Haijai.com


ก้อนผิดปกติในเพศหญิง


 
เปิดอ่าน 2560

ก้อนผิดปกติในเพศหญิง

 

 

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงประกอบไปด้วยอวัยวะต่างๆ เช่น รังไข่ มดลูก และช่องคลอด นอกจากนี้เพศหญิงยังมีอวัยวะบางอย่างที่แตกต่างจากเพศชาย ได้แก่ หน้าอก โดยอวัยวะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจเกิดความผิดปกติขึ้นได้ เช่น การเกิดเนื้องอก สุภาพสตรีทุกคนจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้

 

 

หน้าอก

 

ถุงน้ำในหน้าอก (breast cyst) คือ ถุงน้ำที่ไม่ใช่มะเร็งที่เกิดจากต่อมน้ำนมขยายตัวขึ้น โดยทั่วไปจะไม่มีอาการปวด แต่อาจใหญ่และบวมขึ้นในช่วงมีประจำเดือน ถุงน้ำในหน้าอกพบได้ในสตรีอายุมากกว่า 35 ปี หรือสตรีวัยทอง

 

 

การตรวจหาถุงน้ำในหน้าอก โดยทั่วไปถุงน้ำในหน้าอกจะมีขนาดเล็กและคลำไม่พบ แต่อาจคลำพบได้ถ้าถุงน้ำขยายขนาดขึ้น การตรวจวินิจฉัยโดยการอัลตราซาวนด์สามารถยืนยันภาวะถุงน้ำในหน้าอกได้เป็นอย่างดี

 

 

การรักษา โดยทั่วไปถุงน้ำในหน้าอกสามารถหายได้เอง การรักษาอาจจำเป็นในกรณีที่ถุงน้ำทำให้รู้สึกปวด หรือไม่สบาย หรือมีลักษณะผิดปกติเมื่อตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ ในกรณีดังกล่าวแพทย์อาจดูดน้ำออกจากถุงน้ำ ในกรณีที่ในถุงน้ำมีเลือดอาจต้องตรวจเพื่อยืนยันว่าถุงน้ำไม่ใช่มะเร็ง

 

 

เนื้องอกชนิด fibroadenoma คือ ก้อนเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง โดยทั่วไปไม่มีอาการปวด หากคลำพบจะเป็นก้อนเรียบและเคลื่อนที่ได้ พบได้บ่อยในผู้หญิงอายุน้อย โดยเนื้องอกอาจใหญ่ขึ้นในสตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร

 

การตรวจหาเนื้องอกชนิด fibroadenoma สามารถทำได้ง่ายโดยการคลำเต้านมด้วยตัวเอง หรืออาจตรวจพบจากการทำอัลตราซาวนด์หรือเอกซเรย์ แพทย์อาจเก็บตัวอย่างก้อนเนื้อเพื่อวินิจฉัยต่อไป

 

 

การรักษา เมื่อแพทย์ยืนยันการวินิจฉัยแล้ว เนื้องอกดังกล่าวมักไม่ต้องรักษา โดยทั่วไปจะผ่าตัดเฉพาะกรณีที่ก้อนเนื้อขยายใหญ่ขึ้นหรือปวด

 

 

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิง สามารถคลำพบได้เป็นก้อน ขอบขรุขระ หรือผิวหนังบริเวณดังกล่าวย่น หรือเป็นรอยแดง

 

 

การตรวจหามะเร็งเต้านม สามารถทำได้โดยการคลำเต้านมด้วยตัวเองหรือการเอกซเรย์เต้านม ผู้หญิงอายุ 40 ปี ขึ้นไปควรรับการตรวจเต้านมทุกราย หากแพทย์ตรวจพบก้อนเอแพทย์จะเก็บตัวอย่างก้อนเนื้อ เพื่อวินิจฉัยต่อไป มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่รักษาหายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตรวจพบในระยะแรก

 

 

การรักษา การรักษาหลักของมะเร็งเต้านม คือ การผ่าตัด แพทย์อาจพิจารณาการใช้ยาเคมีบำบัด ฉายรังสีหรือให้ฮอร์โมน ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง

 

 

มดลูก

 

เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก (uterine fibroids) คือ เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งที่พบในผนังมดลูก

 

 

การตรวจหาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก เนื้องอกดังกล่าวมักตรวจไม่พบ โดยมากมักตรวจพบโดยบังเอิญระหว่างการตรวจภายในหรือมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดหรือมีประจำเดือนปริมาณมาก หากตรวจพบแล้วต้องตรวจยืนยันด้วยอัลตราซาวนด์

 

 

การรักษา เนื้องอกแล้วกล้ามเนื้อมดลูกเป็นอาการที่ไม่ต้องรับการรักษา แต่หากมีอาการข้างเคียงหรือแทรกซ้อน อาจต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด

 

 

มะเร็งมดลูก คือ เซลล์มะเร็งที่พบได้ในเนื้อเยื่อชั้นใดๆ ในมดลูก โดยมากมักพบในสตรีสูงอายุ ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าว ได้แก่ การมีประจำเดือนเร็ว การตกไข่ผิดปกติ ไม่เคยตั้งครรภ์ อ้วน และโรคเบาหวาน

 

 

การตรวจหามะเร็งมดลูก อาการแสดงของมะเร็งมดลูก ได้แก่ มีเลือดออกทางช่องคลอดอย่างผิดปกติ หรือปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยด้วยการทำอัลตราซาวนด์หรือตรวจชิ้นเนื้อ

 

 

การรักษา การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาหลัก โดยในระยะแรกอาจตัดมดลูกออกเพียงอย่างเดียว หากตรวจพบในระยะหลังอาจต้องผ่าตัดเนื้อเยื่ออื่นออกด้วย หรืออาจต้องรับการรักษาด้วยการฉายรังสี เคมีบำบัด หรือฮอร์โมนตามการวินิจฉัยของแพทย์

 

 

มะเร็งปากมดลูก (มะเร็งคอมดลูก) เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับสองในผู้หญิง และเป็นสาเหตุการตายอันดับสองรองมะเร็งเต้านม สาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก คือ เชื้อไวรัส Human papiloma virus ซึ่งเป็นไวรัสที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์

 

 

การตรวจหามะเร็งปากมดลูก การทำแป๊ปสเมียร์ (pap smears) เป็นประจำทุก 1-3 ปี สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ในระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก จึงเป็นการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ดีที่สุด

 

 

การรักษา การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นแนวทางป้องกันหลักการรักษามะเร็งปากมดลูกขึ้นกับลักษณะของมะเร็ง โดยแพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัด การฉายรังสี และเคมีบำบัด

 

 

รังไข่

 

รังไข่เป็นอวัยวะผลิตไข่และฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน) ก้อนเนื้อในรังไข่อาจส่งผลทำให้เป็นหมั่น

 

 

ถุงน้ำในรังไข่ คือ ถุงน้ำที่ไม่ใช่มะเร็งที่อยู่ภายในหรือบนรังไข่ โดยมากมักพบในสตรีที่ยังมีประจำเดือนอยู่ ไม่ค่อยพบภาวะดังกล่าวในสตรีก่อนมีประจำเดือนหรือสตรีวัยทอง

 

 

การตรวจหาถุงน้ำในรังไข่ ถุงน้ำในรังไข่เกิดขึ้นและหายได้เอง จึงไม่ค่อยตรวจพบ อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดเชิงกราน ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

 

 

การรักษา ในสตรีที่ยังมีประจำเดือนอยู่มักไม่ต้องรับการรักษา แต่แพทย์อาจสังเกตอาการเป็นระยะเวลา 2-3 รอบเดือน อย่างไรก็ตามถุงน้ำในรังไข่ที่พบในสตรีก่อนมีประจำเดือนหรือสตรีวัยทอง อาจต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด

 

 

มะเร็งรังไข่ คือ เซลล์มะเร็งที่เจริญเติบโตผิดปกติในบริเวณพื้นผิวของรังไข่หรือเซลล์ผลิตไข่และบริเวณรอบๆ ภาวะดังกล่าวมักพบได้ในสตรีอายุมากกว่า 50 ปี ปัจจัยเสี่ยงอื่น ได้แก่ การมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ ภาวะเป็นหมัน หรือใช้ยากระตุ้นการมีบุตรอย่างยาวนาน

 

 

การตรวจหามะเร็งรังไข่ มะเร็งรังไข่ในระยะแรกจะไม่มีอาการแสดงใดๆ ทำให้แพทย์พบผู้ที่มีมะเร็งรังไข่ในระยะที่มะเร็งกระจายไปยังบริเวณต่างๆ หรือเมื่อเริ่มมีอาการ เช่น ปวดหนักๆ ในเชิงกรานท้องโตขึ้น การขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไป และรอบเดือนเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ดังนั้นการตรวจภายในโดยสูตินรีแพทย์ประจำปี จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

 

 

การรักษา การผ่าตัดเป็นการรักษาหลัก หากตรวจพบในระยะแรกอาจผ่าตัดรังไข่หรือท่อนำไข่เฉพาะบริเวณที่มีมะเร็ง แต่หากตรวจพบในระยะหลังอาจต้องผ่าตัดบริเวณอื่นๆ ออกด้วย แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการฉายรังสี หรือเคมีบำบัดร่วมด้วย

(Some images used under license from Shutterstock.com.)