
© 2017 Copyright - Haijai.com
ตั้งครรภ์แฝดต้องดูแลอย่างไร
การตั้งครรภ์แฝดเป็นสิ่งที่หลายๆคนแอบคาดหวังลึกๆ ในใจ เพราะถ้าตั้งครรภ์เพียงหนึ่งครั้งแต่ได้ลูกมากกว่าหนึ่งคน เปรียบเสมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว สามตัว หรือสี่ตัว ซึ่งบางคนก็รู้สึกสบายที่ไม่ต้องอุ้มท้องหลายครั้ง และเจ็บตัวคลอดหลายครั้ง เด็กที่ออกมาก็หน้าตาเหมือนๆ กัน เวลาเข็นรถไปไหนก็ดูน่ารักมีแต่คนเข้ามาทัก แต่ในความจริงหารู้ไม่ว่า การตั้งครรภ์แฝดทางการแพทย์ ถือเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะมดลูกของมนุษย์ ถูกออกแบบมารองรับการตั้งครรภ์เพียงครั้งละ 1 คน การมีครรภ์แฝดเกิดขึ้นอาจมีปัญหาต่างๆตามมาได้สูงขึ้น เช่น การแท้งบุตร การเกิดการคลอดก่อนกำหนด การเจริญเติบโตช้า หรือแย่งอาหารกันของทารกในครรภ์ รวมถึงการเกิดครรภ์เป็นพิษ ซึ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อแม่และเด็ก แต่ในปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์สูงขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในการช่วยเรื่องการมีบุตรยาก เช่น การใช้ยากระตุ้นไข่ ทำให้ได้ไข่ที่สุกพร้อมกันครั้งละหลายๆ ใบ ทำให้อัตราการตั้งครรภ์ และเป็นครรภ์แฝดสูงขึ้น ดังเช่นเมื่อเร็วๆ นี้ที่จังหวัดนครสวรรค์ที่มีคุณแม่ให้กำเนิดลูกแฝด 5 ก็เกิดจากการทำเด็กหลอดแก้วเช่นกัน
ชนิดของครรภ์แฝด
1.แฝดแท้ (Identical twins หรือ Monozygotic twins) เกิดจากไข่ใบเดียว และอสุจิตัวเดียว เมื่อผสมแล้วจึงมีการแบ่งแยกเป็นทารกสองคน เพศและหน้าตาจึงเหมือนกันทุกประการ แฝดชนิดนี้พบอุบัติการณ์ ได้เท่ากันๆกันทุกเชื้อชาติ ประมาณ 1 ต่อ 250 ของการตั้งครรภ์
2.แฝดเทียม (Fraternal twins หรือ Dizygotic twins) เกิดจากไข่มากกว่า 1 ใบ และอสุจิมากกว่า 1 ตัว จึงได้ทารกหลายคน แฝดชนิดนี้หน้าตาไม่เหมือนกันเลยที่เดียว และมีทั้งโอกาสที่เป็นเพศเหมือนกันหรือต่างกันก็ได้ แฝดชนิดนี้พบได้บ่อยกว่า โดยปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้เกิดแฝดชนิดนี้เพิ่มขึ้น คือ ประวัติกรรมพันธุ์แฝดในครอบครัว เชื้อชาติ(โดยเฉพาะหญิงผิวดำ) แม่ที่อายุมาก และเป็นครรภ์หลังๆมีโอกาสเกิดได้สูงกว่า ภาวะโภชนาการที่ดี หรือ ที่พบได้บ่อยที่สุดในปัจจุบัน คือได้รับยากระตุ้นการตกไข่ และการทำเด็กหลอดแก้ว
การเรียกชื่อครรภ์แฝด
• แฝดสอง เรียกว่า Twins
• แฝดสาม เรียกว่า Triplets
• แฝดสี่ เรียกว่า Quadruplets
• แฝดห้า เรียกว่า Quintuplets
• แฝดหก เรียกว่า Sextuplets
• แฝดเจ็ด เรียกว่า Septuplets
• แฝดแปด เรียกว่า Octuplets
• แฝดเก้า เรียกว่า Nonuplets
• แฝดสิบ เรียกว่า Decaplets
การตั้งครรภ์ที่บันทึกเป็นสถิติครรภ์แฝดที่จำนวนมากที่สุดและมีชีวิตรอดทุกคน คือ แฝดแปด (Octuplets)
ครรภ์แฝดสอง มีอัตราการเกิดตามธรรมชาติประมาณร้อยละ 1.1 (1 ต่อ 89) แฝดสาม ร้อยละ 0.013 (1 ต่อ 7921) แฝดสี่ ร้อยละ 0.000142 (1 ต่อ 700,000) แต่ปัจจุบันเราพบครรภ์แฝดเหล่านี้ได้บ่อยขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์พัฒนาดีขึ้น จึงมีเด็กแฝดออกมาให้เราเห็นมากขึ้น จึงควรต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากครรภ์แฝดถือว่ามีความเสี่ยงสูงทางการแพทย์ กล่าวคือ มีภาวะแทรกซ้อนได้มากและบ่อยกว่าครรภ์เดี่ยว เช่น การคลอดก่อนกำหนด ในครรภ์เดี่ยวโอกาสเกิดประมาณ ร้อยละ 9.4 ในขณะที่ครรภ์แฝดสอง และแฝดสาม มีโอกาสเกิดถึงร้อยละ 51 และ 91 ตามลำดับ การคลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุทำให้ทารกตัวเล็ก น้ำหนักตัวจึงน้อย โดยทารกที่คลอดน้ำหนักตัวน้อยมาก (very low birth weight) ในครรภ์เดี่ยวพบได้เพียงร้อยละ 1.1 ขณะที่ครรภ์แฝดสองและแฝดสามพบได้ถึง ร้อยละ 10.1 และ 31.8 ตามลำดับ โอกาสการเกิดความผิดปกติของสมองทารกในครรภ์ (Cerebral palsy) ในครรภ์ เดี่ยวพบเพียง 2.3 ต่อ 1,000 คน ขณะที่ครรภ์แฝดสองและแฝดสาม พบถึง 13 และ 45 ต่อ 1,000 คนตามลำดับ ความเสี่ยงการเกิดความผิดปกติของโครโมโซมทารกครรภ์ เช่น ภาวะดาวน์ ซินโดรม ในครรภ์แฝดก็สูงขึ้น โดยความเสี่ยงในครรภ์เดี่ยวจะสูงขึ้นเมื่อมารดาตั้งครรภ์อายุเกิน 35 ปี (นับถึงวันครบกำหนดคลอด) ในขณะที่ครรภ์แฝดสอง และ แฝดสาม ความเสี่ยงสูงเริ่มที่อายุ 33 และ 28 ปี ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มอายุดังกล่าวควรได้รับคำปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์ (Genetics counseling) เกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยโครโมโซมของทารกในครรภ์ (เช่นการเจาะตรวจน้ำคร่ำ) นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนกับมารดาได้สูงขึ้น เช่นในครรภ์แฝดโอกาสการเกิดความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า การเกิดรกลอกตัวก่อนกำหนดสูงขึ้น 3 เท่า การเกิดภาวะโลหิตจาง สูงขึ้น 2.5 เท่า การเกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ สูงขึ้น 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับครรภ์เดี่ยว และโดยเฉพาะในครรภ์แฝดสาม พบความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างคลอดถึง ร้อยละ 96 และภาวะแทรกซ้อนในช่วงหลังคลอดถึงร้อยละ 44 จะเห็นว่าถ้าดูตัวเลขต่างๆแล้วหลายคนค่อนข้างกังวลไม่น้อย แต่ไม่ควรตกใจ เพราะถ้ามีการวางแผนที่ดี ในการดูแลครรภ์ดังต่อไปนี้ ก็อาจทำให้ผลการคลอดออกมาเป็นที่น่าพอใจ
นพ.นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข
(Some images used under license from Shutterstock.com.)