
© 2017 Copyright - Haijai.com
รู้สึก เบื่องาน
คนส่วนใหญ่เบื่องาน มิใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด คนที่อ้างว่าสนุกับงานเหลือเกิน งานนี้ใช่เลย ส่วนหนึ่งพูดไม่จริง แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่พูดจริง ส่วนที่พูดจริงเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นไปได้อย่างไรที่มีคนสนุกับงานทุกๆ วัน ถึงสิ้นเดือนได้เงินเดือนกลับบ้าน ช่างเป็นชีวิตที่ดีอะไรเช่นนั้นที่มีคนมาจ้างให้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ
อาการเบื่องานมักเกิดจากคนอื่น หัวหน้าแย่ ผู้ร่วมงานไม่เอาไหน วัฒนธรรมที่ทำงานเต็มไปด้วยการอิจฉาริษยา กลั่นแกล้ง ไปจนถึงแทงข้างหลัง เงินเดือนน้อย ฯลฯ มีข้อสรุปว่าอาการเบื่องานมักมาจากปัจจัยภายนอก แต่คนที่สนุกกับงานกลับเกิดจากภายใน ไม่เกี่ยวอะไรกับปัจจัยภายนอกเท่าไรนัก
คนที่รู้สึกสนุกกับงานมักรู้สึกว่างานที่เขากำลังทำมีลักษณะดังต่อไปนี้
รู้สึกว่าเขามีโอกาสได้ทำอะไรใหม่ๆ เสมอ
อันที่จริงข้อแรกนี้ขึ้นอยู่กับองค์กรหรือที่ทำงานด้วยอยู่ดี ที่ทำงานที่ให้โอกาสพนักงานทำอะไรใหม่ๆ ที่แตกต่างอยู่เสมอจะช่วยให้พนักงานรู้สึกได้ถึงพลังอำนาจของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องดีมาก สำนักงานที่ไม่ยินยอมให้พนักงานทำอะไรใหม่ๆ ได้เลย ต้องทำเหมือนเดิมทุกๆ วัน เช่นนี้ก็ลำบากหน่อย
รู้สึกว่าเขาต้องใช้ทักษะใหม่ๆ เสมอ
จะเห็นว่าข้อนี้เริ่มเป็นเรื่องของเจ้าตัวเองแล้ว ทักษะส่วนใหญ่ที่คนทำงานทุกคนต้องทำไม่มากก็น้อย ไม่ช้าก็เร็ว คือ “ทักษะแก้ปัญหา” ต่อให้งานนั้นซ้ำซากจำเจอย่างไร ก็จะมีปัญหาเกิดขึ้นเสมอไม่ขึ้นตอนใดก็ขั้นตอนหนึ่ง คนทำงานที่คิดว่าปัญหาเป็นเรื่องน่ากวนใจก็คงหาความสุขในงานได้ยาก คนทำงานที่คิดว่าปัญหาคือ “เครื่องมือ” ชนิดหนึ่งที่คนเราใช้พัฒนาตนเอง คนที่รู้สึกสนุกกับการแก้ปัญหา จึงสามารถหาความสนุกในงานได้เรื่อยๆ เพราะปัญหามีให้แก้ทุกวัน
พ้นจากทักษะการแก้ปัญหาคือ “ทักษะการเรียนรู้” การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกในตัวเอง คนที่ชอบแก้ปัญหาชอบเรียนรู้จึงสนุกในตัวเอง คนที่ชอบแก้ปัญหาชอบเรียนรู้จึงสนุกกับงาน คนที่ไม่ชอบปัญหาไม่ชอบเรียนรู้ก็จะสนุกกับงานได้ยาก
รู้สึกว่าเขาได้สร้างความแตกต่าง
งานทุกงานล้วนสร้างความแตกต่างได้ อยู่ที่เรามองงานที่เราทำอย่างไร นิทานที่คุ้นเคยกันดีคือ เรื่องคนก่ออิฐ คนก่ออิฐคนที่หนึ่งคิดว่าตนเองกำลังก่ออิฐ คนก่ออิฐคนที่สองคิดว่าตนเองกำลังสร้างกำแพง คนก่ออิฐคนที่สามคิดว่าตนเองกำลังสร้างพระราชวัง จะเห็นว่าคนที่สามคิดว่าตนเองกำลังสร้างความแตกต่าง งานที่ทำมิใช่งานก่ออิฐดังที่เห็น แต่ส่งผลกระทบวงกว้างกว่านั้นมาก
ผมชอบตอนจบของหนัง Star Trek Generation มากในหนังตอนนี้กัปตันเจมส์ ที เคิร์ก ติดอยู่ในเน็กซัส คือ โลกเสมือนที่เขาเป็นพ่อบ้านธรรมดา มีบ้านและภรรยาอบอุ่น มีความสุขกับการทำกับข้าว แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็รู้ได้ด้วยตนเองว่าชีวิตสงบสุขกับการทำกับข้าว แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็รู้ได้ด้วยตนเองว่าชีวิตสงบสุขมากเกินไป ในตอนจบเขาทิ้งเน็กซัสออกไปช่วยกัปตันฌอง ลุค พิคคาร์ด กอบกู้จักรวาล จนกระทั่งตนเองถึงแก่ความตาย ก่อนจะตายเขาถามพิคคาร์ดว่า “เราได้สร้างความแตกต่างแล้วหรือยัง ?”
รู้สึกว่าตนเองมีศักยภาพ
ข้อสี่อาจจะสำคัญที่สุด นั่นคือคนทำงานที่มีความสุขกับงาน มักรู้สึกว่าตนเองมีศักยภาพหรือความสามารถที่จะกำหนดหรือควบคุมชีวิตตนเองและสิ่งแวดล้อมได้ และนี่คือความหมายที่แท้ของคำว่า “self-esteem” ตำราส่วนใหญ่ชอบแปล self-esteem ว่าคือความมั่นใจในตนเองหรือความภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งมีส่วนถูกแต่ไม่ทั้งหมด ความหมายที่แท้คือ ความสามารถที่จะกำหนดชีวิตตนเองและสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างของคนที่กำหนดชีวิตตัวเองและสิ่งแวดล้อมไม่ได้เลยคือเด็กที่ถูกละเมิดจากผู้ใหญ่ในบ้าน ชีวิตของเขาเป็นของผู้ใหญ่และรอรับการละเมิด เช่นนี้เขาไม่มีทั้งตัวตนคือ self และไม่มีความมั่นใจในตนเองคือ self-esteem
ตัวอย่างของคนที่ดีกว่าเด็กถูกละเมิดนิดหนึ่งแต่ก็ไม่ดีอะไรมากนักคือ เด็กนักเรียนทุกคนที่เรียนไม่เก่ง ชีวิตของเขามิใช่ของเขา เพราะเขาไม่สามารถไม่เรียนหนังสือ ไม่สามารถไม่เข้าห้องสอบ และไม่สามารถสอบให้เกรดดีขึ้นด้วย ด้วยกติกาการศึกษาที่กดดันให้เด็กนักเรียนที่พ่อแม่ไม่มีเงินส่งกวดวิชา ย่อมเสียโอกาสที่จะทำเกรดได้ เช่นนี้ เขามี self แต่ไม่มี esteem พูดง่ายๆ ว่าเขามี self ที่แย่ๆ
ข้าราชการส่วนใหญ่อยู่ใต้ระบบงานที่ไม่อนุญาตให้กำหนดชีวิตตนเองได้มากนัก ทำงานที่แตกต่างก็ยากเช่นนี้ ก็คือว่าไม่ค่อยจะมี self-esteem เช่นกัน
พนักงานที่ตื่นเช้าไปทำงานด้วยความรู้สึกว่าตนเองกำหนดชีวิตตนเองได้ และควบคุมบังคับสิ่งแวดล้อมได้ด้วย มักจะรู้สึกสนุกกับงาน เขาทำงานด้วยวิธีไหนก็ได้ ให้ได้ผลผลิตและผลลัพธ์ที่ดีก็แล้วกัน เช่นนี้จึงมี self-esteem ที่ดี
เมื่อประมวลจากที่กล่าวมาข้างต้น จะพบว่าเป็นปัจจัยภายในมากกว่าภายนอก รู้สึกมีโอกาส รู้สึกได้ใช้ทักษะและเรียนรู้ รู้สึกได้สร้างความแตกต่าง และรู้สึกว่าตนเองกำหนดชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้ จะเห็นว่าคำสำคัญคือคำว่า “รู้สึก”
เมื่อขึ้นชื่อว่ารู้สึกเสียแล้ว เรื่อ่งจริงเป็นอย่างไร ก็จะลดความสำคัญลง เป็นเราเองที่มองที่ทำอย่างไรแล้วรู้สึกอย่างไรด้วยเป็นสำคัญ ในทิศทางตรงข้าม เจ้านายที่ดีคือเจ้านายที่สามารถทำให้คนทำงาน “รู้สึก” เช่นนั้น
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)