Haijai.com


บัวบก สมุนไพรบำรุงสมอง


 
เปิดอ่าน 21320

บัวบก สมุนไพรบำรุงสมอง

 

 

เมื่อพูดถึงบัวบก หลายๆ คน มักจะนึกถึงน้ำบัวบกกินแก้ช้ำใน แต่ที่จริงแล้ว บัวบกยังมีสรรพคุณสำคัญอีกประการหนึ่งนั่นก็คือ ฤทธิ์ในการบำรุงสมอง ตำราแพทย์อายุรเวทของอินเดียกล่าวว่าบัวบกมีรสขมฉุน คุณสมบัติเย็น ออกฤทธิ์บำรุงความอยากอาหาร ลดไข้ ทำให้เลือดบริสุทธิ์ รักษาโรคผิวหนัง ขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ เพิ่มพูนสติปัญญา และฟื้นฟูความอ่อนเยาว์ ส่วนตำรายาไทยกล่าวว่า บัวบกมีรสเฝื่อนขมเย็น มีสรรพคุณ ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า เป็นบำรุงกำลัง และยาอายุวัฒนะ หมอยาพื้นบ้านในไทยใช้บัวบกเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงประสาทและความจำ

 

 

ยาบำรุงสมองและอารมณ์จากธรรมชาติ

 

การศึกษาที่อินเดียได้ให้สารสกัดบัวบกด้วยน้ำแก่หนูทดลองอายุ 15 วัน ในขนาด 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยการให้ทางปากเป็นเวลา 15 วัน จากนั้นหนูทดลองจะถูกประเมินทักษณะการเรียนรู้และความจำเมื่ออายุครบ 1 เดือน ผลการศึกษาพบว่าหนูได้รับบัวบกมีพัฒนาการของการเรียนรู้และความจำดีกว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำกลั่นเพียงอย่างเดียว ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่ได้นำสารสกัดบัวบกทั้งต้นที่ใช้น้ำเป็นตัวสกัดมาป้อนเข้าทางเดินอาหารของหนูทดลองเป็นเวลา 14 วัน ระหว่างนี้มีการทดสอบการเรียนรู้ในการหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายของหนู ผลการศึกษาพบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดบัวบกจะมีผลการทดสอบการเรียนรู้และความจำดีกว่าหนูที่ไม่ได้สารสกัดบัวบก นอกจากนี้บัวบกยังสามารถชะลอความเสื่อมของระบบประสาทในหนูทดลองที่ถูกฉีด streptozotocin ซึ่งเป็นสารที่มีพิษต่อระบบประสาทเข้าไปในช่องในสมอง โดยหนูทดลองที่ได้รับสารสกัดใบบัวบกจะมีผลการทดสอบการเรียนรู้ และความจำดีกว่าหนูทดลองที่ไม่ได้รับสารสกัด กลไกที่เกี่ยวข้องกับฤทธิ์กระตุ้นความจำและการเรียนรู้ อาจจะมาจากการที่บัวบกสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์สมอง เพิ่มปริมาณสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า acetylcholine ตลอดจนลดการทำลายสมองจากอนุมูลอิสระ

 

 

การศึกษาในคนก็พบผลดีและบัวบกเช่นกัน งานวิจัยโดยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ตีพิมพ์ใน Journal of Ethnopharmacology เมื่อปี พ.ศ.2551 ก็ได้แสดงถึงผลดีต่อความจำและอารมณ์ของการเสริมบัวบกในมนุษย์ งานวิจัยดังกล่าวแบ่งผู้เข้าร่วมการวิจัยเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 7 คน แต่ละกลุ่มจะได้รับยาหลอก สารสกัดใบบัวบกขนาด 250, 500 และ 750 มิลลิกรัม วันละหนึ่งครั้ง เป็นเวลาสองเดือน ระหว่างนี้ จะมีการประเมินการทำงานของสมองและทดสอบการเรียนรู้และความจำ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการเสริมสารสกัดใบบัวบกที่ขนาด 750 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยมีการทำงานของสมอง การเรียนรู้ และความจำที่ดีขึ้น รวมทั้งยังช่วยเพิ่มความตื่นตัวและความสงบระงับของจิตใจ

 

 

นอกจากฤทธิ์ในการบำรุงความจำและการเรียนรู้แล้ว บัวบกยังมีฤทธิ์คลายกังวลอีกด้วย งานวิจัยโดยอารี วนสุนทรวงศ์และคณะพบว่า หนูที่ได้รับสารสกัดบัวบกในช่วงที่ได้รับการกระตุ้นให้เกิดความเครียดติดต่อกัน 10 วัน มีพฤติกรรมที่แสดงถึงความเครียดน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัดบัวบก นอกจากนี้สารสกัดบัวบกยังช่วยลดผลกระทบของความเครียดที่มีต่อน้ำหนักตัวของหนู และลดการหลั่งฮอร์โมน corticosterone ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาเมื่อหนูได้รับความเครียด

 

 

ตำรับยา

 

ควรเก็บบัวบกทุกส่วน ได้แก่ ใบ ต้น และราก เพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์มากที่สุด เวลาทำแห้ง ให้ใช้วิธีผึ่งลม แล้วเก็บใส่ขวดปิดสนิท ไม่ควรนำไปตากแดด เพราะจะทำให้สูญเสียสารออกฤทธิ์ ตำรับยาที่มีการใช้เพื่อบำรุงร่างกาย สายตา และความจำ ประกอบด้วยบัวบกตากแห้ง 2 ส่วน พริกไทย 1 ส่วน บดเป็นผง กินครั้งละครึ่งช้อนชากับน้ำร้อน หรือกินกับน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อยก่อนนอน หรืออาจนำบัวบกทั้งต้น 2-3 ก้าน บดรับประทานกับน้ำร้อน โดยอาจผสมน้ำผึ้งลงไปด้วย

 

 

ความปลอดภัย

 

การศึกษาทางพิษวิทยาทั้งแบบเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรังในหนูทดลอง โดยให้หนูทดลองได้รับสารสกัดบัวบกในขนาดต่างๆ พบว่า หนูทดลองไม่มีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรม น้ำหนักตัว สภาพอวัยวะภายใน ตลอดจนผลการตรวจเลือด บัวบกจึงเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง อย่างไรก็ตามเนื่องจากตำราแพทย์แผนโบราณกล่าวว่า บัวบกเป็นยาเย็น จึงไม่ควรบริโภคต่อครั้งมากเกินไป หรือรับประทานติดต่อกันนานเกินไป อาจจะรับประทานเป็นใบสดๆ ครั้งละ 2-3 ใบ ถ้าคั้นเป็นน้ำ วันหนึ่งไม่ควรเกิน 60 มิลลิลิตร การรับประทานบัวบกมากเกินไป อาจทำให้เวียนหัว ปวดหัว ใจสั่น ท้องร่วง ผู้ที่อ่อนเพลีย ร่างกายอ่อนแอ ท้องอืดแน่นเป็นประจำ ตลอดจนหญิงมีครรภ์และให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานบัวบก

 

 

นอกจากนี้การศึกษาในหลอดทดลองยังพบอีกด้วยว่า สารสกัดบัวบกด้วยเอธานอลและไดคลอโรมีเธนสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP2C9 และ CYP2C19 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีหน้าที่ย่อยสลายยาที่ผู้ป่วยได้รับ ดังนั้นผู้ป่วยที่ใช้ยาที่ถูกย่อยสลายโดยเอนไซม์ดังกล่าว ซึ่งได้แก่ ยาลดความดัน irbesartan และ losartan, ยากันชัก phenytoin, ยาแคมีบำบัด cyclophosphamide, ยาเบาหวาน ได้แก่ glipizide, glibenclamide และ glimepiride, ยาละลายลิ่มเลือด warfarin, ยากระเพาะ lansoprazole และ omeprazole จึงควรเพิ่มความระมัดระวังเวลาใช้บัวบก ถ้าหากเกิดอาการข้างเคียง ให้หยุดการใช้บัวบก แล้วพบแพทย์ทันที

(Some images used under license from Shutterstock.com.)