Haijai.com


สาเหตุมีลูกยากอยู่ในพลาสติก


 
เปิดอ่าน 1717

สาเหตุมีลูกยากอยู่ในพลาสติก

 

 

พลาสติกถือเป็นวัตถุที่มีบทบาทเป็นอย่างมาก ต่อชีวิตมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ดังจะเห็นได้ว่าอุปกรณ์เครื่องใช้รอบตัวเรา ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ล้วนมีพลาสติกเป็นองค์ประกอบ พลาสติกเกิดขึ้นจากการผสมระหว่างสารประกอบโพลีเมอร์ และส่วนประกอบอื่นๆ เช่น สี สารเสริมสภาพพลาสติก (plasticizer) ซึ่งเป็นสารที่ใส่ลงในพลาสติก เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและอ่อนนุ่ม เป็นต้น สารเสริมสภาพพลาสติกนี้ นับเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่มนุษย์ได้รับผ่านการรับประทานอาหารที่บรรจุภาชนะพลาสติก หรือผ่านการสูดดมอนุภาคที่ปนเปื้อนเข้าไป การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าสารเสริมสภาพพลาสติกมีความเป็นพิษ เมื่อได้รับติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

 

 

สารเสริมสภาพพลาสติกในกลุ่มทาเลท (phthalates) นับเป็นสารเสริมสภาพพลาสติกที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เราสามารถพบทาเลทได้ในสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น น้ำมันหล่อลื่น เสื้อกับฝน พลาสติกที่ใช้ในรถยนต์ แผ่นฟิล์มพลาสติกสำหรับห่อหุ้มอาหาร ของเล่น เป็นต้น งานวิจัยโดย Buck Louis และคณะซึ่งเผยแผ่ในวารสาร Fertility and Sterility ในปีนี้ แสดงให้เห็นว่า การที่ผู้ชายสัมผัสกับทาเลท มีความสัมพันธ์กับการที่คู่สมรสของตนมีบุตรยาก งานวิจัยดังกล่าวเก็บข้อมูลจากคู่สมรสจำนวน 501 คู่ โดยผู้ชายมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และผู้หญิงมีอายุระหว่าง 18-44 ปี ผู้วิจัยได้ตรวจร่างกาย และเก็บตัวอย่างปัสสาวะทั้งจากฝ่ายชายและฝ่ายหญิงที่ตอนเริ่มต้นการศึกษา เพื่อตรวจวัดปริมาณสารทาเลทในปัสสาวะ และค่าการทำงานของไต จากนั้นผู้วิจัยจะติดตามคู่สมรสไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบการตั้งครรภ์ ผลการศึกษาพบว่า ระดับสารกลุ่มทาเลทในปัสสาวะของเพศชายสัมพันธ์กับการลดลงของความสามารถมีบุตรได้ (fecundity) ของเพศหญิง กลไกที่เป็นไปได้ อาจจะมาจากการที่ทาเลทส่งผลกระทบต่อจำนวนและการเคลื่อนไหวของอสุจิ

 

 

ผลกระทบจากพลาสติกจึงมีทั้งด้านดี ในแง่ที่ส่งผลทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น และด้านเสีย คือ ปัญหามลพิษ และความเป็นพิษต่อร่างกาย ดังนั้น การเลือกใช้ชนิดของพลาสติกให้ถูกกับลักษณะของงาน หลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกบรรจุอาหารที่มีไขมันสูง หรืออาหารที่ร้อนก็น่าที่จะช่วยลดการสัมผัสของสารเสริมสภาพพลาสติกและสารอื่นๆ ในพลาสติกได้

(Some images used under license from Shutterstock.com.)