Haijai.com


รักนี้ดูดดื่ม หวานชื่นของลูกกับจุกนมหลอก


 
เปิดอ่าน 1738
 

รักนี้ดูดดื่ม หวานชื่นของลูกกับจุกนมหลอก

 

 

การเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยสำหรับคุณแม่มือใหม่ อาจจะเปรียบเหมือนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เมื่อลูกร้องทีไร ก็ต้องตั้งสมมติฐานกันไว้ก่อนว่าลูกเป็นอะไร เมื่อคาดเดาได้รางๆ แล้วก็ต้องทำการทดลองดูสิว่า จะทำอย่างไรให้ลูกน้อยหยุดร้องไห้ ให้นมแล้วยังไม่หยุด ให้นมแล้วก็ยังคงร้องให้ สุดท้ายคุณแม่ใช้ไม้ตายที่ไม่เคยคิดว่าจะใช้ นั่นคือ หยิบจุกนมหลอก มาใส่ปากให้เจ้าตัวน้อยดูด เท่านั้นแหละ เสียงร้องไห้ก็หายไป เจ้าตัวเล็กสงบลง และดูจะถูกใจกับเจ้าจุกนมหลอกเอามากๆ การทดลองประสบผลสำเร็จ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เจ้าตัวน้อยอยู่ที่ไหน เป็นต้องเห็นพี่จุกนมหลอกอยู่เคียงข้าง โดยมีคุณแม่กังวลใจอยู่ไม่ห่างเช่นกัน

 

 

เจ้าตัวเล็กกับจุกนมหลอก รักหรอกจึงบอกให้

 

แม้ว่าการทดลองของคุณแม่จะทำให้เจ้าตัวน้อยหยุดร้องไห้ได้ แต่คุณแม่กลับมีความกังวลใจเรื่องใหม่เข้ามาแทน นั่นก็คือ ความรักของลูกกับจุกนมหลอก ( Pacifier) นั่นเอง เพราะคุณแม่เคยรู้มาว่า เมื่อใดก็ตามที่ลูกติดจุกนมหลอกแล้วก็ยากที่จะเลิกได้ ไหนยังอาจจะทำให้ฟันมีปัญหาอีกล่ะ สารพันปัญหาแบบนี้ ปล่อยไว้ไม่ได้ ต้องขัดขวาง

 

 

ช้าก่อนค่ะ เพราะจะว่าไปเหรียญย่อมมีสองด้าน จุกนมหลอกมีข้อเสีย ก็ต้องมีข้อดี เช่นกัน ฉะนั้น ก่อนที่คุณแม่จะปักใจเชื่อว่า ความรักของเจ้าตัวเล็กกับจุกนมหลอก เป็นรักต้องห้าม เรามาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียกันก่อนดีกว่า

 

 

 

The Good

The Bad

ช่วยให้เจ้าตัวน้อยหายงอแงได้

หากลูกติดจุกนมยางในช่วงเดือนแรกๆ อาจทำให้เกิดปัญหาต่อการเลี้ยงลูกด้วยนม

ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น เมื่อลูกหิว คุณแม่อาจให้ลูกดูดจุกนมยาง ขณะที่ไปเตรียมนมให้ลูก หรือ เบี่ยงเบนเมื่อลูกกำลังจะฉีดวัคซีน

เจ้าตัวน้อยอาจตื่นมาร้องไห้กลางดึกบ่อยๆ หากดูดจุกนมยางจนหลับไป แล้วจุกนมยางหลุดออกจากปาก

ช่วยให้ลูกนอนหลับได้ง่ายขึ้น

หนูน้อยอาจนอนหลับเองไม่ได้ หากไม่มีจุกนมยาง

มีงานวิจัยที่พบว่า การดูดจุกนมยางขณะหลับช่วยลดความเสี่ยงของภาวะไหลตายในเด็ก (SIDS) ได้ 

เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อที่หูชั้นกลาง อย่างไรก็ตาม สถิติการติดเชื้อที่หูในทารกนั้นมีไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับภาวะ SIDS

การติดจุกนมยางเลิกง่ายกว่าปล่อยให้ลูกติดดูดนิ้ว

การติดจุกนมยางนานเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาทางทันตกรรมได้

 

 

เมื่อเห็นแล้วว่าจุกนมหลอกก็มีข้อดีเหมือนกัน ดังนั้น เรื่องนี้อาจจะไม่ใช้รักต้องห้ามเสมอไปค่ะ แต่ทั้งนี้ คุณแม่ควรให้ลูกรู้จักกับจุกนมหลอกให้ถูกที่ถูกเวลาเท่านั้นเอง

 

 

หลากคำถาม เรื่องจุกนมหลอก

 

 จุกนมหลอก เมื่อไรดี? การให้ลูกได้ลองใช้จุกนมหลอกเร็วเกินไป หรือก่อนที่ลูกจะดูดนมแม่ได้คล่อง ย่อมทำให้เจ้าตัวเล็กเกิดภาวะสับสนหัวนม ซึ่งอาจส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ค่ะ ดังนั้น หากคุณคิดจะให้ลูกดูดจุกนมหลอก ก็ควรจะรอให้ลูกดูดนมแม่ได้ดี และดูดนมแม่จนเป็นกิจวัตรได้เสียก่อน ซึ่งเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มให้ลูกดูดจุกนมหลอกก็คือ เมื่อหนูน้อยอายุ 1 เดือนขึ้นไป

 

 

 จุกนมหลอกจำเป็นหรือไม่สำหรับทารก? ในแง่หนึ่งหากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าทารกจำเป็นจะต้องได้รับการปลอบประโลม และทำให้รู้สึกอุ่นใจผ่อนคลาย ในโลกใบใหม่ที่เขาต้องเผชิญ จุกนมหลอกก็เป็นผู้ช่วยที่ดีทางเลือกหนึ่งค่ะ แต่เราขอแนะนำว่าให้เป็นทางเลือกท้ายๆ เมื่อคุณแม่ทำทุกวิธีแล้วลูกก็ยังคงงอแงอยู่จะดีกว่า

 

 

 ติดจุกนมหลอกแล้ว เลิกยากหรือเปล่า? โดยทั่วไป เด็กๆ จะเลิกติดจุกนมหลอกได้เอง เมื่ออายุ 6-9 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่หนูน้อยเริ่มคลาน และหันไปสนใจสิ่งอื่นๆ ที่เขาสามารถหยิบ คว้าได้ โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตด้วย หากเห็นว่าลูกเริ่มไปสนใจสิ่งอื่นแล้ว ก็ควรหยุดที่จะหยิบยื่นจุกนมหลอกให้ลูกอีก อย่างไรก็ตาม หนูน้อยยังอาจต้องการเจ้าจุกนมหลอกเป็นเพื่อน ในเวลานอน ซึ่งการให้ลูกเลิกดูดจุกนมหลอกก่อนนอนนั้น อาจใช้เวลานานกว่า แต่ทั้งนี้ เด็กๆ จะเลิกดูดจุกนมหลอกโดยสิ้นเชิง เมื่ออายุ 2 ปีค่ะ 

 

 

Pacifier Safety

 

หากคุณตกลงใจให้ลูกใช้จุกนมหลอกก็ควรดูแลเรื่องความสะอาดและปลอดภัย เป็นพิเศษด้วยค่ะ

 

 ควรล้างจุกนมอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หรือเมื่อใดก็ตามที่ตกลงพื้นหรือสกปรก โดยล้างด้วยน้ำสะอาดและสบู่

 

 ไม่ควรผูกเชือกหรือริบบิ้นยาวๆ ติดกับจุกนมหลอก แล้วแขวนคอ หรือผูกข้อมือลูกไว้ เพราะเชือกอาจรัดคอลูกได้

 

 จุกนมหลอกที่ขาดหรือชำรุด ควรทิ้งทันที และควรเปลี่ยนจุกนมหลอกให้ลูกใหม่ทุกๆ 2 เดือน

 

 หากลูกเริ่มเคี้ยวจุกนมหลอก คุณควรเปลี่ยนให้ลูกใช้ของเล่นยางที่ทำขึ้นมาสำหรับให้ทารกกัดแทน

 

 เลือกซื้อจุกหลอกที่ทำจากวัสดุชิ้นเดียว และมีฝาปิดซึ่งมีรูเพื่อระบายอากาศด้วย

(Some images used under license from Shutterstock.com.)