© 2017 Copyright - Haijai.com
แทนไตด้วยไตเทียม
ตอนที่แล้ว ผู้อ่านคงทราบแล้วว่าเมื่อป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ไตจะเสื่อมลงเรื่อยๆ จนเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ป่วยต้องรับการรักษาทดแทนไต ซึ่งมีอยู่ 3 วิธี ได้แก่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ตรงจุดนี้เทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันได้มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ทำให้ผลการรักษาดีขึ้นกว่าในอดีต ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สามารถมีชีวิตยืนยาวขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พ.ต.อ.นพ.ธนิต จิรนันท์ธวัช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตและการบำบัดทดแทนไต โรงพยาบาลตำรวจมาอธิบายรายละเอียด ข้อมูลการรักษาทั้งหมดนี้ให้เราได้ทราบ
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป จะเป็นการฟอกเลือดที่เรียกว่า hemodialysis ซึ่งอาศัยกระบวนการแพร่ (diffusion) เป็นหลักในการขจัดของเสียออกจากเลือด อย่างไรก็ตามของเสียบางชนิดถูกขจัดด้วยกระบวนการดังกล่าวได้น้อย จึงมีการคิดค้นวิธีฟอกเลือดแบบใหม่ คือ hemofiltration ซึ่งวิธีนี้จะไม่มีการใช้น้ำยาล้างไต ของเสียจะถูกขจัดออกโดยกระบวนการพา (convection) สามารถขจัดของเสียโมเลกุลใหญ่ได้ดีขึ้น แต่ขจัดออกโดยกระบวนการพา (convection) สามารถขจัดของเสียโมเลกุลใหญ่ได้ดีขึ้น แต่ขจัดของเสียโมเลกุลเล็กได้น้อย ทั้งยังมีวิธีการทำที่ยุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูง จึงไม่นิยมใช้โดยทั่วไป อย่างไรก็ตามเทคนิคนี้ได้ถูกพัฒนาต่อยอดเป็นวิธีฟอกเลือดแบบ hemodiafiltration ซึ่งเป็นลูกผสมของ hemodialysis และ hemofiltration วิธีนี้จะเพิ่มปริมาณน้ำเข้าสู่ตัวผู้ป่วยแล้วขับออก โดยการใส่น้ำที่หมุนเวียนและขจัดออกจากร่างกาย อีกทั้งได้มีการพัฒนาตัวกรองเลือดที่ออกแบบพิเศษ เพื่อให้สามารถใส่น้ำบริสุทธิ์เข้าไปในตัวกรองได้โดยตรง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขจัดของเสียให้มากขึ้น ข้อดีของเทคนิค hemodiafiltration คือ มีประสิทธิภาพในการขจัดของเสียสูง สามารถขจัดของเสียทั้งโมเลกุลเล็กและใหญ่ได้ทั้งสองประเภท ทำให้ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวของการฟอกเลือดเกิดขึ้นน้อยลง แต่ข้อเสียของเทคนิคนี้คือ ต้องอาศัยเครื่องไตเทียมเฉพาะที่ทันสมัยขึ้น น้ำที่ใช้ต้องมีความบริสุทธิ์สูงมาก และพยาบาลต้องได้รับการฝึกอบรมให้ใช้เครื่องไตเทียมประเภทนี้ได้เป็นอย่างดี
การล้างไตทางช่องท้อง
การล้างไตทางช่องท้องแบบมาตรฐานเดิม (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis, CAPD) ทำได้โดยการวางสายยางเข้าช่องท้อง แล้วปล่อยน้ำยาทิ้งไว้ในช่องท้อง 4 ชั่วโมง แล้วจึงระบายน้ำยาออก ทำอย่างนี้วันละ 4 ครั้ง ทุกวันตลอดชีวิต วิธีนี้อาจไม่สะดวกสำหรับผู้ป่วยที่ยังต้องทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน เนื่องจากต้องเตรียมอุปกรณ์และน้ำยาล้างไตเพื่อไปเปลี่ยนน้ำยาล้างไตขณะที่อยู่นอกบ้านด้วย แต่ในปัจจุบันมีการใช้เครื่องอัตโนมัติในการล้างไตทางช่องท้อง (Automated Peritoneal Dialysis, APD) ในการควบคุมการไหลเข้าออกของน้ำยาอย่างอัตโนมัติ ทำให้สามารถลดจำนวนครั้งของการล้างไต จากเดิมวันละ 4 ครั้ง เป็นวันละครั้ง โดยต่อเครื่องเข้ากับสายยางที่ช่องท้องตอนก่อนนอน และปลดเครื่องออกเมื่อตื่นนอนตอนเช้า วิธีนี้จึงไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันในช่วงเวลากลางวันของผู้ป่วย ตลอดจนลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากลดจำนวนการเปลี่ยนน้ำยาต่อวันลง
การปลูกถ่ายไต
การปลูกถ่ายไตไม่ใช่การตัดไตอันเดิมที่เสื่อมออกจากร่างกาย แต่เป็นการนำไตใหม่จากร่างกายคนอื่นมาใส่เพิ่มเข้าไป โดยที่ไตเดิมยังอยู่ แต่จะฝ่อลงและไม่ทำงาน ทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ไม่ต้องล้างไตอีกต่อไป โดยก่อนรับการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องได้รับการล้างไตฟอกเลือดจนสุขภาพคงที่ แล้วรักษาอาการแทรกซ้อนเนื่องจากโรคไต เช่น เลือดจาง ให้ดีขึ้นเสียก่อน เพื่อจะได้ทนต่อการผ่าตัดได้ ไตที่จะนำมาปลูกถ่ายจะมีที่มา 2 แหล่งด้วยกัน ได้แก่ จากญาติใกล้ชิด ซึ่งมีอัตราความสำเร็จสูงกว่าร้อยละ 95 และจากการบริจาคของผู้เสียชีวิตทางสมอง ไตที่ได้โดยวิธีการนี้จะมีภาวะขาดเลือดบางส่วน เพราะเวลาผู้บริจาคใกล้เสียชีวิต ความดันเลือดจะไม่คงที่ และต้องตรวจสอบการเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อให้ใกล้เคียงกันมากที่สุดก่อนทำการผ่าตัด เนื่องจากเป็นไตของผู้อื่น
ปกติหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะอยู่โรงพยาบาลประมาณ 2 สัปดาห์ โดยหากไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใด อาจจะออกจากโรงพยาบาลได้เร็วกว่านั้น เช่น ภายใน 10 วัน แต่ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนอาจต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานถึง 3-4 สัปดาห์ โดยหลังออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยต้องดูแลตัวเอง รับประทานยาให้ตรงเวลาครบทุกมื้อ มาตรวจตามนัดแพทย์จะตรวจร่างกาย ตรวจเลือดและปัสสาวะ และปรับยาให้เหมาะสม ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ผู้ป่วยหยุดพักต่ออีก 2 สัปดาห์ถึงหนึ่งเดือน จากนั้นจึงจะให้ผู้ป่วยเริ่มทำงานจากเบาจนเพิ่มเป็นปกติได้
ยากดภูมิคุ้มกันใหม่ๆ ที่ใช้กับผู้ป่วยปลูกถ่ายไต เป็นยาที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ให้ผลการรักษาที่ดี โดยจะเลือกกดภูมิคุ้มกันที่จะมุ่งทำลายไตที่เปลี่ยนเข้ามาใหม่ โดยยังคงความสามารถของภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ในการต่อต้านเชื้อโรคไว้
ผู้ป่วยควรพึงตระหนักอยู่เสมอว่า แม้ว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไตแล้ว แต่ก็ยังเป็นผู้ป่วยโรคไตอยู่ เพียงแต่ไม่ต้องมารับการล้างไตเท่านั้น ทว่ายังต้องปฏิบัติตนตามที่แพทย์แนะนำโดยเคร่งครัด รวมถึงการใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะยากดภูมิคุ้มกัน เนื่องจากไตที่ได้จากบุคคลอื่น ก็เปรียบเสมือนวัตถุแปลกปลอมในสายตาของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน จึงต้องมีการใช้ยาดังกล่าว เพื่อให้ไตอยู่กับร่างกายผู้ป่วยได้นานที่สุด อย่างไรก็ตามเนื่องจากภูมิคุ้มกันคือทหารที่ต่อสู้กับเชื้อโรคจากภายนอก เมื่อการทำงานของภูมิคุ้มกันลดลงด้วยยากดภูมิคุ้มกันแล้ว ผู้ป่วยจึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ถ้ามีเรื่องการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูง ต้องรีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ผู้ป่วยยังต้องสังเกตการณ์ทำงานของไตจากปริมาณปัสสาวะ หากปริมาณปัสสาวะลดลงผิดปกติ ก็ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีทดแทนไต ทำให้การรักษาทดแทนไตวิธีต่างๆ ไม่ว่า การฟอกเลือด การล้างไตทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายไต มีการพัฒนาด้านเทคนิคการรักษาให้ดีขึ้น ประสิทธิภาพของการรักษาใกล้เคียงกับไตธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้คนไข้โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมีชีวิตยืนยาวขึ้นสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกขึ้น จึงเป็นความหวังของผู้ป่วยโรคไตวายว่าไม่ควรท้อแท้สิ้นหวัง แม้ว่าจะต้องได้รับการล้างไตก็ยังสามารถมีชีวิตยืนยาวขึ้นจากประสิทธิภาพการล้างไตที่สูงขึ้น และยังสามารถทำการรักษาโดยการปลูกถ่ายไตได้
credit รูปภาพ th.wikipedia.org
(Some images used under license from Shutterstock.com.)