Haijai.com


เด็กดื้อ รักนะเด็กดื้อ


 
เปิดอ่าน 1487
 

เด็กดื้อ รักนะเด็กดื้อ

 

 

“สวัสดีคุณยายก่อนนะคะลูก” คุณแม่บอกเจ้าตัวน้อยก่อนที่จะลาคุณยายกลับบ้าน “ไม่หวัดดี! ” เจ้าตัวดี กอดอกทำหน้ามุ้ยพร้อมกับส่ายหัว “สวัสดีก่อนสิค่ะ” คุณแม่คาดคั้นอย่างใจเย็น “ไม่หวัดดี นี่แหนะ!” นอกจากจะไม่ยอมสวัสดีคุณยายแล้ว เจ้าวายร้ายตัวน้อย ยังยกมือขึ้นตีคุณแม่ที่จะเข้าไปจูงพาไปให้คุณยายอีกด้วย “ไม่เป็นไรๆ กลับไปเถอะ” คุณยายพูดอย่างเอ็นดู แต่คุณแม่กลับหัวเสียที่ลูกรักกลายเป็นเด็กดื้อไปเสียได้

 

 

อยากรู้ ต้องดื้อ

 

เมื่อขึ้นมาถึงบนรถ คุณแม่บอกเจ้าตัวดีที่กำลังลุกยืนบนเบาะให้คาดเข็มคัดนิรภัยและนั่งนิ่งๆ สิ่งที่ได้รับกลับมาคือ  “ไม่นั่ง!” หนูน้อยทำเสียงแข็ง ตะโกนใส่หน้าคุณแม่ “นั่งลงดีๆ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องกลับบ้าน” คุณแม่พูดอย่างใจเย็น “ห้ามพูด!” เจ้าตัวเล็กทำเสียงแข็ง พร้อมกับยกมือขึ้นจะตีคุณแม่ คุณแม่สงบสติอารมณ์เพราะเข้าใจว่าเจ้าตัวดีกำลังท้าทาย และทดสอบขอบเขตของเขา หนูน้อยกำลังเรียนรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากไม่ฟังคำสั่งของคุณแม่ ซึ่งวิธีที่คุณจะรับมือได้ดีที่สุดคือใจเย็นและใช้เหตุผล

 

 

“ถ้าลูกไม่ยอมนั่ง แม่ก็ขับรถออกไปไม่ได้ เพราะว่ามันไม่ปลอดภัยต่อตัวลูกเอง แม่จะออกไปรอข้างนอก หากลูกพร้อมที่จะนั่งลงดีๆ เมื่อไร แม่จะเข้ามา แล้วเราจะกลับบ้านกัน” พูดจบ คุณแม่ก็เปิดประตู ลงไปยืนรอนอกรถ เจ้าตัวดี เจ้าตัวดีดูหงุดหงิด ในช่วงแรก แต่ไม่เกิน 5 นาที หนูน้อยก็ยอมนั่งลง คุณแม่เปิดประตูเข้ามาในรถ และเอ่ยชมเจ้าตัวเล็ก “ดีมาก ทีนี้เราจะได้กลับบ้านอย่างปลอดภัยกันนะจ๊ะ”

 

 

เมื่อย่างเข้าสู่วัยอนุบาล หนูน้อยจะมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และมักไม่สนใจสิ่งที่คุณพูดหรือบอก ดังนั้น พยายามอย่าหงุดหงิดหากลูกปฏิเสธคุณ เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งหนูน้อยจะยอมทำตามคุณเอง หัวใจสำคัญก็คือ พยายามให้ลูกให้ความร่วมมือไปพร้อมๆ กับให้เขาได้มีพื้นที่เพื่อฝึกฝนอิสรภาพที่หนูน้อยเพิ่งค้นพบด้วย ซึ่งวิธีนี้เองที่จะทำให้เจ้าตัวเล็กได้เรียนรู้ว่า สิ่งใดควร-ไม่ควร

 

 

หลากวิธีกำราบ เพราะรัก

 

เมื่อคุณรู้แล้วว่าการแปลงกายเป็นเด็กดื้อของเจ้าตัวน้อย มีสาเหตุมาจาก การที่คุณหนูๆ ตื่นเต้นกับอิสรภาพใหม่ๆ ที่เขาได้ค้นพบ และต้องการเป็นตัวของตัวเองให้มากขึ้น ดังนั้น คุณก็ควรพยายามระงับอารมณ์โกรธ และโมโห เพราะยิ่งคุณแสดงอาการเหล่านี้ให้ลูกเห็นมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสที่ลูกจะต่อต้านมากขึ้นเท่านั้น สิ่งที่คุณควรทำเมื่อเจ้าจอมดื้อต่อต้าน หรืออาละวาดไม่ยอมฟังคุณ คือ

 

 ชัดเจนและจริงจัง คุณต้องแน่ใจว่าคำขอของคุณชัดเจนและเป็นสิ่งที่เจ้าตัวเล็กทำได้ ไม่ใช่แค่ “ทำความสะอาดห้อง” เพราะนอกจากจะคลุมเครือแล้วก็ยังอยู่เหนือความสามารถที่จะเข้าใจของลูกด้วย หากคุณต้องการให้ลูกเก็บของเล่นในห้อง ก็ควรระบุให้ชัดเจน “เก็บของเล่นให้เรียบร้อย” หรือแทนที่จะพูดว่า “เตรียมตัวกินข้าวได้แล้ว” คุณก็น่าจะบอกว่า “ล้างมือและมาที่โต๊ะอาหารได้แล้ว” จะดีกว่า

 

 สั่งอย่างง่ายๆ เจ้าตัวเล็กวัยนี้ จะตอบสนองได้ดีกับสิ่งที่สั่งให้ทำทีละอย่าง หากคุณบอกลูกว่า “เก็บของเล่นไปวางบนโต๊ะ และหยิบเสื้อผ้าในห้องมาเปลี่ยน” ก็มีแนวโน้มว่าเจ้าตัวน้อยอาจจะไม่เข้าใจ

 

 เตือนก่อนสั่ง หากได้เวลาที่จะต้องเลิกเล่นแล้วไปอาบน้ำ คุณควรเตือนลูกให้รู้ตัวล่วงหน้าสักเล็กน้อย และเมื่อถึงเวลาจริงๆ คุณเรียกให้ลูกไปอาบน้ำแล้วหนูน้อยยังคงเฉย คุณก็คงต้องลงมืออุ้มลูกไปอาบน้ำด้วยตัวเอง

 

 กระตุ้นลูกให้ถูกวิธี คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ มักจะโมโหที่ลูกไม่ทำตาม และหากลูกถามกลับมาว่าทำไมต้องเก็บของเล่น คุณก็จะตอบกลับไปด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราดว่า “ก็เพราะแม่สั่งน่ะสิ!” ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ดีนักที่จะกระตุ้นให้ลูกให้ความร่วมมือ คุณคงไม่ต้องการให้ลูกทำสิ่งที่ถูกต้องเพราะเขากลัวโดนทำโทษ แต่ควรเป็นเพราะลูกต้องการจะทำสิ่งนั้นเองต่างหาก ดังนั้น คุณควรให้แรงเสริมทางบวกเมื่อลูกทำสิ่งที่ถูก เช่น กล่าวชม และให้กำลังใจ วิธีนี้จะทำให้ลูกเห็นได้ชัดเจนว่าเขาจะได้รับความชื่นชม เมื่อทำสิ่งที่ถูกต้อง และจะเป็นแรงกระตุ้นให้เขาอยากทำสิ่งดีๆ ต่อไป

 

 “ไม่” และ “อย่า” ไม่น่าพูด หากคุณห้ามลูกไม่ให้ทำบางสิ่ง แต่เจ้าตัวเล็กยังดื้อดึง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหนูน้อย ได้ยินคำว่า “ไม่” และ “อย่า” บ่อยเกินไป แทนที่คุณจะบอกว่า “อย่ากระโดดบนโซฟา” ลองเปลี่ยนเป็น “ลงมากระโดดที่พื้น” หรือแทนที่จะบอกว่า “ไม่ได้ ลูกดื่มน้ำหวานไม่ได้” เปลี่ยนเป็น “ดื่มนมดีกว่าไหม หรือว่าจะดื่มน้ำผลไม้” หรือ “หลังกินข้าวแล้ว ค่อยดื่มน้ำหวาน” เมื่อคุณให้ลูกมีทางเลือก ก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้หนูน้อยได้รักษาสิทธิ์ของตัวเองในทางที่ถูกต้อง

 

 เอาใจเราไปใส่ใจลูก สมมติว่าคุณกำลังอ่านหนังสือเล่มโปรด แล้วจู่ๆ ก็มีคนมาสั่งให้คุณไปทำสิ่งอื่นในทันที แน่นอนว่าคุณคงไม่พอใจนัก เช่นเดียวกับเจ้าตัวเล็ก หากคุณเข้าใจในจุดนี้ คุณก็จะใจเย็นกับลูกมากขึ้น และให้สัญญาณเตือนลูกทุกครั้งก่อนที่เขาต้องละมือจากสิ่งที่ทำไปทำอย่างอื่น แม้ว่าเจ้าตัวเล็กส่วนใหญ่จะยังงอแงไม่ยอมทำตามหลังจากที่คุณเตือนแล้วก็ตาม อย่างน้อยเขาก็ได้รับการส่งสัญญาณเตือนให้รู้ก่อนอย่างยุติธรรม ก่อนที่จะต้องทำอย่างอื่นต่อไป

 

 

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าคุณกับลูกจะต้องทำสงครามสู้รบกันขนาดไหน เจ้าตัวเล็กจะอาละวาด กวาดแข้งกวาดขามากเพียงใด คุณต้องไม่ลืมที่จะทำให้เจ้าตัวเล็กรู้และเข้าใจว่า สิ่งที่คุณทำไปทุกอย่างก็เพราะความรักและหวังดี ขอให้คุณเชื่อมั่นว่าความรักที่คุณให้ลูกนั้น จะทำให้หนูน้อยได้รับบทเรียน และกลายเป็นเด็กดีได้ในที่สุด แม้ว่าวันนี้เขาจะยังเป็นเด็กดื้อตัวน้อยอยู่ก็ตาม รักนะ เด็กดื้อ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)