
© 2017 Copyright - Haijai.com
โรคสุกใสและงูสวัด
ใครต่อใครรู้จักโรคสุกใสและโรคงูสวัด หลายคนตอนเป็นเด็กคงจะเคยเป็นโรคสุกใส มีผื่นกระจายรอบตัว ส่วนในผู้ใหญ่บางท่านก็พบโรคงูสวัด มีอาการออกผื่นและปวดรุนแรง ทั้งยังมีความเชื่อว่าถ้าเป็นงูสวัดรอบตัวจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต จึงทำให้งูสวัดเป็นโรคที่น่ากลัว หลายท่านจึงพากันไปหาการรักษาทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและแผนโบราณ อย่างไรก็ตามในกรณีการใช้ยากลางบ้านนั้น ถ้ายาที่ผลิตไม่สะอาด อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน โรคจึงหายช้าไปอีก การทำความรู้จักโรคทั้งสองตัว จะช่วยให้พวกเราสามารถวางแผนการดำเนินชีวิตและตัดสินใจเลือกการรักษาได้อย่างถูกต้อง
สาเหตุ
โรคสุกใสและงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเฮอร์ปีส์ (Herpes) ชื่อ Varicellazoster โรคสุกใสมักจะพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ แต่ปัจจุบันอาจพบบ่อยในวัยรุ่น ส่วนโรคงูสวัดมักพบในผู้ใหญ่ โดยไวรัสที่ก่อโรคสุกใสในวัยเด็กบางส่วนเข้าไปหลบซ่อนในปมประสาท ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายไม่สามารถทำลายเชื้อได้ พอมีอายุมากขึ้นภูมิต้านทานต่อไวรัสสุกใสลดลง และ/หรือสุขภาพร่างกายอ่อนแอ ไวรัสก็จะเคลื่อนที่ออกจากปมประสาทไปตามเส้นประสาท เข้าทำลายผิวหนังบริเวณปลายประสาท จนเกิดเป็นตุ้มน้ำใสเฉพาะที่ ปมประสาทที่เชื้อไวรัสมักจะไปแอบแฝง ได้แก่ ปมประสาทส่วนคอเส้นที่ 2 (cervical spinal nerve root 2 = C2) ถึงปมประสาทไขสันหลังส่วนสะโพกเส้นที่ 2 (lumbar spinal nerve root 2 = L2) นอกจากนี้เชื้ออาจจะไปหลบอยู่ในปมประสาทส่วนกลาง (cranial nerve) ที่ 5 และ 7 ทำให้เกิดงูสวัดบนใบหน้า
อาการ
เชื้อสุกใสเข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินหายใจหรือการสัมผัสกับผื่นที่ยังไม่ตกสะเด็กโดยตรง ดังนั้นจึงมีการระบาดของโรคนี้ในนักเรียนชั้นประถมศึกษาระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 2 สัปดาห์ เด็กจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย แต่ในเด็กที่สุขภาพแข็งแรงอาจไม่มีอาการดังกล่าว หลังจากนั้น 1-2 วัน จะเริ่มมีตุ่มแดง และเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำพองตรงกลางตุ่มแดงภายใน 6-24 ชั่วโมง ผื่นกระจายบริเวณลำตัว ใบหน้า หนังศีรษะ บางรายมีแผลในช่องปากร่วมด้วย ผื่นโรคสุกใสทยอยขึ้นเป็นชุดๆ ในระยะ 3-5 วัน ตุ่มใสเปลี่ยนเป็นตุ่มหนองภายใน 5 วัน และแห้งตกสะเก็ดภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าตุ้มอักเสบเป็นลึก จะเกิดรอยแผลเป็น
โรคสุกใสถ้าเกิดในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อาการมักรุนแรง พบรอยตุ่มใสจำนวนมาก ขนาดแผลใหญ่และลึก เมื่อหายจึงเหลือรอยแผลเป็น และบางรายอาจพบอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคมะเร็ง หรือภูมิต้านทานบกพร่อง เชื้ออาจรุกรานถึงอวัยวะภายในจนเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
โรคงูสวัดมักจะพบในผู้ใหญ่ พบน้อยในเด็ก โดยมีอาการนำคือ ปวดบริเวณผิวหนัง และพบผื่นหลังจากอาการปวดประมาณ 5 วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการไข้อ่อนเพลีย ร่วมกับอาการปวดบริเวณผิวหนัง อาการปวดในระยะแรกพบบริเวณใกล้ปมประสาท และค่อยปวดร้าวลามตามแนวประสาท ในบางรายอาการปวดนำรุนแรงโดยยังไม่พบรอยโรคผิวหนัง แพทย์อาจวินิจฉัยผิดว่าเป็นอาการปวดของโรคหัวใจขาดเลือด หรือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ถ้าผื่นขึ้นเร็ว ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้ทัน โดยไม่ต้องเจ็บตัวจากการผ่าตัด ผู้ป่วยบางรายก่อนผื่นขึ้นจะปวดท้องร้าวไปที่ขาคล้ายกับอาการของนิ่วในท่อปัสสาวะ
รอยโรคงูสวัดเป็นตุ่มใสเหมือนสุกใส โดยตุ่มใสจะรวมเป็นกลุ่มๆ เรียงตามแนวประสาทและลามกระจายตลอดแนวภายใน 1 สัปดาห์ จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นตุ่มหนองและแห้งตกสะเก็ดภายใน 1-2 สัปดาห์ โรคงูสวัดจะกระจายเป็นแนวด้านซ้ายหรือขวาของร่างกายด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น เพราะปมประสาทจะแบ่งเป็นด้านซ้ายขวาชัดเจน เช่น ถ้าเชื้อไปแอบอยู่ที่ปมประสาทซ้าย ก็จะเกิดรอยโรคเฉพาะซีกซ้าย ไม่มีทางจะเกิดผื่นงูสวัดรอบตัวอย่างที่กลัวกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเชื้อไวรัสอยู่ในปมประสาทของประสาทไขสันหลังหน้าอกเส้นที่ 4 ด้านซ้าย (left thoracic spinal nerve root 4) ก็จะพบผื่นเฉพาะบริเวณราวนมด้านซ้ายไม่มีการลามไปด้านขวา อย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวร้ายแรง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เชื้อไวรัสอาจลามกระจายไปทั่วตัวแบบโรคสุกใส และอาจทำให้เสียชีวิตได้
ผู้ป่วยโรคนี้ที่มีอายุน้อย อาการไม่รุนแรง ผื่นจะหายเองได้ใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าพบในผู้สูงอายุ อาการปวดและการทำลายชั้นผิวหนังจะรุนแรง เมื่อหายจึงมีรอยแผลเป็นขนาดใหญ่ และอาจมีอาการปวดต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน (postherpetic neuralgia) เนื่องจากมีการซ่อมแซมปลายประสาทในบริเวณดังกล่าว ไม่ใช่เพราะเชื้อไวรัสหลงเหลืออยู่ในรอยแผลเป็นอย่างที่เข้าใจกัน ดังนั้น ผู้ป่วยสูงอายุจึงต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยป้องกันอาการปวดเรื้อรัง เพราะการได้รับยา acyclovir ในระยะอาการอักเสบเริ่มต้นจะช่วยป้องกันการปวดเรื้อรังได้ นอกจากนี้ถ้าผื่นโรคงูสวัดบริเวณเส้นประสาทส่วนกลางที่ 5 บริเวณใบหน้าลามไปถึงปลายจมูก เชื้อไวรัสจะเข้าไปทำลายม่านตา ทำให้เกิดปัญหาต้อหินตามมา ในกรณีนี้ก็จำเป็นต้องให้การรักษาอย่างเร่งด่วนเช่นกัน คนที่มีสุขภาพปกติเมื่อเป็นงูสวัดร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อโรคนี้ได้ตลอดชีวิต จึงไม่กลับเป็นซ้ำอีก แต่ในผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ถ้ายังไม่มีภูมิต้านทานไวรัสสุกใส ก็จะติดเป็นโรคสุกใสได้
การรักษา
โรคงูสวัดไม่ใช่โรคร้ายแรงสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา ในปัจจุบันมียา acyclovir ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงรักษาโรคงูสวัดได้ผลดีมาก แต่ต้องรับประทานให้เพียงพอในระยะ 48 ชั่วโมงแรก ดังนั้น ถ้าสงสัยว่าเป็นงูสวัดจึงควรรีบปรึกษาแพทย์ ยา acyclovir ซึ่งมีทั้งชนิดรับประทานและฉีดเข้าหลอดเลือด จะช่วยให้ผื่นยุบหายเร็วขึ้นและยังสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนซึ่งจะเกิดตามมา
ในปัจจุบันมีการโฆษณาให้ฉีดวัคซีนสุกใสเพื่อป้องกันโรคสุกใส ในเด็กมีการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง คือ เข็มแรกอายุ 1 ขวบ (12-18 เดือน) เข็มที่ 2 เมื่ออายุ 4-5 ขวบ พบว่าสามารถป้องกันโรคสุกใสได้ร้อยละ 98 แต่จะลดการเกิดโรคสุกใสหรือโรคงูสวัดในผู้ใหญ่เมื่อภูมิคุ้มกันต่อไวรัสลดลงได้ หรือไม่คงต้องเฝ้าติดตามผลในระยะยาว เพราะโรคงูสวัดเกิดในผู้สูงอายุ
รศ.พญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)