Haijai.com


ความผิดปกติในการนอน


 
เปิดอ่าน 4062

ความผิดปกติในการนอน

 

 

การนอนหลับเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต โดยพบว่า 1 ใน 3 ของชีวิตคนเราใช้ไปกับการนอนหลับ และการนอนนี้เองยังสร้างได้ทั้งความสุขและความทุกข์ให้กับชีวิต โดยผู้ที่มีปัญหาการนอนที่ผิดปกติจะส่งผลเสียต่อทั้งด้านอารมณ์สมองและร่างกาย ได้อย่างมาก

 

 

การนอนหลับปกติ

 

วงจรของการนอนหลับแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะการนอนหลับที่ไม่มีการกลอกตาอย่างเร็ว (NREMS: non-rapid eye movement sleep) และระยะการนอนหลับที่มีการกลอกตาอย่างเร็ว (REMS: rapid eye movement sleep) เมื่อคนเราเริ่มนอน คลื่นสมองจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระยะ NREM ก่อน โดยในระยะนี้จะเป็นภาวะสงบ คลื่นสมองมีการทำงานน้อยลง อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจจะช้าลง อาจพบการขยับตัวได้บ้าง และต่อมาสมองก็จะเริ่มเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า REM ซึ่งในระยะนี้สมองและร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากระยะ NREM อย่างชัดเจน ได้แก่ สมองจะมีการทำงานที่มากขึ้นมีการเต้นของหัวใจและการหายใจที่เร็วขึ้น ในขณะที่กล้ามเนื้อส่วนใหญ่ของร่างกายจะอยู่ในสภาพอัมพาตไม่สามารถขยับได้ แต่จะมีการกลอกตาไปมาอย่างรวดเร็ว ในเพศชายอาจพบอวัยวะเพศแข็งตัวได้ในระยะนี้ โดยวงจรการนอนหลับจะเริ่มจาก NREM และเข้าสู่ระยะ REM และหลังจากนั้นจะย้อนกลับมาเป็น NREM และสลับไปมาจนถึงเวลาตื่น

 

 

ระยะเวลาในการนอนหลับของคนเราจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุ เด็กทารกจะเป็นช่วงที่ต้องการการนอนมากที่สุด หลังจากนั้นปริมาณการนอนจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยในทารกแรกเกิดอาจจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันไปกับการนอนมากถึง 18 ชั่วโมง ส่วนวัยผู้ใหญ่จะต้องการการนอนเฉลี่ยเพียง 7-8 ชั่วโมงต่อวัน อย่างไรก็ตามคนบางส่วนอาจจะต้องการการนอนที่มากกว่าหรือน้อยกว่านี้ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ง่วงนอน โดยแบ่งเป็น

 

 

 กลุ่มนอนน้อย (short sleeper) คนกลุ่มนี้ต้องการนอนเพียง 5-6 ชั่วโมงต่อวันก็เพียงพอ สามารถทำงานได้ และรู้สึกว่านอนพอ

 

 

 กลุ่มนอนยาว (long sleeper) คนกลุ่มนี้ต้องการการนอนมากกว่า 12 ชั่วโมงในหนึ่งคืนถึงจะเพียงพอ

 

 

ปริมาณความต้องการนอนเฉลี่ยต่อวันตามช่วงอายุ

 

ช่วงอายุโดยเฉลี่ย
ปริมาณความต้องการนอนเฉลี่ยต่อวัน

ทารกแรกเกิด – 1 ปี

14-18 ชั่วโมง

อายุ 1-3 ปี

12-15 ชั่วโมง

อายุ 3-5 ปี

11-13 ชั่วโมง

อายุ 5 ปี – วัยรุ่น

9-11 ชั่วโมง

วัยผู้ใหญ่ – ผู้สูงอายุ

7-8 ชั่วโมง

 

 

ความผิดปกติในระยะเวลาของการนอน (Dyssomnia)

 

ความผิดปกติในเรื่องการนอนสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ความผิดปกติในระยะเวลาของการนอน (Dyssomnia) และความผิดปกติของพฤติกรรมในขณะนอน (Parasomnia) ในนี้จะกล่วถึงความผิดปกติประเภทแรกก่อน

 

 

ความผิดปกติในระยะเวลาของการนอน จะเป็นความผิดปกติของระยะเวลาและคุณภาพของการนอนหลับ โดยพบได้ 2 แบบ คือ นอนไม่หลับ (Insomnia) กับนอนหลับมากเกินไป (hypersomnia) ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยที่สุด จะเป็นเรื่องของการนอนไม่หลับ

 

 

กลุ่มนอนไม่หลับ (Insomnia Disorder)

 

ภาวะนอนไม่หลับ หมายถึง การที่ผู้ป่วยมีปัญหาในการเริ่มต้นหลับโดยต้องใช้เวลานานถึงจะหลับได้ หรือไม่สามารถนอนหลับได้ต่อเนื่องมีผลให้หลับๆ ตื่นๆ หรือตื่นเร็วกว่าที่ตั้งใจไว้ และไม่สามารถนอนต่อได้ พบภาวะนี้ได้บ่อยมาก (ประมาณร้อยละ 10 ในบุคคลทั่วไป) ผลเสียจากการนอนไม่หลับที่เด่นชัดคือ การทำงานของสมองมีปัญหาทำให้สมาธิไม่ดี ความจำแย่ลง การตัดสินใจช้าลง รวมถึงพูดติดขัด ผิดๆ ถูกๆ มากขึ้น และในระยะยาวยังส่งผลต่อสุขภาพกาย ทำให้ร่างกายเป็นโรคอื่นๆ ได้ง่ายอีกด้วย

 

 

สาเหตาของภาวะนอนไม่หลับอาจจะมาจาก

 

1.โรคทางด้านจิตเวช เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่นอนไม่หลับเกิดจากสาเหตุนี้ เนื่องจากอาการนอนไม่หลับเป็นอาการหนึ่งพบได้ในโรคซึมเศร้า (depression) และกลุ่มโรควิตกกังวล (anxiety disorder)

 

 

2.โรคทางกาย การใช้ยาหรือสารเสพติด เป็นสาเหตุที่พบได้รองลงมา คือผู้ป่วยมีโรคทางกายบางอย่างที่ทำให้นอนหลับไม่สนิท เช่น มีอาการปวด มีโรคทางสมองที่รบกวนการนอน หรือเกิดจากการใช้ยาหรือสารเสพติดบางอย่าง เช่น ยาบ้า สุรา เป็นต้น

 

 

3.ไม่พบสาเหตุ (primary insomnia) กลุ่มนี้คือการที่ผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับ โดยที่ตรวจไม่พบสาเหตุใดๆ ที่ชัดเจน

 

 

การรักษาภาวะนอนไม่หลับ ต้องเริ่มจากการสร้างสุขลักษณะการนอนที่ดี อันได้แก่

 

 พยายามเข้านอนและตื่นในเวลาเดียวกันทุกวัน

 

 ไม่นอนในเวลากลางวัน หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ไม่ควรนอนเกินกว่า 1 ชั่วโมง เพราะยิ่งนอนกลางวันมาก ก็จะทำให้กลางคืนหลับยากยิ่งขึ้น

 

 งดสารกระตุ้นประสาททุกชนิด เช่น ชา กาแฟ หากจำเป็นต้องดื่ม ก็ไม่ควรดื่มหลังจากเที่ยงวัน

 

 ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน แต่ไม่ควรออกกำลังกาย 4 ชั่วโมงก่อนเวลานอน เพราะจะทำให้ตื่นตัวและหลับยากยิ่งขึ้น

 

 งดอาหารหนักก่อนเวลาเข้านอน แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้หิวมากก่อนเวลานอน ซึ่งหากหิวจริงๆ ควรรับประทานเพียงอาหารเบาๆ เท่านั้น

 

 จัดห้องนอนให้เงียบ สบาย อากาศถ่ายเท ไม่มีสิ่งรบกวน

 

 หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดความตื่นเต้น หรือตื่นตัวก่อนเวลาที่จะนอน เช่น ดูหนังที่ตื่นเต้นมากๆ หรือเปิดเพลงร็อคเสียงดัง

 

 ลุกจากที่นอนทันทีเมื่อตื่นตอนเช้า ไม่นอนแช่บนเตียงนานๆ

 

 หลีกเลี่ยงการขบคิดปัญหาต่างๆ ที่เครียดและจริงจังช่วงก่อนเข้านอน

 

 เมื่อเข้านอนไปสักระยะแล้วยังนอนไม่หลับ ให้เปลี่ยนอิริยาบถ ด้วยการลุกไปทำอย่างอื่นที่ไม่เร้ามากสักระยะ เช่น อ่านหนังสือ เปิดเพลงเบาๆ โดยไม่ต้องเปิดไฟสว่างมาก และเมื่อรู้สึกง่วงก็ค่อยกลับมานอนใหม่

 

 

อย่างไรก็ตามถ้าทำการปรับสุขนิสัยแล้วการนอนยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอย่างอื่นที่ทำให้สงสัยว่าภาวะนอนไม่หลับมาจากโรคทางด้านจิตเวชหรือโรคทางกาย ควรไปพบแพทย์ ซึ่งอาจจะมีการสั่งยาเพื่อรักษาภาวะนี้ ยาที่ใช้รักษาอาจแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่

 

 

1.กลุ่มยาคลายกังวล เป็นยาในกลุ่ม benzodiazepine ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ lorazepam, diazepam และ clonazepam ยาถูกเรียกว่ายาคลายกังวลเพราะตัวยามีฤทธิ์ช่วยลดอาการวิตกกังวลได้ และยังมีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนด้วย จึงสามารถใช้ในกรณีนอนไม่หลับได้ ยากลุ่มนี้จัดเป็นยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและเป็นยาควบคุม แพทย์ต้องเป็นคนสั่งจ่ายยาเท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อเองได้ (นอกจากซื้อแบบผิดกฎหมาย)

 

 

2.กลุ่มยานอนหลับ ยาในกลุ่มนี้คือยาใช้เพื่อช่วยเรื่องนอนไม่หลับเพียงอย่างเดียว ไม่มีฤทธิ์คลายกังวลตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น zolpidem และ melatonin ข้อดีของยาในกลุ่มนี้คือ ไม่ค่อยพบเรื่องของการติดยา และมีผลข้างเคียงน้อย ยา zolpidem ถือว่าเป็นยาค่อนข้างใหม่ และเป็นยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท จึงเป็นยาควบคุมเช่นกัน ส่วน melatonin ในต่างประเทศถูกจัดว่าเป็นอาหารเสริม ทำให้สามารถซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยา และเป็นยาที่แนะนำให้ใช้สำหรับการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ แต่ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีขายสักเท่าไหร่

 

 

3.ยาอื่นๆ ยากลุ่มนี้จริงๆ คือ ยาที่ใช้รักษาภาวะอื่น แต่เนื่องจากมีฤทธิ์ง่วงนอนด้วย ทำให้บางครั้งสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยเรื่องการนอนด้วย ทำให้บางครั้งสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยเรื่องการนอนได้ เช่น ยา trazodone และ mirtazapine (ยาต้านเศร้า) หรือ chlorpheniramine-CPM (ยาแก้แพ้) เป็นต้น

 

 

การใช้ยานอนหลับนั้น ควรใช้ขนาดน้อยที่สุด และใช้ในระยะสั้นๆ หากจำเป็นต้องใช้ในระยะยาว ควรหยุดยาเป็นช่วงๆ หรือใช้เฉพาะเมื่อนอนไม่หลับเท่านั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันทุกวันไปเรื่อยๆ และการใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายน้อย ในขณะที่การซื้อยานอนหลับรับประทานเอง ทำให้เกิดอันตรายได้มาก

 

 

กลุ่มนอนหลับมากเกินไป (Hypersomnia)

 

ความปกติในกลุ่มนี้พูดง่ายๆ คือ ผู้ป่วยจะมีการนอนหลับที่มากเกินปกติ แม้ว่าผู้ป่วยจะนอนมากกว่า 7-8 ชั่วโมง ก็ยังไม่พอ ทำให้ปลุกตื่นยาก ตื่นมาก็จะงัวเงียเป็นเวลานาน และมักจะต้องนอนกลางวันบ่อยๆ โดยภาวะนอนหลับมากเกินไปนี้ พบได้น้อยมาเมื่อเทียบกับภาวะนอนไม่หลับ โดยพบเพียงไม่เกินร้อยละ 1 ของคนทั่วไป โรคที่พบบ่อยว่าเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะนี้ ได้แก่ โรคลมหลับ (narcolepsy) และการหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นต้น

 

 

นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ

จิตแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)