© 2017 Copyright - Haijai.com
อารมณ์ของคุณแม่ส่งผลถึงลูก
เด็กที่เกิดมาใหม่ๆแต่ละคน มีลักษณะเฉพาะหลากหลายอย่างที่น่าสนใจ และมีพื้นอารมณ์ (Temperament) ต่างกัน เด็กแรกเกิดบางคนอาจมีความกระวนกระวายใจ ขณะที่เด็กบางคนเกิดมาใหม่ๆ กลับมีปัญหาเรื่องสรีระร่างกาย เช่น หายใจติดขัด เด็กบางคนมีปัญหาทางด้านอารมณ์ มีอารมณ์แปรปรวนมากทีเดียว แล้วก็มีความผิดปกติในการปรับตัว ในด้านการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆในปัจจุบันทั้งในต่างประเทศและประเทศไทยเรา ก็ได้มีการศึกษาวิจัยว่าปัญหาของเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงได้ทำการศึกษาหาสาเหตุของปัญหา และติดตามดูพัฒนาการตั้งแต่แรกเกิดของเด็ก เช่น พัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจและอื่นๆ ว่ามีอะไรเป็นปัจจัยร่วมบ้าง
การศึกษาในเรื่องนี้ จะเริ่มศึกษาตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์และเน้นหนักในช่วงตั้งครรภ์ 6 เดือน จนถึงคลอด โดยเฉพาะ 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด จะทำการศึกษาโดยสำรวจและดูว่าคุณแม่มีปัญหาอะไรบ้าง เช่น คุณแม่สูบบุหรี่หรือไม่ สูบมากหรือน้อย ลูกดิ้นบ้างหรือไม่ ดิ้นมาก ดิ้นน้อย คุณแม่มีความเครียดในปัญหาครอบครัว มีปัญหาในด้านการงาน มีปัญหาในด้านสังคม อารมณ์จิตใจอะไรหรือไม่
และจากการศึกษาวิจัยก็พบว่าหากแม่ที่ตั้งครรภ์มีปัญหาความเครียดด้านร่างกาย หรือจิตใจมากๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ เด็กที่คลอดออกมาก็จะมีปัญหามาก แม่ที่มีปัญหาระหว่างตั้งครรภ์กับลูกมีปัญหาด้นพัฒนาการโดยเฉพาะด้านสมองมีความสัมพันธ์กันมากทีเดียวและมีตั้งแต่น้อยๆ ไปจนถึงมีมากๆ
สิ่งที่เราพบมี ในสมัยก่อนเราไม่สามารถอธิบายได้ว่าอารมณ์ของแม่ไปสัมพันธ์อย่างไรกับลูกในท้องแต่มาระยะหลังเราเริ่มอธิบายทางสรีรวิทยาได้ว่า อารมณ์ของแม่ไม่ใช่เป็นนามธรรมเท่านั้น เวลาที่แม่มีอารมณ์แปรปรวนมันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีระในร่างกายไปด้วยสารเคมีต่างๆ ที่เป็นตัวตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของแม่พวกฮอร์โมน และสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับความเครียดต่างๆ อาทิเช่น Cortisol สามารถผ่านรก (Placenta) ผ่านสายสะดือเข้าไปในเด็กได้ แล้วไปมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กได้ ทำให้สมองบางส่วนเกิดพัฒนาการบางส่วนที่ไม่ปกติ บางส่วนอาจมากหรือน้อยไป เหตุนี้จะส่งผลกระทบให้เด็กที่คลอดออกมาไม่เติบโตตามปกติ หรือมีผลร้ายต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ทำให้เกิดการยอมรับว่าอารมณ์ของแม่ในขณะตั้งครรภ์มีผลกระทบกับพัฒนาการของสมองของลูกได้ และทารกสามารถรับรู้และถ่ายทอดอารมณ์เหล่านี้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา มีงานวิจัยที่สรุปว่าความเครียดทางจิตใจ และอารมณ์ของแม่ในขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลให้สมองและระบบประสาทของลูกพัฒนาได้ไม่ดี และถ้าแม่เครียดมาก อย่างเรื้อรังขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้ลูกมีอาการ ผิดปกตในสมองหลายส่วน เช่น ทำให้เด็กที่เกิดมามี อาการสมาธิสั้น ซุกซน (AD/HD) อาการออติซึม มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์หุนหันพลันแล่น เป็นต้น
ดร. นัยพินิจ และ พญ. นิตยา คชภักดี
(Some images used under license from Shutterstock.com.)