ็นต์ ใช้ในการลอกฝ้าอย่างอ่อนๆ เพื่อให้ฝ้าค่อยๆ จางหลุดออกไป โดยเปอร์เซ็นต์ที่เหมาะสมคือ 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากฝ้าเป็นเม็ดสีที่อยู่ตื้น ดังนั้น การลอกจึงได้ผลดีและมักไม่มีแผลเป็นเกิดขึ้น

 

 

3.การใช้เลเซอร์ (Laser Treatment) เป็นการใช้เลเซอร์ในกลุ่ม Q-Switch มารักษา ซึ่งใช้ได้ดีในการรักษาโรคของเม็ดสีดำ ได้แก่ รูบีเลเซอร์ (Ruby Laser) คิว-สวิทช์-เอ็น-ดี-แยค (Q-switched Nd:YAG) และอเล็กซานไดร์ท เลเซฮร์ (Alexandite Laser) โดยหลักการทำงานของเลเซอร์คือ เมื่อยิงเลเซอร์ลงไปบนรอยดำ พลังงานเลเซอร์จะถูกดูดซึม โดยเม็ดสีในผิวหนังที่เรียกว่าเมลาโนโซม (Melanosom) เมื่อเมลาโนโซมรับพลังงานเลเซอร์เข้าไป จะทำให้เกิดความร้อน แตกทำลายตัวเอง และตายไปในที่สุด โดยที่ไม่มีการทำลายเซลล์ที่เป็นปกติบริเวณรอบๆ รอยดำนั้น โดยก่อนการรักษาไม่ควรโดนแดดมาก

 

 

การดูแลหลังการรักษารอยดำด้วยเลเซอร์

 

หลังจากทำการักษารอยดำบริเวณที่ได้รับพลังงานเลเซอร์จะมีอาการบวมแดงเล็กน้อย แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อกลับไปทาน ซึ่งจะทำให้รอยดำนั้นๆ ค่อยๆ หลุดลอกออกไป และหลังทำการรักษาควรหลีกเลี่ยงแสดงแดดให้มากที่สุด การรักษาด้วยเลเซอร์ขึ้นอยู่กับชนิดของรอยดำนั้นๆ หากเป็นรอยดำชนิดตื้นใช้การรักษาประมาณ 1-3 ครั้ง รอยดำก็จะจางหายไปได้ แต่ถ้าเป็นรอยดำชนิดลึกอาจต้องทำการยิงเลเซอร์ประมาณ 5-7 ครั้ง ห่างกันทุกๆ 1 เดือนครึ่ง ถึง 2 เดือน ความสำเร็จในการรักษาปัจจัยหลักขึ้นอยู่กับสีผิวของคนไข้ หากคนไข้มีสีผิวที่อ่อน การรักษาก็จะได้ผลดีกว่าคนไข้ที่มีสีผิวที่เข้ม ซึ่งผลของการรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่งขนาด และความลึกของรอยดำนั้นๆ

 

 

ปัจจุบัน รอยดำจากสิว กระ ฝ้า ยังเป็นปัญหาบนใบหน้าที่พาผู้หญิงหลายคนมาพบแพทย์ เพื่อทำการรักษามากที่สุด เพราะเป็นปัญหาบนใบหน้าที่พบได้บ่อยและรักษาได้ง่าย เนื่องจากเป็นรอยดำที่อยู่ตื้น แต่ต้องเป็นการดูแลรักษาที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องเพราะ กระ ฝ้า ไม่สามารถรักษาให้หายขาด เมื่อถูกกระตุ้นจากแสงแดดก็กลับมาเป็นอีกได้ สำหรับการลบรอยสักก็ได้รับความนิยมในการรักษาเช่นกัน เนื่องจากรอยสักบนลำตัวแล้ว  ผู้หญิงยุคใหม่ยังนิยมสักคิ้ว 3 มิติถาวรกันมากขึ้น บางคนไม่พอใจก็สามารถลบรอยสักคิ้วได้ ส่วนการรักษารอยดำชนิดลึก เช่น กระลึก ปานดำโอตะอย่างลึก การรักษาทำได้ยาก แต่เมื่อหายแล้วพบว่า คนไข้บ้างรายแทบจะไม่กลับมาเป็นอีก และเมื่อรักษารอยดำต่างๆ ให้จางหายไปแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่รอยดำนั้นจะกลับมาเป็นอีก ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของรอยดำนั้นๆ ดังนั้น จึงต้องหมั่นดูแลและทำทรีตเม้นท์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คุณมีผิวที่ขาวสว่างกระจ่างใส ไม่ต้องอายที่จะโชว์ผิวอีกต่อไป

 

 

“การรักษารอยดำต่างๆ นั้น กรณีที่เป็นรอยดำบนใบหน้าและสามารถรักษาได้ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการดูแลรักษาแบบค่อยเป็นค่อยไป ถ้าเป็นปานชนิดลึกหรือปานดำ โอกาสรักษาให้หายก็มีบ้างครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้ารักษาไม่ได้หรือหายได้ไม่ค่อยดี เราก็ยังมีเครื่องสำอางปกปิดรอยดำ (Concealer) หรือรองพื้นก่อนแต่งหน้า ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถปกปิดรอยดำบนใบหน้าได้ อย่างน้อยก็ทำให้เรามีความั่นใจในการออกสังคมมากขึ้น ส่วนกรณีที่เป็นรอยดำบนลำตัว เราใส่เสื้อผ้าปกปิดอยู่แล้ว ก็จะมีปัญหาไม่ค่อยมาก ยกเว้นก็แต่จะทำให้เกิดการเสียฟังก์ชั่นในการทำงาน เช่น คนไข้ที่เป็นปานแดงขนาดใหญ่ที่แขน ทำให้หดแขนไม่ได้ เนื่องจากมีเนื้องอกทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ไม่ดี เป็นต้น กรณีนี้คงต้องพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ด้านแพทย์ก็คงต้องแก้ไขเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ฟังก์ชั่นการใช้งานกลับมาได้ ดังนั้น ปานที่ลำตัวจะไม่ค่อยเป็นปัญหามาก แต่ปัจจุบันก็มีคนไข้มารักษาเรื่องรอยดำที่ลำตัวมากขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้ผู้คนก็มักจะสวมใส่เสื้อผ้าที่โชว์เรือนร่างมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นเวลาไปเล่นน้ำทะเล ก็อาจจะสวมใส่ชดว่ายน้ำหรือบิกินี่ ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน เราสามารถลบเลือนรอยดำต่างๆ ให้จางหายไปได้ คนไข้สามารถปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการรักษาให้เหมาะสมกับรอยดำชนิดนั้นๆ ได้ครับ”

 

 

นพ.ไพศาล รัมณีย์ธร

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเลเซอร์ ผู้ช่วยคณบดี สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แพทย์ผู้ก่อตั้งปิ่นเกล้าคลินิก

(Some images used under license from Shutterstock.com.)