Haijai.com


มีอะไรเกิดขึ้นในสมองระหว่างที่เด็กพัฒนา


 
เปิดอ่าน 2163

มีอะไรเกิดขึ้นในสมองระหว่างที่เด็กพัฒนา

 

 

เริ่มต้นเมื่อไข่เซลล์เดียวของแม่มาผสมกับสเปิร์มจากพ่อแล้วไข่ที่ได้รับการผสมจะเกิดการแบ่งเซลล์อย่างมาก การแบ่งเซลล์จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากทีเดียวในช่วงตั้งแต่ 4 อาทิตย์ หรือ 1 เดือนแรก จนกระทั่งถึง 5 เดือน เป็นช่วงที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วมาก จนมีการสร้างระบบประสาทขึ้นมาในร่างกายของทารก (O’Rahilly and Fabiola, 1999)

 

 

โดยทั่วไปเซลล์ในสมองคนจะมี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหน้าที่พื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น ควบคุมการเต้นของหัวใจ การกินอาหาร การขับถ่าย การสร้างความรู้สึก และปฏิกิริยาตอบสนองทั่วๆ ไป เซลล์สมองกลุ่มนี้จะเจริญตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และสมบูรณ์เสร็จสิ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ก่อนจะคลอดออกมาชมโลก ซึ่งเป็นเซลล์ที่อยู่ในสิ่งมีชีวิตทั่วๆ ไป แต่มนุษย์เราหรือสัตว์ชั้นสูงจะมีเซลล์สมองอีกกลุ่มหนึ่งมาเจริญหลังจากคลอดแล้ว คือเซลล์สมองที่อยู่ในเปลือกหุ้มสมองใหญ่ (Cerebral cortex)  จะทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ ความเฉลียวฉลาดซึ่งจะทำให้มนุษย์เราแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ทั่วไป เช่น จระเข้ออกลูกเป็นไข่พอมันฟักไข่ออกมาเป็นตัว ลูกจระเข้จะมีพฤติกรรมที่เป็นสัญชาตญาณของมันครบถ้วนเรียบร้อย แสดงว่าพัฒนาการของสมองเกือบทุกอย่างของจระเข้เกิดขึ้นในวัยที่ยังเป็นตัวอ่อนนั้นเอง แล้วพอเจริญเติบโตจนถึงฟักไข่ออกมานั้น วงจรประสาททุกอย่างของมันสร้างตัวเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว จระเข้ไม่มีความจำเป็นต้องการการกระตุ้นหรือต้องการการถนอมเลี้ยงดู หรือการส่งเสริมอะไรมากมายนักหลังคลอด มันสามารถเป็นจระเข้ที่สมบูรณ์แบบได้เลย แม้มันอาจจะไม่ได้เป็นตัวเก่ง แต่ว่ามันก็เป็นจระเข้ธรรมดาๆ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ (Jacobson, 1991; นัยพินิจ คชภักดี 2544)

 

 

แต่มนุษย์เราต่างจากสัตว์พวกนั้น เพราะสมองที่เกิดขึ้นในระหว่างแม่ตั้งครรภ์นั้น เป็นเพียงรากฐานที่ทำให้ทารกคลอดออกมาหายใจได้และมีชีวิตอยู่รอดในช่วงเดือนแรกเท่านั้นเอง แต่หากทารกแรกเกิดไม่ได้รับการกระตุ้น หรือการส่งเสริม ไม่ได้อะไรไปเลี้ยงดูให้ดี การพัฒนาสมองในช่วงที่ 2 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังคลอดที่จะไปเป็นสมองใหญ่ทำให้เราเติบโต เรียนรู้ มีอุปนิสัยใจคอ มีความเฉลียวฉลาดจะพลาดโอกาส เพราะฉะนั้นข้อนี้จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่คุณแม่-คุณพ่อ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กต้องรู้และตระหนักว่าพัฒนาการสมองในคนเรามี 2 ช่วง คือ

 

 

ช่วงแรก เกิดก่อนคลอด สมองจะพัฒนาเพื่อใช้ในกิจกรรมพื้นฐานของการดำรงชีวิต ตามสัญชาติญาณ

 

 

ช่วงที่ 2 จะเกิดขึ้นระหว่างขวบปีแรกจนถึง 6 ขวบ ช่วงนี้สมองเติบโตมากๆ ทีเดียว และวงจรประสาทจะมีความซับซ้อนมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับเพิ่มเติม (Bray et al, 1999)

 

 

การเติบโตของเซลล์ประสาทสมองจะแตกต่างจากเซลล์อื่นของร่างกาย ตรงที่ว่าเซลล์อื่นๆ ในร่างกายที่เกิดขึ้น เปรียบได้กับก้อนอิฐในเวลาที่เราสร้างตึก เพียงแต่เราเอาไปรวมกันเป็นบล็อกๆ ให้เป็นโครงสร้างเท่านั้น อาจจะมีหน้าที่ทางขบวนการชีวเคมีเพียงแค่การสร้างเอ็นไซม์ที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทางเคมีเท่านั้นเอง แต่เซลล์ประสาทของสมองจะต่างกับเซลล์อื่นในร่างกาย ตรงที่การทำงานของเซลล์ประสาทสมองเป็นวงจรเหมือนกับวงจรไฟฟ้า วงจรคอมพิวเตอร์ แต่มันอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ พอมันสร้างเซลล์ประสาทขึ้นมาแล้วมันจะต้องส่งส่วนยื่นของเซลล์ออกไป เพื่อไปหาเซลล์อื่นๆ ที่จะเกาะสัมผัสกันเป็นวงจร และเครือข่าย (Network) กับระบบงาน (Systems) ต่างๆ และมีการส่งสัญญาณประสาททางไฟฟ้า และสารเคมีเพื่อส่งข่าวสารและกระต้นการทำงานซึ่งกัน

 

 

เซลล์ประสาทสมองจะค่อยๆงอกกิ่งก้านสาขาออกไปหากล้ามเนื้อเพื่อที่จะไปควบคุมให้มันเคลื่อนไหว ไปหาประสาทตาเพื่อรับภาพเข้ามา ไปสัมผัสกับเซลล์ประสาทอื่นๆ เพื่อส่งกระแสความคิดเชื่อมโยงกับความคิดต่างๆให้เกิดขึ้น อาจกล่าวได้ว่าเซลล์ประสาทที่รวมกันเป็นสมองของมนุษย์เป็นอวัยวะที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่มนุษย์เราเคยรู้จักกันมา สำหรับมนุษย์เรานั้นไม่มีอะไรในโลก หรือจักรวาลนี้ที่มหัศจรรย์ มีความซับซ้อนเท่าสมอง หรือวงจรเซลล์ประสาทของเราอีกแล้ว (Cowan, 1979; Purves and Lichtman, 1985; Bray et al, 1999)

 

 

ในสมองของมนุษย์เราประกอบด้วยเซลล์อยู่ประมาณไม่น้อยกว่า 1014 หรือหนึ่งร้อยล้านล้านเซลล์และทั้งหนึ่งร้อยล้านล้านเซลล์ยังส่งส่วนยื่นไปสัมผัสกับเซลล์อื่นๆ อีกไม่น้อยกว่าตัวละมากกว่าหมื่นตัว ดังนั้นความ สามารถที่สมองจะส่งความคิดติดต่อกัน เก็บความจำสิ่งต่างๆ จึงทำได้อย่างมหาศาลและมหัศจรรย์จริงๆ สาเหตุนี้จึงเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่าไม่มีอะไรลึกซึ้งเท่าจิตมนุษย์ เพราะสมองของมนุษย์เราสามารถศึกษาและรับรู้ได้ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ตื้นๆ ไปจนถึงเรื่องราวของจักรวาลอันกว้างใหญ่ทีเดียว (Jacobson, 1991; นัยพินิจ คชภักดี 2544)

 

 

การที่เซลล์ประสาทสมองของมนุษย์เราสามารถสัมผัสกันเป็นจำนวนมากมายมหาศาลนี่เอง ทำให้มนุษย์เรามีความสามารถที่จะส่งกระแสความคิดต่างๆ ไปได้ และที่จุดปลายที่ประสาทสัมผัสกันจะมีความพิเศษซึ่งเราเรียกกันว่า “ไซแนพส์” (Synapse) หรือภาษาไทยเรียกว่า “สัมผัสประสาทสัมผัส” และส่วนนี้จะเป็นบริเวณที่สำคัญมาก เพราะว่าเป็นบริเวณที่เซลล์ประสาทส่งสัญญาณไปติดต่อหรือเชื่อมโยมกันเป็นระบบประสาท ถ้าเปรียบกับวงจรไฟฟ้า บริเวณสัมผัสประสาทก็เหมือนกับเป็นจุดเชื่อมโยงทางวงจรทรานซิสเตอร์ตัวหนึ่ง ที่คอยควบคุมการไหลของสัญญาณในวงจรไฟฟ้า กล่าวคือบริเวณสัมผัสประสาทจะควบคุมวงจรของการทำงานต่างๆ ของร่างกาย และจิตใจของเรา (Jacobson, 1991)

 

 

บริเวณที่เป็นระบบประสาท และสมองในเด็กจึงมีความสำคัญอย่างมาก ในระหว่างการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทนั้น ไม่ใช่ตัวเซลล์ที่จะเติบโตเท่านั้น หากมันยังแตกกิ่งก้านออกไปอย่างมหัศจรรย์เลยทีเดียว เหมือนกับต้นไม้ที่เติบโตแล้วแตกกิ่งก้านสาขาออกไป กิ่งก้านสาขาที่แตกออกไป ไม่ใช่แตกไปเพื่อดูสวยๆงามๆ เหมือนกับต้นไม้ที่เราเห็นเท่านั้น แต่เป็นกิ่งก้านสาขาที่จะไปสัมผัส เชื่อมโยงกับเซลล์อื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดการรับความรู้สึกเข้าสื่อสัมพันธ์กันได้จนเกือบไม่มีที่สิ้นสุด

 

 

เด็กวัยแรกเกิด จนถึง 3 เดือนกับเด็กที่มีอายุ 2 ขวบ มีความแตกต่างกันทางอายุประมาณ 1 ปี กับ 9 เดือนเท่านั้น แต่สมองเด็กจะมีความแตกต่างอย่างมหัศจรรย์ทีเดียว ความซับซ้อนและแตกต่างกันที่เกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นตอนนี้ สามารถอธิบายถึงพฤติกรรมเด็กที่เกิดขึ้นได้ ดังเช่นที่เราเคยสงสัยกันว่าทำไมเด็ก 3 เดือน กับ เด็ก 2 ขวบทำอะไรได้แตกต่างกันอย่างมหัศจรรย์จริงๆ เด็ก 3 เดือนยังไม่รู้คำศัพท์สักคำหนึ่ง แต่เด็ก 2 ขวบอย่างน้อยมีคำศัพท์ประมาณ 300-400 คำ ที่รู้เรื่องแล้ว พัฒนาการของสมองทำให้เราอธิบายเรื่องนี้ได้ กล่าวคือเด็กแรกเกิดมาใหม่ๆ จะมีน้ำหนักสมองประมาณ 30-40 %  ของผู้ใหญ่ พออายุ 4 ขวบ สมองจะเกือบเท่า 80% ของผู้ใหญ่ แล้วเมื่อเติบโตถึงอายุ 10 ขวบ จะมีน้ำหนักสมอง 90% ของผู้ใหญ่ พัฒนาการของสมองที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละวัยก็มีความสามารถ และพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป (นัยพินิจ คชภักดี 2544)

 

 

ดร. นัยพินิจ และ พญ. นิตยา คชภักดี

(Some images used under license from Shutterstock.com.)