© 2017 Copyright - Haijai.com
เจ็บคอ Sore Throat
เจ็บคอ (Sore Throat) เป็นภาวะที่ไม่สบายในลำคอ ทำให้กลืนลำบากและเจ็บปวด ผู้ที่เจ็บคอมักมีอาการคอแห้ง แดง แสบ และระคายเคือง สาเหตุที่ทำให้เจ็บคอที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อไวรัส สาเหตุอื่นๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย การสัมผัสกับมลภาวะและสารระคายเคืองในอากาศ (เช่น ควันบุหรี่) อาการแห้ง การใช้เสียงมาก โรคกรดไหลย้อน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอาหารรสเผ็ดก็อาจเป็นสาเหตุของการระคายเคืองในลำคอได้ ในเด็กและวัยรุ่นที่มีอาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus แล้วไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจลุกลามเป็นโรคหัวใจรูมาติกหรือไตอักเสบเฉียบพลัน
คำแนะนำผู้ป่วย
• อาการเจ็บคอมักหายเองภายใน 2-3 วันแม้ไม่ได้ใช้ยา
• การติดเชื้อมักมีสาเหตุจากไวรัส ซึ่งปกติไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
• ดื่มน้ำหรือของเหลวมากๆ การดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ จะช่วยลดอาการระคายคอ และทำให้เมือกเหนียวในลำคอใสขึ้น
• กลั้วคอด้วยน้ำยากลั้วคอหรือน้ำเกลืออุ่นๆ
• อมยาอม หรือรับประทานยาแก้ไอ เพื่อเพิ่มความชุมชื้นและลดอาการระคายคอ
• พักผ่อนมากๆ เพื่อให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีขึ้น
• หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารระคายเคือง เช่น บุหรี่ ควัน
• การรับประทานยาน้ำเชื่อมหรือยาอื่นๆ ที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคออาจจะทำให้ฟันผุ ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรพิจารณาปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก่อนตัดสินใจเลือกใช้
ทางเลือกในการรักษา
ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
• ยาเหล่านี้ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ยาปฏิชีวนะที่มารใช้ ได้แก่ ยาในกลุ่ม penicillins (penicillin V, amoxicillin), cephalosporins (cephalexin, cefdinir) และ macrolides (roxithromycin, clarithromycin, azithromycin)
• ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะ เพื่อใช้รักษาอาการด้วยตนเอง ควรใช้ยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่ง
• ยาปฏิชีวนะบางชนิดอาจลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้
• ห้ามสตรีมีครรภ์ใช้ยาปฏิชีวนะ โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
• เภสัชกรชุมชนต้องจ่ายยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยา และรณรงค์ให้ผู้รับบริการร้านยาเลิกเรียกยาปฏิชีวนะว่ายาแก้อักเสบ
ยาแก้ปวด (Analgesics)
• ยาแก้ปวดลดไข้ที่มีฤทธิ์อ่อน เช่น paracetamol อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและลดไข้ที่อาจเกิดร่วมกับอาการเจ็บคอ
• ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-inflammatory drugs : NSAIDs) ชนิดออกฤทธิ์ค่อนข้างเร็ว เช่น ibuprofen หรือ naproxen สามารถใช้ลดการอักเสบในลำคอและระงับปวดได้ ควรใช้อย่างระมัดระวังในผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร มีโรคหืด โรคหัวใจ หรือโรคไต
ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับช่องปากและลำคอ (Mouth/Throat Preparation)
• ยาใช้เฉพาะที่ที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ เช่น ยาอม ยาบ้วนปาก ยากลั้วคอ หรือสเปรย์ มีตัวยาต้านการอักเสบ เช่น benzydamine ยาชา เช่น amylocaine, lidocaine, tetracaine และยาระงับเชื้อ เช่น amylometacresol, benzalkonium chloride, benzoxonium, biclotymol, cetalkonium chloride, cetylpyridinium chloride, chlorhexidine, dequalinium chloride, dichlorobenzyl alcohol, hexetidine และ povidone-iodine ผลิตภัณฑ์บางอย่างอาจผสม ยาต้านจุลชีพ เช่น bacitracin, fusafungine, miconazole, neomycin sulfate และ tyrothricin
• ยาระงับเชื้อบางชนิดอาจทำให้ระคายเคืองริมฝีปากและลิ้นได้
(Some images used under license from Shutterstock.com.)