
© 2017 Copyright - Haijai.com
อาการไม่พึงประสงค์จากยา
ท่านทราบหรือไม่ว่า ยาทีท่านใช้ไม่ว่าจะเพื่อการป้องกันโรค บรรเทาความเจ็บป่วยหรือรักษาโรคต่างๆ ไมได้มีเพียงแต่ประโยชน์เท่านั้น หากแต่ยังมีอีกด้านหนึ่งที่อาจทำให้เกิดอันตรายกับท่านได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คืออาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา หมายถึง อาการใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย โดยไม่ได้เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยมุงหวังจะได้รับจากการใช้ยานั้นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นคัน แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เป็นต้น อาการเหล่านี้บางท่านเรียกว่าอาการข้างเคียงของยา บางท่านเรียกว่าอาการแพ้ยา ทั้งสองคำนี้เป็นคำที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ ซึ่งที่จริงแล้วมีความหมายไม่เหมือนกัน และต่างก็เป็นประเภทหนึ่งของอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
อาการข้างเคียง เป็นอาการไม่พึงระสงค์หรือไม่
ใช่เลย อาการข้างเคียงเป็นประเภทหนึ่งของอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา โดยผลที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกลไกการออกฤทธิ์ของยา และขนาดความรุนแรงจะขึ้นกับปริมาณยาที่ได้รับ กล่าวคือหากรับประทานยาปริมาณมาก ก็อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้มากกว่าการรับประทานยาในปริมาณน้อยว่า ตัวอย่างอาการจากยา ได้แก่
• อาการง่วงนอน จากการรับประทานยาแก้แพ้
• รับประทานยาแก้ปวด ลดอาการอักเสบ แล้วมีอาการปวดแสบท้อง
• รับประทานยาฆ่าเชื้อ แล้วมีอาการท้องเสีย
• รับประทานยาแก้ปวดทรามาดอล (Tramadol) แล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนมาก เป็นต้น ถ้าใช้ในขนาดที่สูงจะมีอาการข้างเคียงคือ การกดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการชักเกร็งได้ และมีผลกดระบบการหายใจ ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เป็นต้น
อาการแพ้ยา คือ อาการข้างเคียงของยาหรือเปล่า
อาการแพ้ยาไม่ใช่อาการข้างเคียงของยา แปลง่ายๆ ว่า คน 2 คน หากรับประทานยาตัวเดียวกัน คนหนึ่งแพ้ยา อีกคนอาจไม่แพ้ยา แต่ทั้ง 2 คน เกิดอาการข้างเคียงของยาได้ อย่างไรก็ตาม อาการแพ้ยาก็เป็นประเภทหนึ่งของอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา โดยเป็นอาการที่เกิดจากปฏิกิริยาที่ภูมิคุ้มกันของร่งกายต่อต้านยาที่ได้รับเข้าไป พบได้ไม่บ่อย แต่อาการที่เกิดมักจะรุนแรง และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ยาทุกตัวสามารถที่จะทำให้เกิดอาการแพ้ยาได้ โดยอาการแพ้ยาจะเกิดเฉพาะบางคนที่มีความไวต่อยานั้น ในสมัยก่อนอาการแพ้ยาจะเป็นอาการที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดกับใคร ต้องได้รับยาไปก่อนแล้วเกิดอาการแพ้ถึงจะทราบว่าแพ้ยานั้นๆ แต่ด้วยการค้นคว้าวิจัยและวิทยาการที่ก้าวหน้าไปมากกว่าเดิม ทำให้ในปัจจุบันอาการแพ้ยารุนแรงจากยาบางชนิดสามารถที่จะทำนายได้ล่วงหน้าว่า ใครบ้างที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพ้ยา
อาการแพ้ยามีหลายรูปแบบ บางประเภทอาจเกิดภายในเวลาไม่กี่นาที ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากได้รับยา หรืออาจเกิดหลังจากได้รับยามานานเป็นสัปดาห์ ทั้งนี้แล้วแต่กลไกการแพ้ยาแต่ละชนิด โดยลักษณะอาการแพ้ยาที่มักจะเกิดได้เร็วหลังจากได้รับยา เช่น ผื่นลมพิษ หน้าบวม เปลือกตาบวม ปากบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ส่วนลักษณะอาการแพ้ยาอื่นที่พบมักเกิดหลังจากได้รับยาไปแล้วสักระยะหนึ่ง เช่น ผื่นตุ่มแดง ตุ่มน้ำใส หรืออาจพบเป็นลักษณะอาการแพ้ยาที่รุนแรง เช่น ผิวหนังพุพองลอก ปากเปื่อย โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงอย่างเดียว หรือเกิดอาการหลายอย่างพร้อมกันก็ได้
หากเกิดอาการข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา จะทำอย่างไร
ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาแล้วเกิดอาการที่สงสัยว่าจะเป็นอาการข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา ให้หยุดยาทุกตัวที่รับประทานอย่ และนำยากลับมาปรึกษาเภสัชกร เพื่อประเมินอาการและหาสาเหตุ ท่านควรเล่าประวัติในการรับประทานยาให้ละเอียด เพื่อที่เภสัชกรจะประเมินอาการที่เกิดว่าเป็นอาการข้างเคียงหรืออาการแพ้ยากันแน่ ถ้าใช่อาการแพ้ยาก็จะได้ประเมินต่อไปว่ายาใดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาดังกล่าว
เมื่อประเมินได้แล้วเภสัชกรจะให้คำแนะนำแก่ท่านทั้งนี้หากเกิดอาการข้างเคียงจากยา ท่านอาจไม่จำเป็นต้องหยุดใช้ยาเสมอไป ท่านอาจได้รับคำแนะนำให้ปรับวิธีการรับประทานยา เช่น ยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบ ที่รับประทานแล้วมีอาการปวดแสบท้อง ก็ปรับเวลาในการรับประทานมาเป็นรับประทานหลังอาหารทันที เป็นต้น แต่ถ้าอาการข้างเคียงจากยาที่เกิดขึ้นนั้นรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ท่านอาจได้รับคำแนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะปรับเลปี่ยนเป็นยาตัวอื่นให้แทน หากเป็นในกรณีนี้เภสัชกรจะแนะนำให้ท่านจดจำชื่อยานั้นไว้ด้วย เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงนี้ในครั้งถัดไป
หากเกิดอาการแพ้ยา ท่านจำเป็นที่จะต้องหยุดใช้ยาตัวนั้นทันที หากไม่หยุด อาการแพ้ยาที่ท่านเป็นนั้นจะเกิดรุนแรงขึ้น หยุดยาแล้วนำยากลับมาปรึกษาแพทย์และเภสัชกร เพื่อประเมินอาการและหาสาเหตุ เมื่อประเมินได้แล้ว ท่านจะได้ทราบว่าแพ้ยาชนิดใด ท่านควรที่จะจดจำชื่อยาที่แพ้ หรือพกบัตรแพ้ยาติดกับตัวเสมอ หรือบันทึกชื่อยาและประวัติแพ้ยาไว้ในแอพพลิเคชั่น “บัตรแพ้ยา” บนโทรศัพท์มือถือ และแจ้งชื่อยาและประวัติการแพ้ยาของตนเองทุกครั้งแก่แพ พยาบาล หรือเภสัชกร ไม่ว่าจะเป็นที่โรงพยาบาล สถานบริการทางสาธารณสุขต่างๆ เช่น คลินิก ร้านขายยาเพื่อป้องกันการแพ้ยาซ้ำ และเพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงกลุ่มยาที่อาจเกิดอาการแพ้ยาข้ามกลุ่มกันได้ เนื่องจากหากผู้ป่วยได้รับยาที่แพ้ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 อาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
หลักในการใช้ยาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยานั้น ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด โดยมีข้อควรปฏิบัติสั้นๆ อยู่ทั้งหมด 8 ข้อ ได้แก่
1.ควรตรวจสอบชื่อ นามสกุล บนฉลากยาทุกครั้งที่ได้รับยา ว่าถูกต้องตรงกับชื่อของท่านหรือไม่
2.ควรสอบถามชื่อยา สรรพคุณ วิธีใช้อย่างละเอียด เมื่อต้องใช้ยาใดๆ ก็ตาม
3.อ่านฉลากยาให้ละเอียดทุกครั้งก่อนจะใช้ยา
4.พกบัตรแพ้ยาติดตัวไว้เสมอ และแจ้งชื่อยาและประวัติแพ้ยาทุกครั้งที่มาพบแพทย์ หรือเภสัชกร
5.หลีกเลี่ยงการใช้ยา หรือยาชุดที่ไม่ทราบชื่อ
6.ใช้ยาให้ถูกต้องตรงกับที่ฉลากยาได้ระบุไว้ เช่น ยาที่ต้องรับประทานก่อนอาหาร ควรรับประทานก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง ยาที่ใช้สำหรับทาภายนอก ก็ไม่ควรที่จะนำยานั้นมารับประทาน เป็นต้น
7.ไม่ควรปรับเพิ่ม หรือลดขนาดยาเอง
8.หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา ควรปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง
สำหรับผู้ที่มีประวัติแพ้ยา ควรบันทึกชื่อยา อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นหน่วยงานที่จ่ายยา และวันเดือนปีที่รับยามา รวมทั้งผลการวินิจฉัยจากแพทย์ว่า อาการที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการแพ้ยาแน่นอนหรือไม่ (หรือเข้าไปดาวโหลดแอพพลิเคชั่นนี้ได้จากทั้ง App store และ Play store โดยพิมพ์ค้นหาคำว่า “บัตรแพ้ยา” แล้วกดติดตั้ง) เพื่อสร้างความมั่นใจและเสริมความปลอดภัยในการใช้ยาของตัวท่านเอง
ภก.ทศพล เลิศวัฒนชัย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)