Haijai.com


เมื่อลูกแพ้นิเกิล


 
เปิดอ่าน 5483

เมื่อลูกแพ้นิเกิล

 

 

“เด็กๆ แพ้นิเกิลได้ไหม” ข้อสงสัยจากคุณแม่หลายท่าน เนื่องจากคุณลูกมีผื่นแดงเป็นขุย ใต้สะดือบริเวณเข็มขัด หลังจากใส่ชุดนักเรียนไปโรงเรียนได้ไม่กี่วัน อาการเหล่านี้เป็นอาการหนึ่งของโรคผิวหนังที่เราเรียกว่า ผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis) เกิดจากการที่ผิวบอบบางของคุณลูกสัมผัสกับหัวเข็มขัดอันมีส่วนผสมของนิเกิลโดยตรง ผื่นแพ้สัมผัส ที่ว่านี้ไม่ได้เกิดจากการสัมผัสนิเกิลเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเกิดจากการสัมผัสวัตถุอื่นๆที่คะรายเคืองผิวหนัง สำหรับสาเหตุของการเกิดโรค ทางการแพทย์สรุปไว้ว่าเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุหลักๆ คือ

 

 

1.Irritant contact dermatitis เป็นปฏิกิริยาที่ผิวหนังเกิดการอักเสบภายหลังการสัมผัสสารที่แพ้  ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กๆที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) และเด็กเล็กๆที่มีผื่นผ้าอ้อม (Diaper dermatitis)

 

 

2. Allergic contact dermatitis โดยมากพบในเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี  สาเหตุที่พบได้บ่อยคือแพ้นิเกิลในเครื่องประดับ ยางของรองเท้า เครื่องสำอางในเด็กวัยรุ่น สารฟอร์มาดีไฮด์ในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเสื้อผ้า  ส่วนที่พบได้ทุกอายุเช่น  แพ้พลาสเตอร์ปิดแผลในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่ผื่นจะมีลักษณะแดง คัน  พบเป็นตุ่มน้ำได้ ส่วนใหญ่จะพบบริเวณที่สัมผัสสาร

 

 

การทดสอบผื่นแพ้สัมผัส

 

“Patch Testing” การทดสอบอาการแพ้วิธีนี้  ทำโดยใช้สารมาตรฐานที่พบบ่อยว่าแพ้ (ส่วนใหญ่จะตรวจ 24 ชนิด) ปิดบริเวณผิวหนังที่ไม่มีผื่น เช่น บริเวณหลังด้านบน และจะอ่านผลทดสอบหลังแปะสาร 48 และ 96 ชั่วโมง  การแปลผลทำโดยแพทย์ผิวหนังซึ่งการแปลผล มีตั้งแต่ ไม่แพ้ สงสัย แพ้เล็กน้อย แพ้มาก บางรายอาจแพ้มากจนมีตุ่มน้ำบริเวณที่แปะสารได้  โดยมากวิธีทดสอบนี้จะไม่ทำในเด็กที่อายุน้อยกว่า 8 ปี เนื่องจากผลการอาจคลาดเคลื่อน   การทดสอบนี้อาจจะต้องระวังเป็นพิเศษในเด็กเล็กเนื่องจากพลาสเตอร์ปิดแผลขนาดใหญ่อาจเลื่อนหลุดได้  รวมทั้งควรระวังมิให้แผ่นทดสอบโดนน้ำหรือเหงื่อ  แนะนำให้เด็กๆอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศระหว่างรออ่านผลทดสอบ

 

 

การรักษา

 

สำหรับการรักษาผื่นที่เกิดขึ้น คุณหมอจะให้ทายากลุ่มสเตียรอยด์ ถ้าเป็นตุ่มน้ำจะให้ใช้น้ำเกลือประคบ ถ้าผื่นคันมาก จะให้รับประทานยากลุ่มแอนติฮีนตามีนร่วมด้วย และ ถ้าอาการผื่นยังไม่ดีขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของนิเกิลด้วย เช่น ปลาทูน่า ปลาแซลมอน กุ้ง หอย ชา กาแฟ นมรสชอคโกแล็ตและโกโก้ ถั่วทุกชนิดผักใบเขียว แครอทดิบ มะเขือเทศ ถั่วเหลืองและเต้าหู้ อาหารและผลไม้กระป๋อง

 

 

สำคัญที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงสารที่แพ้  เช่น เครื่องประดับ สร้อยคอ สายนาฬิกา ต่างหู กรอบแว่น  กระดุมโลหะ หัวเข็มขัด ซิป กิ๊ฟติดผม ของใช้บางอย่าง เช่น กรรไกร ด้ามร่มส่วนที่เป็นโลหะ ลูกบิดประตู (ถ้าจำเป็นสามารถใช้สตางค์ที่เป็นเหรียญได้นะคะ แต่ไม่ควรเก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกง) ส่วนการเคลือบวัสดุด้วย ยาทาเล็บ สารโพลียูรีเทนหรือใช้เทปปิด ก็สามารถช่วยบรรเทาได้ชั่วคราว เพราะเหงื่อสามารถจะละลายเอานิเกิลในโลหะออกมาได้

 

 

คราวนี้คุณแม่ก็เบาใจได้ว่าอาการผื่นแพ้ของลูกๆสามารถตรวจสอบและรักษาได้ ที่สำคัญหากอาการที่ผิวหนังของคุณลูกๆ ไม่บรรเทาลง ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังนะคะ

 

 

พญ.ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)