Haijai.com


หูตึง หูอื้อ


 
เปิดอ่าน 2105

หูตึง หูอื้อ

 

 

ปัญหาหนึ่งของผู้สูงอายุ และอาจถือเป็นปัญหาของญาติหรือคนรอบข้างด้วยเหมือนกัน คือ การที่ผู้สูงอายุมีความสามารถในการรับเสียงแย่ลง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ หูอื้อ หรือหูตึงนั่นเอง และเนื่องจากเป็นภาวะที่ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ในบางครั้งผู้สูงอายุหรือญาติ อาจมีปัญหาอื่นแทรกซ้อนได้จากการที่ต้องตะโกนสื่อสารกันเป็นเวลานาน  เช่น เสียงแหบ ไอ และระคายคอเรื้อรัง หรือตัวของผู้สูงอายุเองมีคุณภาพชีวิตในการสื่อสารกับผู้อื่นน้อยลง เป็นต้น

 

 

ภาวะหูอื้อหรือหูตึง หมายถึง ภาวะที่ความสามารถในการรับเสียงแย่ลง มีการแบ่งระดับความรุนแรงของการเสียการได้ยินดังตารางด้านล่าง

 

 

ระดับการได้ยิน
ระดับความพิการ
ความสามารถในการเข้าใจคำพูด
0-25 เดซิเบล
ปกคิ
ไม่ลำบากในการรับฟังคำพูด
26-40 เดซิเบล
หูตึงน้อย
ไม่ได้ยินเสียงกระซิบ
41-55 เดซิเบล
หูตึงปานกลาง
ไม่ได้ยินเสียงพูดปกติ
56-70 เดซิเบล
หูตึงมาก
ไม่ได้ยินเสียงพูดที่ดังมาก
71-90 เดซิเบล
หูตึงรุนแรง
ได้ยินไม่ชัดแม้ต้องตะโกน
>90 เดซิเบล
หูหนวก
ตะโกนหรือใช้เครื่องขยายเสียงก็ไม่ได้ยิน

 

 

การที่คนเราสามารถรับเสียง อาศัยกลไก 2 ส่วน คือ

 

1.ส่วนนำเสียงและขยายเสียง ได้แก่ หูชั้นนอกและหูชั้นกลาง เมื่อคลื่นเสียงจากภายนอกผ่านเข้าไปในช่องหูจะไปกระทบแก้วหู มีการส่งต่อ และขยายเสียงโดยกระดูกหู 3 ชิ้นในหูชั้นกลางไปยังส่วนของหูชั้นในต่อไป ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในหูชั้นนอกและหูชั้นกลางของผู้สูงอายุจะทำให้เกิดภาวะหูอื้อหรือหูตึงได้ สาเหตุมักเกิดจากความผิดปกติของ

 

 

 หูชั้นนอก เช่น ขี้หูอุดตัน เยื่อแก้วหูทะลุ หูชั้นนอกอักเสบ เนื้องอกของหูชั้นนอก

 

 

 หูชั้นกลาง เช่น หูชั้นกลางอักเสบ น้ำขังอยู่ในหูชั้นกลาง ท่อยูสเตเซียน (ท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและโพรลงหลังจมูก) ทำงานผิดปกติ  โรคหินปูนในหูชั้นกลาง

 

 

2.ส่วนประสาทรับเสียง ได้แก่ ส่วนของหูชั้นในไปจนถึงสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่เรารู้และเข้าใจเสียงต่างๆ ความผิดปกติบริเวณนี้ของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ทำให้เกิดภาวะหูตึงหรือหูหนวกถาวร และบางโรคทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ สาเหตุมักเกิดจากความผิดปกติของ

 

 

 หูชั้นใน สาเหตุที่พบได้บ่อยสุด คือ ประสาทหูเสื่อมจากอายุ นอกจากนั้นการเสื่อมของเส้นประสาทหูอาจเกิดจากความผิดปกติ หรือการเป็นโรคระหว่งตั้งครรภ์ของมารดาเอง เช่น โรคหัดเยอรมัน การได้รับเสียงที่ดังมากๆ ได้ยินเสียงปืน เสียงระเบิด หรือเสียประทัด การได้รับเสียงที่ดังปานกลางในระยะเวลานานๆ ทำให้ประสาทหูเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น อยู่ในโรงงาน หรืออยู่ในคอนเสิร์ตที่มีเสียงดังมากๆ การใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหูเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ ยาขับปัสสาวะท่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ยาแอสไพริน ยาควินีน การบาดเจ็บของกะโหลกศีรษะแล้วมีผลกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน การติดเชื้อของหูชั้นใน เช่น จากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จากเชื้อซิฟิลิสหรือไวรัสเอดส์ การผ่าตัดหูแล้วมีการกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน มีรูรั่วติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน โรคมีเนียหรือน้ำในหูไม่เท่ากัน

 

 

 สมอง โรคของเส้นเลือด เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ เลือดออกในสมองจากไขมันเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เนื้องอกในสมอง เช่น เนื้องอกของเส้นประสาทหู และ/หรือ ประสาทการทรงตัว

 

 

 สาเหตุอื่นๆ เช่น โรคโลหิตจาง โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคเกล็ดเลือดสูงผิดปกติ โรคที่มีระดับยูริกในเลือดสูง โรคไต โรคเบาหวาน ความดันโลหิตต่ำหรือสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเหล่านี้สามารถทำให้หูอื้อหรือหูตึงได้

 

 

จะเห็นได้ว่าโรคที่ทำให้เกิดปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ มีสาเหตุได้ทั้งจากหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน แต่กล่าวโดยทั่วไป หากพูดถึงภาวะหูตึงในผู้สูงอายุ ก็มักจะหมายความถึง การสูญเสียการได้ยินจากประสาทรับเสียงเสื่อมตามวัย (age-related hearing loss หรือ presbycusis)

 

 

ปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ

 

ปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ของโรคเรื้อรังต่างๆ ที่เกิดกับผู้สูงอายุ โดยพบได้ถึงร้อยละ 25-40 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี โดยมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามวัย กล่าวคืออุบัติการณ์ของผู้สูงอายุที่มีประสาทรับเสียงเสื่อมตามวัย พบได้ตั้งแต่ร้อยละ 40-60 ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปี และเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 80 ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 85 ปี

 

 

โดยธรรมชาติแล้วการได้ยินจะค่อยๆ เสื่อมลงตามวัย การได้ยินบกพร่องของผู้สูงอายุจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และเสื่อมเท่ากันทั้ง 2 ข้างในช่วงความถี่สูง ซึ่งจะวินิจฉัยในผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี และไม่มีสาเหตุอื่นที่ทำให้การได้ยินบกพร่อง ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์เนื่องจากมีเสียงรบกวนในหู และมักมีปัญหาฟังไม่รู้เรื่อง หรือได้ยินเสียง แต่จับใจความไม่ได้ร่วมด้วย ซึ่งเป็นผลจากความเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลางตามวัยนอกเหนือไปจากหูชั้นในเสื่อม ทำให้มีปัญหาในการได้ยินมากกว่าผู้ที่มีการได้ยินบกพร่องในระดับเดียวกันที่มีอายุน้อยกว่า

 

 

การวินิจฉัยปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุจะอาศัยการซักประวัติถึงสาเหตุต่างๆ ที่เป็นไปได้ การตรวจหูชั้นนอก ช่องหู แก้วหู หูชั้นกลาง และบริเวณรอบหู การตรวจเลือด เพื่อหาความผิดปกติของเคมีในเลือด การตรวจปัสสาวะ การตรวจการได้ยินเพื่อยืนยัน และประเมินระดับความรุนแรงของการเสียการได้ยิน การตรวจคลื่นสมองระดับก้านสมอง และการถ่ายภาพรังสี เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือกระดูกหลังหู หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และการฉีดสารรังสีเข้าหลอดเลือด

 

 

แก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

 

การรักษาปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุนั้น แพทย์จะรักษาตามสาเหตุ อย่างไรก็ตามปัญรได้ยินที่เกิดจากพยาธิสภาพของหูชั้นใน เส้นประสาทหู และระบบประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะประสาทรับเสียงเสื่อมตามวัย มักจะรักษาไม่หายขาด ยกเว้นสาเหตุดังกล่าวเป็นสาเหตุที่รักษาได้ นอกจากนั้นถ้าเกิดจากประสาทรับเสียงเสื่อม ควรหาสาเหตุหรือปัจจัยที่จะทำให้ประสาทรับเสียงเสื่อมเร็วกว่าปกติ เพื่อหาทางชะลอความเสื่อมนั้นด้วย ส่วนประสาทหูเสื่อม บางรายไม่ทราบสาเหตุ หรือทราบสาเหตุแต่เป็นสาเหตุที่รักษาไม่ได้ ในกรณีนี้อาจหายเองหรืออาจจะเป็นอยู่ตลอดชีวิตก็ได้

 

 

ขั้นตอนการรักษาผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยิน หลังจากทราบสาเหตุแล้วมีดังนี้

 

 ในขั้นแรกแพทย์จะอธิบายให้ผู้สูงอายุเข้าใจว่าสาเหตุของปัญหาการได้ยินเกิดจากอะไร เป็นอันตรายหรือไม่ และจะหายหรือไม่

 

 

 ถ้ามีปัญหาการได้ยินไม่มาก ยังพอได้ยินเสียง ไม่รบกวนคุณภาพชีวิตประจำวันมากนัก คือ ยังพอสื่อสารกับผู้อื่นได้ หรือเป็นเพียงหูข้างเดียว อีกข้างยังดีอยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงแต่ทำใจยอมรับ

 

 

 ถ้ามีปัญหาการได้ยินมาก ไมค่อยได้ยินเสียง โดยเฉพาะถ้าเป็นสองข้าง และรบกวนคุณภาพชีวิตประจำวันมาก คือ ไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ โดยเกิดจากสาเหตุที่ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว ควรฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินด้วยการใช้เครื่องช่วยฟัง ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ร่วมกับการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะแก่การแยกแยะเสียงได้ชัดเจนขึ้น เช่น ลดเสียงรบกวน และให้คู่สนทนาอยู่ตรงหน้า ไม่พูดเร็วหรือพูดประโยคยาวเกินไป เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุจับใจความได้ชัดเจนขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตของตัวผู้ป่วยเองและของครอบครัวผู้ป่วยดีขึ้น

 

 

 ถ้าปัญหาการได้ยินเกิดจากประสาทรับเสียงเสื่อม ควรป้องกันไม่ให้ประสาทรับเสียงเสื่อมมากขึ้น โดย

 

 

1.หลีกเลี่ยงเสียงดัง

 

 

2.ถ้าเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคกรดยูริกในเลือดสูง โรคซีด โรคเลือดต้องควบคุมโรคให้ดี

 

 

3.หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู

 

 

4.หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุหรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู

 

 

5.หลีกเลี่ยงการติดเชื้อของหู หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน

 

 

6.ลดอาหารเค็มและเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มน้ำอัดลม (มีสารคาเฟอีน) งดการสูบบุหรี่ (มีสารนิโคติน)

 

 

7.พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียดวิตกกังวล

 

 

8.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

 

 

ปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุอาจมีสาเหตุจากประสาทหูเสื่อมจากอายุ ซึ่งไม่มีอันตรายร้ายแรงใดๆ หรือมีสาเหตุจากโรคที่อันตราย เช่น เนื้องอกของสมองหรือเส้นประสาทก็ได้ ปัญหาการได้ยินดังกล่าวอาจหายได้หรืออยู่กับผู้ป่วยตลอดชีวิตก็ได้ ดังนั้น อย่านิ่งนอนใจดีกว่าครับ เมื่อผู้สูงอายุที่ท่านรักมีปัญหาการได้ยิน ควรปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก เพื่อหาสาเหตุ แต่เนิ่นๆ

 

 

รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน โสต ศอ นาสิก

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจมูกและภูมิแพ้

(Some images used under license from Shutterstock.com.)