Haijai.com


การเจริญเติบโตของสมอง


 
เปิดอ่าน 41837

การเจริญเติบโตของสมอง

 

 

การเจริญเติบโตของสมอง โดยเซลล์ประสาทที่ยื่นเส้นใย Axon เข้าไปสัมผัสและสร้างจุดเชื่อมต่อ Synapse กับเซลล์ประสาทอื่นๆ และกับเซลล์ที่เป็นเป้าหมายรับกระแสประสาท target cells ชนิดอื่นๆจะทำให้รู้ว่ามีอวัยวะต่างๆ เกิดขึ้น และจะทำหน้าที่ส่งเส้นประสาทไปเลี้ยงอวัยวะรับประสาทสัมผัสต่างๆ ทำให้เกิดการรับความรู้สึก และมีเส้นประสาทที่จะไปควบคุมการเคลื่อนไหวการทำงานของกล้ามเนื้อ ถ้าพัฒนาการของสมองเกิดการล้มเหลว หรือระบบประสาทเกิดพิการขึ้น อวัยวะส่วนที่เกี่ยวข้องก็จะหายไปหรือไม่พัฒนาเลย  จะเห็นว่าสมองกับระบบประสาทในทารกแรกเกิดไม่ได้เป็นเพียงอวัยวะที่ทำหน้าที่เป็นอิสระเพื่อทำหนาที่อย่างหนึ่งของมันเท่านั้นเอง แต่ว่าเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของอวัยวะทั้งหมดในร่างกาย (Jacobson, 1991)

 

 

สมองของเด็กในช่วงตั้งแต่แรกเกิดเป็นอวัยวะหนึ่งซึ่งเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุด ภายใน 4 ปีแรกของการเติบโต เด็กจะมีพัฒนาการสมองเกือบจะถึง 80% และยังเหลือบางส่วนที่ค่อยๆ เติบโตเป็นขั้นเป็นตอนไปจนเมื่อเด็กอายุครบ 10 ขวบ สมองก็จะมีขนาดใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ เมื่อสมองมีขนาดใหญ่ที่สุดและเจริญเติบโตเค็มที่ตอนอายุ 25 ปี แต่วงจรประสาทเกี่ยวกับความจำและการเรียนรู้ยังอาจเจริญเติบโต และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดชีวิต บางคนมีความเชื่อผิดๆ ว่า พอเรามีอายุมากเป็นผู้สูงอายุ หรือคนชราสมองจะเรียนรู้ไม่ได้อีกแล้ว ความเชื่อพวกนี้ไม่ถูกต้อง เพราะสมองของเราเปลี่ยนแปลงยืดหยุ่น (Plasticity) ได้มากๆ และยังมีเซลล์เกิดขึ้นใหม่ได้ เพียงแต่เราต้องใช้วิธีการให้ถูกต้องในวัยต่างๆ ในอายุต่างๆ ในการเรียนรู้เท่านั้นเอง (Lund, 1978; Thatcher et al, 1996)

 

 

เมื่อสมองเป็นอวัยวะที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งไม่เพียงแต่อาหารที่จะเป็นเชื้อเพลิงหรือเป็นพลังงาน และเป็นโมเลกุลของโครงสร้างต่างๆเท่านั้น หากแต่ยังต้องอาศัยปัจจัยต่างๆจากการเลี้ยงดู และการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมที่จะไปกระตุ้น ไปเร่งเร้าหรือไปควบคุมการเจริญเติบโตอย่างซับซ้อน  อาจกล่าวได้ว่าขบวนการกระตุ้น เร่งเร้าเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งถึงช่วงที่สำคัญที่สุด คือ ช่วงหลังจากคลอดมาจนถึงประมาณ 6 ขวบแรก ช่วงนี้จึงถือเป็นช่วงสำคัญที่สุดของชีวิต (Critical or Sensitive Period of Brain Development) ซึ่งในช่วงนี้หากเราไม่สามารถให้การค้ำจุน หรือส่งเสริมการพัฒนาทุกด้านในช่วงนี้ได้แล้ว อาจเกิดปัญหาทำให้พัฒนาการสมองล่าช้า จนหยุดเติบโตหรือเกิดความผิดปกติขึ้น ทำให้มีปัญหาในพัฒนาการทางพฤติกรรมด้านต่างๆ ตลอดจนพัฒนาการของการเรียนรู้ สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ สังคม และทักษะทางภาษา นับว่าเป็นการพลาดโอกาสที่สำคัญที่สุดในชีวิตเช่นกัน (Dobbing, 1980; Dobbing, 1997) ในช่วงเวลาเดียวกันถ้าเราให้ความสนใจ และกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสมก็จะกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงอายุต่างกันอย่างสร้างสรรค์ให้เต็มที่ตามศักยภาพของเด็ก (Windows of Opportunities) ในปัจจุบันเราจึงได้เน้นในการพัฒนาเด็กช่วงปฐมวัย ดังกล่าว โดยเฉพาะวงการศึกษาได้ให้ความสำคัญ และพยายามให้การศึกษาให้ครบทุกด้านอย่างดีมากๆในช่วงของการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน (Nash, 1997; Newsweek, 1997; Schonkoff and Phillips, 2000)

 

 

ดร. นัยพินิจ และ พญ. นิตยา คชภักดี

(Some images used under license from Shutterstock.com.)