
© 2017 Copyright - Haijai.com
สมาธิสั้นในผู้ใหญ่
โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ มีจริงหรือ
ทุกวันนี้โรคสมาธิสั้นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสังคม เด็กคนไหนดูซนๆ ไม่สามารถนั่งอยู่นิ่งๆ ได้ ยุกยิกๆ ครูอนุบาลหรือครูประถมก็จะบอกผู้ปกครองว่าคล้ายเด็กสมาธิสั้นนะ พาไปตรวจกับจิตแพทย์เด็กหน่อยไหม อีกกลุ่มหนึ่งที่ครูมักจะทักผู้ปกครองให้พาไปรักษา ก็คือ กลุ่มเด็กไฮเปอร์ (Hyperactive) แรงดีไม่มีตก เล่นอะไรแรงๆ โครมคราม ดูเมามันและสะใจกับกิจกรรมที่ได้ทำอะไรแรงๆ มีอีกกลุ่มหนึ่งที่ก็จัดว่าเป็นโรคสมาธิสั้นเช่นกัน คือ กลุ่มใจลอย ขี้ลืม (Inattentive) ทำอะไรสักพักก็เผลอไปเหม่อ คิดอะไรไปเองในใจ มองอออกนอกหน้าต่างหรือประตู ดูเมฆดูนก ดูดอกไม้อะไรลอยๆ ไปตามเรื่อง เด็กกลุ่มนี้ คุณครูอาจจะไม่ได้เพ่งเล็งมาก เพราะมัวไปจับเด็กกลุ่มแสนซนกับเด็กกลุ่มโครมครามอยู่ (ผมรู้สึกเห็นใจคุณครูยุคนี้มาก ต้องดูเด็กในจำนวนต่อห้องที่เยอะกว่าแต่ก่อน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงและจัดการดูแลเด็กทุกคนอย่างละเอียด) และบางคนก็เป็นมันทั้งสองแบบ ขึ้นอยู่กับว่าเราเจอเขาในวัยใด เวลาใด
เมื่อพาเด็กสมาธิสั้นมาพบแพทย์ ก็ทำการบำบัดรักษากันไป หลายคนเข้าใจผิดว่าโรคนี้พอกินยาปุ๊บก็จบหายเลย และมีอีกหลายคนที่คิดว่าสมาธิสั้นต้องจับไปฝึกสมาธิตามชื่อโรค ซึ่งทั้งสองความคิดนี้ล้วนแต่ไม่ถูก เพราะสุดโต่งเกินไปทั้งสองข้าง คนธรรมดาไปนั่งสมาธิยังเกิดความฟุ้งซ่านเลย เอาเด็กสมาธิสั้นไปนั่งก็ไม่ได้นั่งหรอกครับ คงวิ่งจู๊ดไปเล่นตรงลานวัดเสียมากกว่า ส่วนการกินยา ถ้ากินอย่างเดียวโดยไม่ฝึกวินัยด้วย เด็กก็คุมตัวเองได้ไม่เต็มที่ เพราะโรคนี้เป็นโรคที่เรียกตามกลุ่มอาการอันดูจากพฤติกรรม ไม่ใช่การติดเชื้อหรืออะไรอักเสบที่ทุกอย่างจะหายเกลี้ยงเป็น “ปกติ” เหมือนโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ กล่าวคือ สำหรับเด็กสมาธิสั้น “ความปกติของเขา” คือพฤติกรรมวุ่นๆ หรือเหม่อๆ ลอยๆ อย่างนั้น ความปกติแบบที่เราอยากให้เขาเป็นก็คือ “ปกติแบบเด็กส่วนใหญ่” ที่สงบเสงี่ยมสักหน่อย คุมตัวเองได้ดีในระดับหนึ่ง ทำอะไรแล้วรู้ตัว ใจไม่เหม่อลอย
เนื่องจากวินิจฉัยและประเมินอาการจากพฤติกรรมผลของการดูแลรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็กและวัยรุ่นต่อให้ทั้งกินยาร่วมกับปรับพฤติกรรม จึงมีโอกาสที่จะได้ผลหลายระดับตั้งแต่
• หายเลย กลายเป็นเด็กเรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย ซึ่งเจอได้บ้างแต่ไม่บ่อย
• พฤติกรรมดีขึ้น พอควบคุมได้ เรียนหนังสือได้ แต่ก็ยังดูวอกแวกหรือเหม่อได้บ้าง ส่วนใหญ่ที่มาพบจิตแพทยาจะได้ผลระดับนี้
• เป็นเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อาจเป็นความเข้าใจผิดในการใช้ยา หรือเป็นปัญหาในการจัดการของผู้ปกครอง
• เด็กกลุ่มนี้เมื่อโตมาจะหายไปไหนได้ละครับ พวกเขาก็ยังคงเป็นในแบบ “ปกติ” ของเขา ก็คือเป็นสมาธิสั้น
อย่างนั้น หนักขึ้นบ้าง เบาลงบ้าง บางรายเป็นสมาธิสั้นแต่เด็กแหละ แต่ไม่ได้รับการรักษา เพราะไม่ได้รับการวินิจฉัย ซึ่งก็เป็นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
• ผู้ปกครองคิดว่าไม่เป็นอะไร เพราะพ่อแม่ก็เป็นอย่างนี้แหละ (ซึ่งก็ถูกเพราะโรคนี้เป็นกรรมพันธุ์ พ่อหรือแม่อาจจะสมาธิสั้นอยู่)
• ผู้ปกครองคิดว่าเป็นเพราะเด็กซน นิสัยไม่ดี ขี้เกียจ ไม่คิดว่าเป็นปัญหาจากสมอง
• รู้ว่าเด็กวุ่น แต่ถ้ายังเรียนหนังสือได้ พฤติกรรมอยู่ในระดับพอทน เลยยังไม่พามาพบแพทย์ดีกว่า
ดังนั้น เด็กสมาธิสั้นกว่าร้อยละ 40-60 ยังคงมีปัญหานี้จนโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าจะมีปัญหาไปเสียทุกคนนะครับ หลายท่านสมาธิสั้นแต่ไอคิวสูงก็เรียนหนังสือจบเป็นหมอ เป็นวิศวะได้ก็มากอยู่ เพียงแต่เสียโอกาสพัฒนาศักยภาพตัวเองได้เต็มที่ ไม่ประสบความสำเร็จในระดับที่จริงๆ แล้วเขาสามารถทำได้ เพราะยังวอกแวกหรือหยุดไปเหม่อบ้าง เสียจังหวะในการศึกษาหรือปฏิบัติงาน เพราะทำได้ไม่ต่อเนื่อง ที่แย่และน่าสงสารมากคือเด็กสมาธิสั้นบางคนที่คึกคักมาก ซนจนเบรกไม่อยู่ แล้วถูกผู้ใหญ่ดุด่าว่ากล่าวจนชักไม่โอเคกับตัวเอง กลายเป็นทำอะไรรุนแรงหรือแย่ๆ ประชดชีวิต โตมาเป็นผู้ใหญ่สมาธิสั้นที่แรง ก้าวร้าว บางคนจบชีวิตลงในคุกตารางไปเลยก็มี
ปัญหาโรคสมาธิสั้นจากเด็กจนโตนี้ จึงได้รับความสนใจในวงวิชาการมาก เพราะถ้าเข้าใจภาวะนี้ได้ดีขึ้น ต่อให้เราเสียโอกาสช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ไปในวัยเด็ก ก็ยังตามมาติดเบรกให้เขาในตอนที่โตแล้วได้นั่นเอง วงการแพทย์จึงหันมามองโรคนี้ ให้การวินิจฉัยและรักษาผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้เยอะขึ้น มากกว่าสมัยก่อนที่ไม่มีเกณฑ์การวินิจฉัยอย่างชัดเจน
เกณฑ์การวินิจฉัยในปัจจุบันของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ซึ่งเป็นเกณฑ์วินิจฉัยที่นิยมใช้กันทั่วโลกได้ตกลงว่า โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่จะวินิจฉัยได้จากอาการต่อไปนี้
กลุ่มใจลอยขี้ลืม (Inattentive type) มีอาการเหล่านี้รวมกันมากกว่า 5 อาการขึ้นไป
• ไม่สามารถสนใจในรายละเอียดของกิจกรรมที่ทำ จึงทำกิจกรรมได้ไม่เรียบร้อย ตกหล่นในรายละเอียด
• มีปัญหาในการจดจ่อกับงานหรือกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ เช่น นั่งทำงานหรืออ่านหนังสือได้ไม่นาน
• ดูเหมือนใจลอยหรือคิดอะไรอย่างอื่นเวลาคนพูดด้วย
• ไม่สามารถปฏิบัติตามลำดับขั้นตอน มักตกหล่นข้ามขั้น หรือออกนอกลู่นอกทาง หันเหความสนใจไปสิ่งอื่นได้ง่าย
• มีความยากลำบากในการจัดการงานต่างๆ ให้เป็นระบบ เช่น การเก็บข้าวของเป็นระบบ บริหารเวลาได้ไม่ดี
• มีปัญหากับงานที่ต้องตั้งใจทำ เช่น ทำการบ้าน เขียนรายงาน ทำให้ไม่ชอบ พยายามหลีกเลี่ยง
• เผลอทำของหายบ่อยๆ เช่น เครื่องเขียน อุปกรณ์การเรียน และของใช้ในชีวิตประจำวัน
• ถูกหันเหความสนใจได้ง่ายจากสิ่งแวดล้อมภายนอก
• ขี้หลงขี้ลืมในกิจกรรมประจำวัน เช่น ลืมนัดหมาย ลืมจ่ายเงินตามกำหนด หรือโทรกลับเวลาคนติดต่อมา
กลุ่มคึกคักไฮเปอร์ (Hyperactive type) มีอากรเหล่านนี้รวมกันมากกว่า 5 อาการขึ้นไป
• อยู่ไม่นิ่ง เช่น นั่งสั่นขา เคาะโน่นเคาะนี่ ขยับตัวบางอย่างตลอดเวลา
• นั่งไม่ค่อยติดที่ในที่ที่ควรต้องนั่งประจำ เช่น โต๊ะเรียน โต๊ะทำงาน
• ชอบวิ่งเล่นหรือปีนป่าย รู้สึกอึกอัดอยากเปลี่ยนอิริยาบถหรือเปลี่ยนสถานที่บ่อยๆ
• ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเงียบสงบได้
• ดูคึกคัก พร้อมจะไปไหนต่อไหนตลอดเวลา
• พูดเยอะ พูดไปได้เรื่อย
• มักตัดบทสนทนา ตอบคำถามโดยที่ยังไม่จบดี หรือแย่งคนอื่นพูด
• มีปัญหาในการรอเข้าคิว ทนรออะไรไม่ค่อยได้
• มักจะเข้าไปยุ่ง แทรกแซงในกิจกรรมคนอื่น เช่น การสนทนา การทำงานกลุ่ม โดยไม่ได้ถามความสมัครใจคนอื่นก่อนอยู่บ่อยๆ
โดยที่อาการแต่ละอาการเหล่านี้จะต้องมีความชัดเจน เป็นในหลายๆ สถานการณ์ จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ร่วมกับมีประวัติว่ามีอาการเหล่านี้มาตั้งแต่เด็กหรือก่อนอายุ 12 ปี คนไข้อาจมีอาการเด่นในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือบางคนจะมีลักษณะปนกันทั้งสองแบบก็ได้
แล้วทำไมมนุษย์คนหนึ่งถึงเป็นโรคสมาธิสั้น
ฟันธงได้เลยครับว่า ปัญหาเกิดที่ภายในสมองแน่นอน ภายในสมองของคนเราจะมีระบบวงจรหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน การแก้ปัญหา การควบคุมอารมณ์ ซึ่งวงจรนี้ประกอบด้วยส่วนย่อยของสมองหลายส่วนหลายตำแหน่งทำงานเชื่อมโยงกัน การทำงานของวงจรประเภทนี้ จะต้องมีความต่อเนื่อง แต่ในบางคนสมองก็ไม่สามารถทำงานต่อเนื่องเต็มที่ได้ ซึ่งอาจจะเป็นได้จากส่วนย่อยๆ ของวงจรนั้นเสีย หรือการทำงานเป็นระบบเสีย เพราะขาดความเชื่อมโยงจากสารสื่อประสาทในสมอง เราคงมองโรคนี้เป็น ขาว-ดำ หรือตัดสินประเภทป่วยไม่ป่วย เป็นไม่เป็นได้ยาก ควรมองว่าแต่ละคนมีระดับการจดจ่อตั้งใจได้ยาว-สั้น มากน้อยไม่เท่ากันจะตรงกว่า เช่น คนที่มีพฤติกรรมตรงเกณฑ์การวินิจฉัยทุกข้อก็คงเป็นมากกว่าคนตรงกับเกณฑ์แค่บางข้อ
นักทฤษฎีบางท่านอาจมองโรคนี้ในเชิงวิวัฒนาการการที่โรคทางพันธุกรรมโรคหนึ่งส่งต่อมาได้ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ไม่ชิงสูญพันธุ์ไปเสียก่อน แสดงว่าต้องมีประโยชน์อะไรบางอย่างในการดำรงชีวิต เราลองมาคิดกันเล่นๆ ว่าโรคสมาธิสั้นมีประโยชน์อะไรไหม ผมว่าถ้าเป็นสมัยยุคหินหรือมนุษย์ยังต้องเข้าป่าล่าสัตว์ การวอกแวกดูนั่นโน่นนี่ได้รวมเร็วก็อาจจะทำให้ช่วยรอดพันจากอันตรายได้ดี แต่สำหรับสมัยนี้ต้องนั่งเรียนหนังสือ ทำงานกับข้อมูลหรือเอกสาร ภาวะนี้คงฉุดรั้งคนที่เป็น ทำให้ไม่สามารถใช้ศักยภาพได้เต็มที่ เพราะอ่านหนังสือหรือทำงานนานๆ ไม่ได้ซ้ำร้ายถ้าเป็นช่วงที่เครียดมากขึ้น อยู่ภาวะที่ถูกจำกัดอารมณ์ไม่ดี สมาธิยิ่งกระเจิดกระเจิง เสียผู้เสียคนสาหัสเข้าไปใหญ่
ข่าวดี สมาธิยาวขึ้นได้
มีหลายอย่างในวงการแพทย์ที่ช่วยให้คุณ “ยาวขึ้น” ไม่ได้ แต่กับเรื่องสมาธิสั้นแล้ว จริงๆ มีหนทางแก้ไขให้สมาธิยาวขึ้น มีสติรู้ตัวมากขึ้น (ในบริบทของทางโลกนะครับ ไม่ใช่สติหรือสมาธิแบบศาสนาพุทธ) แนวทางการบำบัดรักษานี่คงต้องได้รับการประเมินจากจิตแพทย์ก่อนว่า ที่คุณเป็นใช่สมาธิสั้นจริงหรือเปล่า เพราะอาการของโรคนี้หลายข้อจะคล้ายปัญหาอื่นๆ อีกล้านแปด ถ้าเป็นโรคสมาธิสั้นจริงควรเป็นแบบนี้มาแต่เด็กๆ ไม่ใช่มาวุ่นๆ เหม่อๆ เอาตอนโต ตอนทำงาน หรือตอนมีแฟน แบบนี้อาจจะไม่ค่อยใช่ เพราะโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ก็คือโรคเดียวกับสมาธิสั้นในเด็ก แต่โตขึ้นแล้วยังไม่หายนั่นเอง
การรักษาสมาธิสั้นต้องรักษาแบบองค์รวม วงจรในสมองที่ทำงานด้านนี้จะทำงานดีขึ้นได้จากยาบางชนิด ซึ่งทำให้คุณจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ ลดความฟุ้งซ่านและควบคุมอารมณ์ได้ดี กลุ่มของยารักษาสมาธิสั้นสำหรับผู้ใหญ่ก็ไม่ต่างกับกลุ่มยาที่ใช้ในเด็ก แต่ตัวยาที่เลือกใช้ขนาดและปริมาณที่ใช้อาจไม่ค่อยเท่ากัน การพัฒนาคนสมาธิสั้น โดยไม่ใช้ยาเลยก็เป็นไปได้เช่นกัน แต่คงไม่ง่ายนักที่จะฝึกให้สงบนิ่งได้เท่าคนที่ไม่เป็นโรคสมาธิสั้น เปรียบเหมือนถ้าจะหัดขับรถก็ควรฝึกกับรถที่เบรกดีๆ ไม่ใช่รถที่เบรกไม่ค่อยอยู่ ยาก็ช่วยได้ในจุดนี้ การรักษาโดยไม่ใช้ยาที่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ได้ผลในปัจจุบัน เช่น จิตบำบัดให้คำปรึกษามักจะเป็นส่วนเสริมการรักษาด้วยยามากกว่า
คนรอบข้างทำยังไงดี
ต้องเริ่มด้วยจิตอันเป็นกุศลก่อนแล้วกันนะครับ ว่าสัตว์โลกเกิดมามีกรรมไม่เท่ากัน คนเกิดมาสมาธิสั้นก็ไม่ได้มีความสุขอะไรมากนักหรอก ที่เห็นคึกๆ นั้นเป็นเพียงพฤติกรรมที่เจ้าตัวพยายามแก้ปัญหาชีวิตไปเท่าที่วงจรในสมองเขาประมวลผลได้เท่านั้น สมองที่มีปัญหาและพฤติกรรมที่มีปัญหามักจะถูกตัดสินจากคนอื่นๆ กลายเป็นว่าเขาเป็นคนไม่ดี เป็นเด็กดื้อ เด็กซนมาตั้งแต่เด็กทั้งที่จริงๆ เป็นความเจ็บป่วยหรือความแตกต่างของระบบการประมวลผลของสมอง ซึ่งทุกคนก็คงไม่มีใครอยากสมาธิสั้น คงอยากสมาธิยาวๆ เรียนหนังสือเก่งๆ ทำงานเก่งๆ ไม่ขี้ลืม ไม่โดนบ่นด่ากันถ้วนหน้าอยู่แล้ว
ส่วนในโลกของการทำงาน คนรอบข้างก็ต้องเจอกับความไปเรื่อยๆ ไม่อยู่กับร่องกับรอยของเขา ถ้าเราโกรธหรือหงุดหงิดไป ตัวเราเองก็ไม่มีความสุข เริ่มต้นด้วยการเมตตา เห็นอกเห็นใจกันก่อน ส่วนถ้าสนิทสนมกันในระดับหนึ่งก็ลองชวนไปพบจิตแพทย์ เพื่อลองประเมินดูนะครับ เผื่อจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น มีความสุขกันมากขึ้นได้
นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์
จิตแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)