
© 2017 Copyright - Haijai.com
วัคซีนไข้หวัดใหญ่กับโรคหัวใจ
ขณะนี้กำลังเข้าใกล้ฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ไข้หวัดใหญ่มีการระบาด จึงมีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อนเข้าฤดูฝน โดยเฉพาะในผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 ผู้สูงอายุ เป็นต้น วัคซีนไข้หวัดใหญ่นอกจากจะช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของอาการเมื่อติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการตายด้วยโรคระบบหลอดเลือดหัวใจได้ด้วย
ผลจากการทำอภิวิเคราะห์ (meta-analysis) งานวิจัยจำนวน 5 งาน ซึ่งมีผู้ป่วยเข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 293,383 คน พบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (myocardial infarction) และการตายได้ นอกจากนี้ในการศึกษา FLUVACS ซึ่งแบ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือรับการผ่าตัดเส้นเลือด (angioplasty) จำนวน 301 ราย ออกเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และไม่ได้รับวัคซีน พบว่า ที่การติดตามผลหลังจากได้รับวัคซีนเป็นเวลา 1 ปี กลุ่มที่ได้รับวัคซีนตาย เนื่องจากโรคหลอดเลือดหัวใจเพียง 2% ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนตาย เพราะโรคหลอดเลือดหัวใจถึง 8%
สาเหตุที่การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการตายด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจนั้น อาจจะมาจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เนื่องจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ กลไกในการเกิดรอยโรคของภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง (atherosclerosis) จะมีเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันเป็นส่วนประกอบหนึ่ง เช่น การที่ macrophage ไปกินไขมันตัวเลวที่ผ่านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (oxidized LDL แล้วกลายเป็น foam cell ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้หลอดเลือดตีบตัน) นักวิจัยชาวรัสเซียพบว่าระดับสารภูมิต้านทาน (antibody) ต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับระดับสารภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้าง เพื่อจัดการกับไขมันตัวเลวที่ผ่านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น นักวิจัยกลุ่มดังกล่าวยังตรวจพบยีนของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในชิ้นส่วนจากรอยโรคหลอดเลือดตีบแข็งที่ได้จากการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ (coronary bypass) อีกด้วย นอกจากนี้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ยังไปกระทบการทำงานของไขมันตัวดี (HDL) ในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
จากข้อมูลดังกล่าว สมาคมหัวใจแห่งอเมริกา (America Heart Association) และวิทยาลัยหทัยวิทยาแห่งอเมริกา (America College of Cardiology) จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีอาการข้างเคียง ได้แก่ ปวดบวม แดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ กระสับกระส่าย อีกทั้งผู้ที่แพ้ไข่อย่างรุนแรง ห้ามฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่โดยเด็ดขาด
(Some images used under license from Shutterstock.com.)