Haijai.com


สังคมความเครียดและครอบครัว


 
เปิดอ่าน 3986

สังคมความเครียดและครอบครัว

 

 

ความเครียดเป็นโรคระบาดที่คงควบคุมได้ยาก ในสภาพสังคมที่เปราะบางขึ้นทุกวัน การแข่งขัน มลพิษ ภัยจากธรรมชาติ ทำให้ความเครียดเกิดขึ้นในทุกที่ ผู้หญิง ผู้ชาย สามี ภรรยา พ่อ แม่ ลูก ทุกคนเครียดหมด ครอบครัวเผชิญกับความเครียดจากนอกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเครียดหน้าตาเป็นอย่างไร บางคนบอกว่าเครียด บางคนบอกว่าไม่เครียด บางคนบอกว่าไม่รู้ตัวว่าเครียดหรือเปล่า ครอบครัวจะช่วยกันให้บ้านเป็นที่ปลอดความเครียดได้อย่างไร

 

 

ความเครียดกับความสบายเป็นเหรียญที่อยู่สองด้าน การเข้าใจความเครียด มีการจัดการความเครียดได้ดี ก็จะรู้สึกสบายแม้สังคมจะเปลี่ยนแปลงไป การจะจัดการกับความเครียดได้ต้องมาทำความรู้จักก่อนว่าความเครียดเป็นอย่างไร

 

 

 ความหมายแรก ความเครียดเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้า ที่ทำให้รู้สึกว่าถูกกดดัน ซึ่งเป็นความหมายเฉพาะบุคคล ไม่มีผลต่อคนอื่น เพราะความรู้สึกกดดันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการรู้สึกต่อสิ่งที่เข้ามากระทบของแต่ละบุคคล อย่างในชีวิตครอบครัว ความคาดหวังที่มีต่อกัน ก่อให้เกิดความกดดันที่ทำให้รู้สึกเครียด พ่อแม่ที่กดดันเรื่องผลการเรียนของลูกจะรู้สึกว่าผลการเรียนที่ไม่เป็นไปตามคาดทำให้เครียด ลูกก็รู้สึกว่าความไม่พอใจของพ่อแม่ต่อผลการเรียนของตนกดดันทำให้เครียด ในขณะที่อีกครอบครัวรู้สึกคาดหวังกับผลการเรียนที่สอดคล้องกับลูก ถ้าผลออกมาตามที่ควรจะเป็น ครอบครัวไม่รู้สึกเครียดทั้งที่เด็กทั้งสองคนได้เกรดเท่ากัน

 

 

 ความหมายที่สอง มองความเครียดที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ที่ทำให้เครียด เช่น การหย่าร้าง การย้ายบ้าน การเปลี่ยนโรงเรียน การเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น ที่ทำให้คนที่อยู่ภายใต้สถานการณ์นั้นเกิดความเครียดขึ้น ซึ่งอาจจะรวมกับความหมายแรกด้วยว่า เจ้าตัวไม่เพียงรับรู้ความกดดันจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง  แต่ยังรู้สึกบางอย่างเฉพาะกับเหตุการณ์นั้นด้วย เช่น คนที่เข้าสู่การหย่าร้างถือว่าตกอยู่ในความเครียด แต่ถ้ามีทัศนะต่อการหย่าร้างด้วยความรู้สึกว่าน่าอับอาย อาจจะเครียดมากกว่า หรือยังเครียดแม้การหย่าร้างจะสิ้นสุดไปแล้วก็ตาม

 

 

เมื่อเราหลีกเลี่ยงจากความเครียดไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยความหมายแรกหรือความหมายที่สอง เราอาจจะต้องประเมินดูศักยภาพของครอบครัวกับการเผชิญความเครียด เพื่อจะวางแผนเพิ่มปัจจัยที่ช่วยให้ครอบครัว ดูแลความเครียดจากภายนอกที่เข้ามากระทบความเป็นครอบครัวได้ดีขึ้น

 

 

แบบทดสอบ การจัดการความเครียดของครอบครัว

 

 สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

 

 

 พยายามเปลี่ยนแปลงเมื่อมีสถานการณ์ที่จำเป็น

 

 

 ถ้ามีความกดดัน รู้ว่าจะขอคำแนะนำได้จากที่ไหน

 

 

 เข้าถึงบริการที่จำเป็นสำหรับครอบครัว

 

 

 ดูแลเมื่อสมาชิกในครอบครัวตกอยู่ในสถานการณ์ที่กดดัน

 

 

 พยายามจะเปลี่ยนแปลงวิธีที่ใช้ในการแก้ปัญหาให้ดีขึ้น

 

 

 มีกิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายความตึงเครียด

 

 

 ไม่ใช้ความรุนแรงเมื่อตกอยู่ในความกดดัน

 

 

 มีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดของครอบครัว

 

 

 ครอบครัวมีการบริหารจัดการเวลาครอบครัว

 

 

ลองประเมินจากแบบทดสอบในแต่ละข้อดูว่า ให้คะแนนครอบครัวอยู่ในกลุ่ศักยะภาพต่ำหรือศักยภาพสูง ถ้าผ่านทุกข้ออย่างมั่นใจ ก็ฉลองวันแห่งครอบครัวกันได้ ถ้าอยู่ในกลุ่มที่ไม่ค่อยแน่ใจ คงต้องใช้วันครอบครัวเป็นวันคุยกันว่าเรามีอะไรที่น่าจะทำเพื่อครอบครัวของเราอีกบ้าง

 

 

ในแต่ละข้อที่ประเมินเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาให้เป็นครอบครัวปลอดความเครียด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่เครียด ถ้าดูตามความหมายจะรู้ว่าเมื่อเกิดความเครียดขึ้น ต้องสามารถปรับตัวเผชิญกับความเครียดให้ได้ เริ่มจากข้อหนึ่งที่ต้องยอมรับว่าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบกับครอบครัว เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ครอบครัวจะพยายามปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงแทนที่จะจมอยู่ในความคิดว่าไม่น่าเกิดขึ้น  และหาทางออกด้วยการเข้าถึงแหล่งข้อมูล แหล่งให้คำแนะนำ ถ้าจำเป็นก็ยอมที่จะเข้าไปใช้บริการ หรือสามารถเข้าให้ถึงบริการที่จำเป็นของครอบครัว ครอบครัก็จะปรับตัวสู่จุดที่สมดุลใหม่

 

 

ครอบครัวจะเป็นพื้นที่ที่เอาใจใส่ดูแลหากสมาชิกในครอบครัวเกิดความเครียดขึ้น ในภาวะวิกฤต การร่วมกันของทุกคนในครอบครัวก็จะเป็นพลังให้ผ่านวิกฤตไปได้ โดยไม่ต้องรอพึ่งความช่วยเหลือจากภายนอกมากเกินไป ถ้าช่วยกันแก้ไขปัญหาแล้วไม่ดีขึ้น สามารถเปลี่ยนวิธีใหม่ๆ โดยยึดประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัว ในทุกวันมีกิจกรรมของครอบครัวที่ทำให้ทุกคนได้มาผ่อนคลาย จากความตึงเครียดนอกบ้าน ที่สำคัญต้องไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน ส่วนการมีเพื่อนแสดงถึงการเปิดตัวรับและมีสัมพันธภาพกับคนอื่นด้วย สุดท้ายอยู่ที่ทุกคนให้ความสำคัญกับความเป็นครอบครัว สามารถบริหารเวลาให้เกิดเวลาของครอบครัวเสมอ เวลาที่จะพูดคุย แลกเปลี่ยน ปลอบโยน ให้กำลังใจกัน

 

 

โลกอาจเปลี่ยนแปลงกดดันมากขึ้น แต่ความเป็นครอบครัวจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยและอบอุ่นใจเสมอ

 

 

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

(Some images used under license from Shutterstock.com.)