Haijai.com


เข้าใจลูกก่อนพัฒนาสมองลูก


 
เปิดอ่าน 1760

เข้าใจลูกก่อนพัฒนาสมองลูก

 

 

เป้าหมายอุดมคติของเราในการพัฒนาสมองก็คือนำความรู้เรื่องสมองมาใช้ในการสร้างและพัฒนาลูกรักซึ่งเป็นเสมือนดวงใจของพ่อแม่ และเป็นส่วนประกอบสำคัญของครอบครัวให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยจะเน้นในวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 - 8 ขวบ และก่อนที่จะไปสู่การพัฒนาสมองลูกอย่างไรนั้น มีข้อมูลพื้นฐานที่พ่อและแม่ หรือคนเลี้ยงเด็กควรทราบ เพื่อจะได้เข้าใจและไม่ทำอะไรที่ไม่เหมาะสมกับขั้นตอนพัฒนาการของสมองตามธรรมชาติปกติ

 

 

ในสมัยก่อนเรามองพัฒนาการของเด็กเป็นเพียงการเติบโตทางร่างกายเท่านั้น คือมองว่าพัฒนาการเป็นเพียงการเลี้ยงลูกให้มีรูปร่างใหญ่ขึ้น เป็นเพียงความสามารถที่เพิ่มขึ้น เช่น จากคลานได้เป็นลุกนั่งได้ จากลุกนั่งเป็นยันตัวขึ้นได้ แล้วจึงก้าวได้ เดินได้ วิ่งได้เท่านั้นเอง ทั้งที่จริงความหมายของพัฒนาการมีความกว้างขวางรวมไปถึงความสามารถที่เปลี่ยนแปลงไปทางด้านสติ ปัญญา จิตใจ อารมณ์  สังคมและจริยธรรม และความสามารถในการรับรู้ ความสามารถในด้านการแสดงออกของเด็กในวัยต่างๆ เช่น เด็กวัย 2 ขวบจะสามารถจับดินสอขีดเขียนได้ เขียนวงกลมบิดเบี้ยวได้ หากได้เขียนรูปกากบาท ก็จะได้ภาพกากบาทที่หยิกๆ หยักๆ แต่พอ 3 ขวบจะวาดวงกลมได้กลมจนสวยงามทีเดียว และเมื่อ 4 ขวบก็จะสามารถวาดสี่เหลี่ยมได้ และ 5 ขวบ วาดรูปสามเหลี่ยมตามแบบที่เห็นได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็กนั้นได้มีพัฒนาการทางสมองหรือสติปัญญาด้วย มิใช่พัฒนาการทางร่างกายอย่างเดียว

 

 

และด้วยความคิดที่ว่าเด็กเกิดมาใหม่ๆ จนถึง 3-4 ขวบนั้น ยังไม่มีความสามารถในการรับรู้อะไร ทำให้นักวิชาการในอดีตที่ผ่านมาพลาดไปอย่างมหาศาล คือพลาดโอกาสสำคัญในการพัฒนาเด็ก ปล่อยให้เด็กพัฒนาไปอย่างที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “ตามบุญตามกรรม” ทำให้เกิดสภาพเด็กบางคนฉลาดมากเด็กบางคนฉลาดน้อย เพราะเราไม่ทราบว่าสมองเด็กพัฒนาไปได้และมีปัจจัยอะไรที่เป็นสิ่งกำหนดมนุษย์เราในช่วงแรกของชีวิต

 

 

เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการทดลองที่แสดงให้เห็นว่าทารกมีการเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ การทดลองก็ง่ายๆ คือ เอาไฟฉายดวงใหญ่ๆ มาวางไว้ที่ท้องคุณแม่แล้วก็ปิดไฟในห้องให้มืด แล้วจึงเปิดไฟฉายให้สว่างจ้าขึ้น ทำการปิดๆ เปิดๆ ไฟฉายหลายๆ ครั้ง จากนั้นจึงเอาเครื่องวัดการเต้นของหัวใจที่วัดได้ทั้งแม่และลูกเพราะสามารถแยกไดว่านี่หัวใจแม่เต้น นี่หัวใจลูกเต้น มาวัดดูระหว่างที่เปิดไฟ ก็พบว่าจังหวะการเต้นของหัวใจลูกเปลี่ยนไป และถ้าเคลื่อนดวงไฟไปบริเวณใกล้ๆ ตาของลูกถึงแม้ว่าหนังตาลูกจะปิดอยู่แต่ว่าเซลล์ประสาทสัมผัสในลูกตาจะทำงานได้แล้ว และในทันทีที่เราเปิดไฟสว่างจ้าเด็กจะผวาขึ้นได้ ในตอนที่เด็กผวานี้หากถามแม่ว่ารู้สึกอย่างไร แม่จะตอบได้เลยว่ารูสึกถูกลูกเตะท้องเอา

 

 

เช่นเดียวกัน ถ้าเอาเครื่องกำเนิดเสียงไปวางไว้ที่ท้องแล้วก็เปิด ลูกก็มีการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถได กล่าวคือการเต้นของหัวใจจะเปลี่ยน การทดลองทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าลูกมีการตอบสนองแล้วตั้งแต่อยู่ในครรภ์ อย่างไรก็ดีในเรื่องนี้นักวิชาการยังถกเถียงกันว่าการตอบสนองอย่างนั้นอาจจะเป็นพฤติกรรมแบบที่เราเรียกว่าพฤติกรรมสะท้อนหรือรีเฟล็กซ์ (Reflex) เท่านั้นเอง มันจะมีความสำคัญมากน้อยเพียงใดกับอุปนิสัย ใจคอ ความเฉลียวฉลาดโดยเฉพาะเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงและพิสูจน์กันอยู่

 

 

ดร. นัยพินิจ และ พญ. นิตยา คชภักดี

(Some images used under license from Shutterstock.com.)