Haijai.com


รับมืออารมณ์รุนแรง


 
เปิดอ่าน 2431

รับมืออารมณ์รุนแรง

 

 

ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และวัตถุต่างๆ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ผลักดันให้เราต้องใช้ชีวิตที่รวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ความที่เราเคยชินกับความรวดเร็วและการต้องได้มาซึ่งวัตถุต่างๆ นี้เอง เมื่อใดก็ตามที่เราไม่ได้รับในสิ่งเหล่านั้นก็ทำให้เราเกิดความไม่พอใจ และนำไปสู่การแสดงอารมณ์รุนแรงได้ในทันที หากมีการรับมือและจัดการกับอารมณ์รุนแรงนั้นได้ทัน ก็อาจจะไม่มีปัญหาอะไรกับตัวเองหรือผู้อื่น แต่หากรับมือไม่ทัน อารมณ์รุนแรงนั้นย่อมสร้างความเสียหายทั้งต่อตัวเอง และคนรอบตัวได้อย่างคาดไม่ถึง

 

 

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวที่หลายคนให้ความสนใจ ซึ่งเป็นข่าวที่สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ หรือรถโดยสารสาธารณะประเภทต่างๆ ได้ไม่น้อย

 

 

ข่าวแรก เป็นข่าวผู้โดยสารที่ใช้บริการรถตู้ประจำทางถูกคนขับรถตู้ใช้โทรศัพท์ปาศีรษะ และมีการชกต่อยกันเหตุการณ์นั้นเริ่มต้นที่มีรถกระบะขับออกมาจากซอยแล้วปาดหน้ารถตู้คันนั้นพอดี ทำให้คนขับรถตู้ไม่พอใจ เร่งขับรถไล่ติดตามและมีปากเสียงกับคนขับรถกระบะคันนั้น ผู้โดยสารที่นั่งมาด้วยจึงได้พูดจาตักเตือนคนขับรถตู้เรื่องการขับรถเร็ว แต่คนขับรถตู้ไม่พอใจ ผู้โดยสารจึงขอร้องให้หยุดรถเพราะต้องการลงจากรถเนื่องจากกลัวอันตราย แต่กลับกลายเป็นมีปากเสียงและถึงขั้นชกต่อยกัน ผู้โดยสารถูกคนขับรถตู้เอาโทรศัพท์ปาใส่ศีรษะจนเกิดบาดแผล

 

 

ข่าวที่สอง เป็นข่าวนักศึกษาหญิง 3 คนถูกคนขับรถแท็กซี่พยายามลวนลามและพูดจาแทะโลมระหว่างนั่งอยู่ในรถ นักศึกษาจึงได้เข้าร้องเรียนต่อผู้สื่อข่าว และคนขับรถแท็กซี่คนดังกล่าวได้ถูกตำรวจควบคุมตัวไว้ได้ในที่สุด

 

 

เหตุการณ์จากข่าวตัวอย่างข้างต้น สาเหตุหลักนั้นเกิดจากคนที่มีปัญหาในการจัดการกับอารมณ์รุนแรงของตัวเอง ทั้งความโกรธและความอยากที่เกิดขึ้น เราเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพบเจอกับใครหลายคนที่มีปัญหาในการจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง หรือแม้แต่ตัวเราเองก็เคยมีปัญหาเช่นนี้มาแล้วไม่มากก็น้อย

 

 

เราจะทำอย่างไรเมื่อต้องพบเหตุการณ์เช่นนี้ ?

 

ผมมีข้อแนะนำและเทคนิคง่ายๆ ที่อาจนำไปใช้รับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันเมื่อต้องตกอยู่ท่ามกลางอารมณ์รุนแรงของคนรอบตัวที่เราอาจพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งเมื่อเกิดกับตัวเราเอง ขอตั้งชื่อเทคนิคนี้ว่า “เทคนิค 5A”

 

 

Avoid คือการหลีกเลี่ยง เช่น ในกรณีนี้คือการหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอารมณ์รุนแรงนั้นๆ เช่น หลีกเลี่ยงจากการเดินทางในเวลาที่ไม่ปลอดภัย นั่นคือ ถ้าเป็นไปได้เราควรจัดเวลาในการเดินทางของเราให้เหมาะสม เผื่อเวลาไว้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเดินทางในเวลาดึกจนเกินไป หรือถ้าเป็นไปได้ควรมีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วย นี่ก็จะเป็นเทคนิคที่สามารถป้องกันเหตุการณ์ร้ายๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้น

 

 

Awake คือการปลุกความรู้สึกตัวของเราให้ตื่นตัวอยู่ตลอด นั่นก็คือการพกพาความมีสติไปกับเราตลอดเวลา หลายครั้งเราเอาแต่ก้มหน้าก้มตาและให้ความสนใจอยู่กับโทรศัพท์มือถือ หรือไม่ก็เหม่อลอยคิดถึงเรื่องที่ทำค้างไว้จากที่ทำงาน หรือใจลอยกลับไปถึงที่พักโดยไม่ทันรู้ตัว ซึ่งอาจทำให้เราไม่สามารถรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นได้ดีนัก เราจึงควรฝึกการรู้สึกตัว ยกตัวอย่างเช่น สังเกตลักษณะของรถที่โดยสารป้ายทะเบียน หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมของคนขับ เพื่อให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ทันที อย่าลืมว่าความมีสติจะทำให้เราปลอดภัยได้ในทุกสถานการณ์

 

 

Alter คือการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในที่นี้ก็คือการเปลี่ยนที่ตัวเราเองเป็นหลัก เพื่อลดปัจจับที่อาจกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ด้านลบขึ้น ตัวอย่างเช่น แต่งตัวให้รัดกุมขึ้นหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางกลางคืนคนเดียวได้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมขณะนั่งรถ เช่น เราไม่จำเป็นต้องพูดคุยหรือตอบทุกคำถามของคนขับ โดยหาทางเลี่ยงการตอบคำถามแบบสุภาพ เปลี่ยนตำแหน่งการนั่งรถจากเดิมที่นั่งตามสบาย ก็เปลี่ยนมานั่งตรงตำแหน่งด้านหลังที่ตรงกับที่นั่งคนขับ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยที่สุด เป็นต้น นอกจากนี้การฝึกสร้างอารมณ์ขันและรอยยิ้มในสถานการณ์ที่ตึงเครียด ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพอย่างเหลือเชื่อที่จะช่วยให้เกิดการผ่อนคลายท่ามกลางอารมณ์ที่รุนแรงเหล่านี้

 

 

Adapt คือการปรับให้เหมาะสม หมายถึงการปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาให้เหมาะสมตามสถานการณ์ เมื่อใดก็ตามที่เราตกอยู่ท่ามกลางอารมณ์รุนแรงของคนรอบตัว  การเริ่มปรับที่ตัวเราเองก่อน จะนำไปสู่การคลี่หลายสถานการณ์ได้อย่างสันติ เราต้องเรียนรู้ที่จะหยุดเสียก่อน การหยุดเป็นวิธีระงับความรุนแรงของอารมณ์อาจทวีมากขึ้นได้โดยทันที จากนั้นเราจะเริ่มปรับตัวและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ใช้ความรุนแรงหรือเติมเชื้อเพลิงโดยการกระตุ้นให้อารมณ์รุนแรงของคนอื่นเพิ่มมากขึ้นไปอีก หรือทำให้เขาตกใจจนเปลี่ยนเป็นใช้ความรุนแรงกับเราในเวลาต่อมา

 

 

Accept คือการยอมรับ บ่อยครั้งที่เรามีส่วนทำให้สถานการณ์รุนแรงนั้นแย่ลง ส่วนใหญ่เกิดจากการที่เราขาดการยอมรับอารมณ์รุนแรงของเราเอง ทำให้เราคอยแต่ตำหนิ กล่าวโทษ และโยนความผิดทั้งหมดไปที่ผู้อื่นเสมอ การยอมรับว่าเราเองก็มีอารมณ์รุนแรงเกิดขึ้นเช่นกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการแปรเปลี่ยนอารมณ์ร้ายในใจเราให้ดีขึ้น โดยไม่เป็นการบีบคั้นตัวเองให้ต้องกดข่มอารมณ์ไม่ดีนั้นไว้ เมื่อยอมรับอารมณ์รุนแรงของได้ ก็จะนำไปสู่การยอมรับอารมณ์รุนแรงของผู้อื่นได้เช่นกัน ซึ่งจะสามารถทำให้เราแปรเปลี่ยนอารมณ์ด้านลบทั้งของตัวเราเอง และคนอื่นได้เองโดยอัตโนมัติและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ ตามมา

 

 

ปัจจุบันเราคงหลีกเลี่ยงการพบเจอกับอารมณ์รุนแรงเหล่านี้ไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกที่จะฝึกฝนและเตรียมตัวรับมือกับอารมณ์รุนแรงเหล่านี้ได้เสมอ โดยอาจเริ่มต้นที่ตัวเราหรือเหตุการณ์เล็กๆ ในชีวิตประจำวันดูก่อน ผมหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ เพื่อรับมือกับอารมณ์รุนแรงทั้งของตัวเอง และผู้อื่นได้ดีขึ้นไม่มากก็น้อยนะครับ

 

 

นพ.ชวโรจน์ เกียรติกำพล

แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

(Some images used under license from Shutterstock.com.)