
© 2017 Copyright - Haijai.com
ตรวจภายใน (สตรี)
สูติ-นรีแพทย์นั้นนอกจากจะมีหน้าที่ดูแลสุขภาพของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานสตรีแล้ว ยังมีหน้าที่ดูแลสุขภาวะทางใจของสตรีด้วย เพราะนอกเหนือจากอาการผิดปกติทางกาย ซึ่งทำให้สตรีต้องมารับการตรวจวินิจฉัยแล้ว สตรีหลายรายยังเกิดความกังวลใจในเรื่องของการตรวจภายใน จนทำให้ลังเลใจและไม่กล้าที่จะมาตรวจ เราจึงจะมาพูดคุยกันในเรื่องที่ดูเหมือนจะธรรมดาแต่ไม่ธรรมดาอย่างเรื่องการตรวจภายใน
การตรวจภายใน คืออะไร
การตรวจภายใน คือ การตรวจหาพยาธิสภาพต่างๆ ของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เริ่มตั้งแต่ภายนอกจนถึงภายในอุ้งเชิงกราน และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนแพทย์จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือช่วยถ่างขยายช่องคลอด ที่เรียกว่า speculum เพื่อตรวจดูสภาพของช่องคลอดด้านในและปากมดลูก ว่ามีติ่งเนื้อ รอยแผล ภาวะอักเสบติดเชื้อ เลือดออก หรือตกขาวผิดปกติหรือไม่ จากนั้นจึงทำการตรวจประเมินมดลูกและปีกมดลูก โดยการใช้นิ้วคลำจากภายในช่องคลอดพร้อมๆ กับการกดบริเวณหน้าท้อง ซึ่งจะช่วยให้ทราบขนาดของมดลูกและช่วยในการวินิจฉัยก้อนในอุ้งเชิงกรานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้องอกมดลูกและรังไข่
เมื่อใดจึงควรมารับการตรวจภายใน
สตรีทุกวัยที่มีอาการบ่งชี้ว่าน่าจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ไม่ว่าจะเป็นเลือดออกผิดปกติ ตกขาวผิดปกติ ปวดหน่วงในอุ้งเชิงกราน คลำได้ก้อนบริเวณท้องน้อย หรือแม้แต่มีแผล ตุ่มหนอง หรือปวดบวมบริเวณอวัยวะเพศ ควรมารับคำปรึกษาจากสูติ-นรีแพทย์ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกรายจะต้องได้รับการตรวจภายในเสมอไป ความจำเป็นของการตรวจภายในมักขึ้นกับอายุของผู้ป่วย ตำแหน่งของพยาธิสภาพและความรุนแรงของอาการเป็นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น วัยรุ่นที่มีประจำเดือนผิดปกติ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผลจากระดับฮอร์โมนไม่คงที่มากกว่าที่จะเกิดจากความผิดปกติในอุ้งเชิงกราน กรณีเช่นนี้แพทย์มักเริ่มให้การรักษาด้วยการให้ยาปรับประจำเดือนมากกว่าที่จะตรวจภายใน หรือในสตรีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งการตรวจภายในนั้นทำได้ยาก แพทย์ก็อาจเปลี่ยนไปใช้วิธีการตรวจประเมินทางทวารหนัก หรือในบางครั้งอาจใช้การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ผ่านทางหน้าท้องหรือผ่านทางทวารหนักแทนได้ ส่วนกรณีของการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งมักรวมถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยนั้น การตรวจภายในถือเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากเป็นวิธีที่ใช้ในการเก็บเซลล์บริเวณปากมลูกมาตรวจ และยังเป็นวิธีที่ช่วยในการประเมินพยาธิสภาพอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย ดังนั้น สูติ-นรีแพทย์จึงมักแนะนำให้มาตรวจภายในปีละครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีที่เพศสัมพันธ์แล้ว ส่วนในรายที่ยังโสดก็มักแนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 35 ปี เป็นต้นไป
จริงหรือไม่ที่ขณะมีรอบเดือนไม่ควรตรวจภายใน
ในกรณีนี้แท้จริงแล้วเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ โดยเชื่อว่าเกิดจากความสับสนในแง่ของคำจำกัดความของการตรวจภายใน และกาตรวจหามะเร็งปากมดลูก ซึ่งการตรวจทั้งสองอย่างนี้ ถึงแม้ว่าจะสามารถทำพร้อมกันได้ แต่ก็ไม่ใช่การตรวจแบบเดียวกัน การตรวจภายในมีจุดมุ่งหมายเพื่อการวินิจฉัยพยาธิสภาพของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ส่วนการตรวจหามะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจด้วยวิธีดั้งเดิม (conventional cytology) นั้น เป็นการเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกมาป้ายลงบนแผ่นกระจก เพื่อนำไปส่องตรวจหาเซลล์ผิดปกติด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งในกรณีนี้หากมีประจำเดือนหรือเลือดออก หรือตกขาวผิดปกติ เมื่อนำเซลล์มาป้ายลงบนแผ่นกระจกก็จะเกิดการปนเปื้อนเลือดหรือตกขาวจนอาจบดบังการส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์และทำให้เกิดความผิดพลาดในการแปลผลการตรวจได้ สูติ-นรีแพทย์ จึงไม่แนะนำให้ทำการตรวจหามะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีดั้งเดิมในขณะที่มีรอบเดือน ซึ่งแตกต่างจากการที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติแล้วมารับการตรวจภายในเพื่อหาสาเหตุ กรณีนี้หากรอให้เลือดหยุดก่อนแล้วค่อยมาตรวจ นอกจากเลือดจะไม่หยุดเพราะสาเหตุยังไม่ได้รัรบการแก้ไขแล้ว ยังอาจทำให้การรักษาต้องล่าช้าออกไปอีกด้วย
เตรียมตัวอย่างไรก่อนการตรวจภายใน
สตรีแทบทุกคนมักมีความกังวลใจเรื่องการตรวจภายใน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะปัญหาของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานนั้นเป็นปัญหาในจุดซ่อนเร้นที่สตรีส่วนใหญ่กระดากที่จะพูดถึง อีกทั้งไม่สะดวกใจที่จะต้องถูกตรวจภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีโสดที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ บางรายอาจรู้สึกว่าสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงหากต้องถูกตรวจภายในโดยสูติ-นรีแพทย์ที่เป็นเพศชาย ซึ่งกรณีนี้สามารถแก้ปัญหาได้โดยการนัดตรวจกับสูติ-นรีแพทย์ที่เป็นเพศหญิง และเพื่อให้การตรวจดำเนินไปอย่างราบรื่น แพทย์จำเป็นต้องสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ จำนวนบุตรและวิธีการคลอดบุตรที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการคลอดทางช่องคลอดหรือผ่าตัดคคลอด เนื่องจากมีประโยชน์สำหรับการเลือกชนิดและขนาดของเครื่องมือถ่างขยายช่องคลอดให้เหมาะสม
ก่อนการตรวจภายในทุกครั้งผู้ป่วยจำเป็นต้องถ่ายปัสสาวะทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะปัสสาวะโป่งตัวจนเบียดบังอวัยวะในอุ้งเชิงกรานในขณะตรวจ ซึ่งจะทำให้ผลการตรวจไม่ชัดเจน หรือทำให้เข้าใจผิดว่ามีก้อนในช่องท้องได้ หากผู้ป่วยร่วมมือด้วยการไม่หนีบขา พร้อมทั้งช่วยเบ่งในขณะที่แพทย์ใส่เครื่องมือผ่านทางปากช่องคลอด ก็จะช่วยให้เครื่องมือสามารถผ่านเข้าไปได้ง่ายและไม่เจ็บ ซึ่งอาการเจ็บขณะตรวจภายในนี้นอกจากจะเป็นเรื่องของทางเทคนิคการตรวจแล้ว ก็ยังขึ้นกับพยาธิสภาพของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานขณะนั้นๆ ด้วย นอกจากนี้การผ่อนคลายไม่เกร็งหน้าท้องในขณะที่แพทย์ใช้มือกดตรวจ ก็จะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจประเมินพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
โดยสรุปถึงแม้การตรวจภายในอาจจะดูเป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยากใจสำหรับสตรีหลายคน แต่ก็เป็นการตรวจที่ช่วยในการวินิจฉัยความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานได้เป็นอย่างดี การเตรียมความพร้อมก่อนการตรวจ การให้ความร่วมมือในขณะตรวจ รวมทั้งความเอาใจใส่ดูแลของสูติ-นรีแพทย์ผู้ทำการตรวจ ย่อมทำให้การตรวจผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และเป็นที่พึงพอใจของทั้งแพทย์และตัวผู้ป่วยเอง
อ.พญ.พัทยา เฮงรัศมี
สูตินรีแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)