© 2017 Copyright - Haijai.com
กินอาหารใส่กล่องโฟมเสี่ยงเป็นมะเร็งจริงหรือ ?
ท่านผู้อ่านคงมีโอกาสได้สัมผัสข่าวทั้งจากหน้าหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์ขายและออนไลน์ หรือข่าวทางโทรทัศน์และวิทยุว่า “แพทย์เตือน! กล่องโฟมอันตราย ต้นเหตุมะเร็ง” จากนั้นข่าวก็เริ่มต้นบรรยายความน่ากลัวของการบริโภคอาหารบรรจุกล่องโฟม
ความน่ากลัวถูกกล่าวถึงในทำนองว่าสไตรีนทำลายไขกระดูก ตับ และไต ทำให้ผิวหนังแห้งแตก ความจำเสื่อมสมาธิสั้น มีผลต่อประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย โดยมีผลทำให้การเคลื่อนไหวและการทรงตัวไม่ดี เนื่องจากลดการประสานงานของกล้ามเนื้อ มีผลต่อการเต้นของหัวใจเป็นสารก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง นอกจากนี้ยังมีการประเมินความเสี่ยงของการใช้กล่องโฟมใส่อาหารว่า “ถ้ารับประทานอาหารกล่องโฟมทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 มื้อ ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งสูงกว่าคนปกติถึง 6 เท่า” จากนั้นก็มีการเพิ่มข้อมูลว่า “แม้แต่ไข่ดิบที่วางขายในแผงไข่พลาสติก สารสไตรีนก็ยังมีโอกาสวิ่งเข้าไปในเปลือกไข่ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าเลือกไข่ดิบก็ควรเลือกซื้อจากแผงไข่ที่เป็นกระดาษจะปลอดภัยที่สุด” ข้อมูลชุดนี้ขอให้ท่านผู้อ่านใช้วิจารณญาณเอาเองก็แล้วกัน ผู้เหนื่อยใจที่จะวิจารณ์
ก่อนอื่นผู้เขียนขอประกาศจุดยืนในเรื่องของภาชนะบรรจุอาหารที่ทำด้วยโฟมว่า โดยปกติแล้วผู้เขียนไม่นิยมใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารที่ซื้อกิน ดังนั้นถ้าเป็นไปได้เมื่อต้องซื้ออาหารนอกบ้าน เพื่อกลับไปกินที่บ้าน ผู้เขียนจะนำภาชนะของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นปิ่นโตที่ทำด้วยโลหะปลอดสนิมหรือกล่องพลาสติกชนิดที่มีคำรับรองว่า บรรจุอาหารได้ ไปใส่อาหาร
อะไรจะเกิดขึ้นถ้าต้องตกอยู่ในสภาวะต้องกินข้าวกระเพราไข่ดาวบรรจุกล่องโฟม คำตอบง่ายๆ คือ ไม่เกิดอะไรหรอก ถ้าร่างกายคุณยังแข็งแรงอยู่ โดยเฉพาะตับ ซึ่งเป็นอวัยวะทำลายสารพิษที่อาจหลุดออกมาจากกล่องโฟม แต่มีข้อแม้ว่าต้องไม่กินเหล้าและ/หรือสูบบุหรี่ เพราะเหล้านั้นทำลายตับ ส่วนควันบุหรี่บางส่วน (ซึ่งมีสารพัดสารพิษ) ก็ถูกกลืนลงกระเพาะส่งไปตับ
กล่องโฟมบรรจุอาหารนั้นทำมาจากเม็ดพลาสติก ชนิด โพลีสไตรีน (polystyrene) ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ สารนี้มีความแข็งจึงเปราะ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีความใส ผิวเรียบ เติมสีแล้วก็ยังใส ทนทานต่อกรดด่าง แต่ไม่ทนตัวทำละลายอินทรีย์ มีความเป็นฉนวนไฟฟ้า ไม่ดูดความชื้นแต่เลอะฝุ่นง่าย อย่างไรก็ดีปัจจุบันนี้สามารถทำให้มันมีความเหนียวด้วยกรรมวิธีพิเศษกลายเป็นสไตรีนทนแรงอัดสูง (high impact styrene) ผู้บริโภคเช่นเรา สัมผัสกับสารนี้กันเป็นประจำทุกวัน เพราะสารโพลีสไตรีนนั้นถูกนำมาแปรรูปได้หลายลักษณะ ตัวอย่างโพลีสไตรีนที่นำมาผลิตเป็นภาชนะพลาสติกที่เราสัมผัสในชีวิตประจำวัน เช่น กล่องใส่ซีดี ถ้วยใส่โยเกิร์ต กล่องใส่ยา กระถางต้นไม้ ด้ามมีดโกนหนวด มีดและช้อน-ส้อมพลาสติก แผ่นกระดานพลาสติก เทปพันสายไฟ เทปปิดสันหนังสือ รวมถึงหลอดทดลองและภาชนะที่ใช้ในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ต่างๆ เป็นต้น
สำหรับกล่องโฟมนั้นเป็นโพลีสไตรีนที่ถูกนำไปแปลงตัวด้วยกระบวนการผลิตเฉพาะ โดยมีการแทรกอากาศเข้าไปจนมีความเบาเป็นพิเศษ ดังนั้นในชีวิตประจำวันของเรานอกจากกล่องโฟมบรรจุอาหารแล้ว ท่านผู้อ่านอาจเคยสัมผัสโฟมขาวๆ ที่ติดอยู่กล่องกระดาษแข็งบรรจุโทรทัศน์ วิทยุ คอมพิวเตอร์ หรือทำเป็นกระทงวันเพ็ญเดือนสิบสอง ฯลฯ
จะเห็นว่าถ้าชีวิตเราขาดพลาสติกชนิดที่ทำจากโพลีสไตรีนแล้ว เราก็จะต้องหันกลับไปใช้วัสดุที่ทำจากธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มีราคาแพงกว่า หายากกว่า เนื่องจากเราได้ลดพื้นที่ป่าและพื้นที่ทำการเกษตรและอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ มากขึ้น
แล้วสิ่งที่หนังสือพิมพ์หรือสื่อออนไลน์มักยกมากล่าวว่า “พิษของสไตรีนจะทำลายไขกระดูก ทำลายตับ และไต...” นั้นหมายความว่าอย่างไร ความหมายของข้อความนี้มาจากคำอธิบายความเป็นพิษสาร สไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งเกิดขึ้นได้สำหรับผู้ที่ได้รับสารนี้ในระดับเป็น ส่วนในล้านส่วน (ppm) ซึ่งมักเป็นคนงานในโรงงาน ที่มีปัญหาในการกำจัดสารพิษที่ปนเปื้อนออกมาในสภาวะแวดล้อมภายในโรงาน ไม่ใช่ผู้ที่รับสารนี้ที่หลุดออกมาจากภาชนะบรรจุอาหาร รายละเอียดในเรื่องนี้ท่านสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ http://ntp.niehs.nih.gov/ntp/roc/twelfth/profiles/styrene.pdf
แม้ว่าข้อมูลความเป็นพิษของสารเคมีที่มักปรากฏในสื่อต่างๆ จะเป็นการใช้ข้อมูลผิดลักษณะก็ตาม แต่ผู้บริโภคก็ไม่ควรวางใจว่า สารพิษที่มีอยู่ในอาหารนั้นมีระดับต่ำกว่าที่จะก่ออันตรายทันทีทันใด ทั้งนี้เพราะบางครั้งการปนเปื้อนของสารพิษสู่อาหารนั้น อาจเกิดในปริมาณมาก เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุการปนเปื้อนด้วยความเข้าใจผิด ตัวอย่างเช่น กรณีที่มีการปนเปื้อนของไดออกซินในนมและผลิตภัณฑ์นมจากเดนมาร์คในปี พ.ศ.2542 และเรื่องเมลามีนในนมจากจีนเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง
หลายประเทศทางยุโรปซึ่งยอมให้มีการใช้กล่องโฟมบรรจุสินค้านั้น ได้กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการที่ต้องการใช้กล่องโฟม ต้องจ่ายค่ากำจัดขยะที่เกิดจากกล่องโฟม ซึ่งค่าใช่จ่ายนี้จะไปรวมอยู่กับราคาสินค้าที่ผู้บริโภคต้องจ่าย ซึ่งก็ยังถูกกว่าการเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ เช่น แป้งมันสำปะหลัง ใยพืชต่างๆ รวมถึงกระทงใบตอง ในการผลิตภาชนะบรรจุอาหาร
สำหรับในประเทศไทยนั้น การรณรงค์ให้ใช้วัสดุทดแทนโฟมนั้นยังอยู่ในลักษณะ “อนุรักษ์ธรรมชาติแต่ปาก” แบบว่า “อนุรักษ์พลังงานโดยการแบกจักรยานขึ้นรถไฟฟ้าไปรณรงค์ลดโลกร้อนในห้างสรรพสินค้าติดแอร์เย็นเฉียบ” ดังนั้นคำตอบของคำถามที่มักมีในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า ทำไมหน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยเกี่ยวกับภาชนะบรรจุอาหารถึงยังไม่ห้ามการใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร คำตอบน่าจะเป็นเพราะคนระดับบริหารของหน่วยงานที่ควรดูแลยังไม่จำเป็นต้องกินข้าวกระเพราไข่ดาวบรรจุกล่องโฟมนี่ครับ
รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ
นักพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)