© 2017 Copyright - Haijai.com
อาหารเพิ่มพัฒนาการของสมอง
สารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และช่วยเสริมสร้างสมองของลูกมีอยู่ในอาหารชนิดใดบ้าง
• โปรตีน หน้าที่ของโปรตีน คือ ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกายและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ให้พลังงานช่วยรักษาสมดุลของน้ำในหลอดเลือดเนื้อเยื่อและเซลล์ โปรตีนสารอาหารที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของสมอง โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ขวบปีแรก สมองของเด็กจะมีการเจริญเติบโตถึงร้อยละ 80 ของน้ำหนักสมองผู้ใหญ่หากได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ จะส่งผลกระทบทำให้สมองมีขนาดเล็กกว่าปกติซึ่งจะมีผลเสียต่อสติปัญญาของลูกในระยะยาวได้
อาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนนั้นมีทั้งที่ได้จากพืชและสัตว์ โปรตีนจากพืชมักจะพบมากในพืชตระกูลถั่ว ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วลิสง รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ เต้าเจี้ยว เป็นต้น โปรตีนที่มีคุณภาพสูง พบมากในเนื้อสัตว์ทุกชนิด เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เป็ด ไก่ตับ ปลา กุ้ง หอย นม และไข่
• วิตามินเอ หน้าที่ของวิตามินเอ คือช่วยในการสร้างเม็ดสีสำหรับการมองเห็นภาพในที่มืด วิตามินเอจึงมีความสำคัญต่อดวงตาของเราเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบริเวณจอรับภาพในตา นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อการรักษาเยื่อบุต่างๆ ในร่างกาย เช่น เยื่อบุตาขาว เยื่อบุทางเดินหายใจ ทางเดินอาหารให้คงสภาพปกติ และยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันเชื้อโรคของร่างกายทำงานได้ดีอีกด้วย
การขาดวิตามินเอจะทำให้การมองเห็นลดลง และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารได้ง่าย ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อพัฒนาการของสมอง อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ ได้แก่ ตับ ไข่แดง น้ำนม ถือเป็นแหล่งที่ดีที่สุดของวิตามินเอ นอกจากนี้ยังพบในผักที่มีสีเขียวเข้มและผลไม้ที่มีสีเหลืองส้มซึ่งจะให้เบต้าแคโรทีน ซึ่งร่างกายจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ เช่น ผักตำลึง ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ฟักทอง แครอท มะละกอสุก กล้วย มะม่วงสุก เป็นต้น
• ธาตุเหล็ก เป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ซึ่งเป็นสารในเซลล์เม็ดเลือดแดงทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมทั้งสมองด้วย การขาดธาตุเหล็กจะทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย สมาธิลดลง ขาดความกระตือรือร้น สติปัญญาด้านความจำลดลงและเกิดภาวะโลหิตจางได้ ฉะนั้นหลังจากที่ลูกเริ่มทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กเป็นประจำ เพื่อความสมบูรณ์ของร่างกายและสติปัญญา
อาหารที่มีธาตุเหล็กสูงนั้นมีอยู่หลายชนิด เช่น เนื้อสัตว์ ตับ ไข่แดง ผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักโขม บร็อกโคลี่ และตำลึง เป็นต้น แต่ธาตุเหล็กที่มีอยู่ในเนื้อสัตว์ และตับ จะถูกดูดซึมไปใช้ได้ดีกว่าธาตุเหล็กในไข่แดง นม และพืชผักต่างๆ นอกจากคอยดูแลให้ลูกได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอด้วย เพราะวิตามินซีในผักและผลไม้จะช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้น
• ไอโอดีน เป็นแร่ธาตุอีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการทางสมองของทารก โดยปกติร่างกายคนเราต้องการไอโอดีนประมาณ 100-150 ไมโครกรัมต่อวัน แต่ในช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่ต้องการไอโอดีนเพิ่มขึ้นเป็น 200 ไมโครกรัมต่อวัน เนื่องจากมีการขับออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้นและถูกดึงไปให้ทารกในครรภ์ใช้ในการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ขาดไอโอดีนจะทำให้ลูกน้อยในครรภ์ไม่ได้รับไอโอดีนเพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้ลูกที่เกิดมามีความผิดปกติทางสมอง และระบบประสาท มีอาการหูหนวก เป็นใบ้ หรือที่เรียกว่า “โรคเอ๋อ” ฉะนั้นนอกจากคุณแม่จะต้องรับประทานไอโอดีนให้เพีงพอในช่วงตั้งครรภ์แล้ว เมื่อลูกรับประทานอาหารเสริมได้แล้วคุณแม่ก็ควรดูแลให้ลูกได้รับไอโอดีนอย่างเพียงพอด้วย
สำหรับแหล่งอาหารที่มีไอโอดีนได้แก่ เกลือที่ได้จากน้ำทะเลหรือเกลือสมุทร เกลือเสริมไอโอดีน อาหารทะเล เช่น ปลาทะเล กุ้ง หอย เป็นต้น และพืชทะเล เช่น สาหร่ายทะเล
• สังกะสี มีบทบาทอย่างมากต่อร่างกายทั้งในด้านการเจริญเติบโต ภูมิคุ้มของร่างกาย การทำงานของอวัยวะต่างๆ การป้องกันอนุมูลอิสระ แหล่งอาหารที่มีสังกะสีมาก ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ อาหารทะเล เช่น ปลา กุ้ง หอย นางรม สำหรับพืชคือ ถั่ว งา และข้าวกล้องนั้นแม้จะมีสังกะสีปริมาณปานกลางถึงสูง แต่การดูดซึมไม่ดีเพราะมีสารไฟเตต (phytate)
• วิตามินบี 1 ใช้ในประบวนการเปลี่ยนแป้งหรือน้ำตาลให้เป็นพลังงาน ทำหน้าที่รักษาการทำงานของระบบประสาท ช่วยทำให้เซลล์ประสาทแข็งแรง กล้ามเนื้อหัวใจทำงานปกติพบมากในเนื้อหมู ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วดำ เป็นต้น
การขาดวิตามินบี 1 จะทำให้เกิดโรคเหน็บชา และระบบประสาทผิดปกติได้ เช่น ประสาทอักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา ความจำไม่ดี และนอนไม่หลับ รวมทั้งหัวใจวายได้
• วิตามินบี 2 ช่วยในการเจริญเติบโตและกระบวนการใช้ประโยชน์ของไขมัน คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน ที่จำเป็นต่อการพัฒนาสมองได้อย่างเต็มที่ ถ้าขาดวิตามินนี้จะส่งผลให้สมองของเด็กมีขนาดเล็กและไม่พัฒนาเท่าที่ควร แหล่งอาหารที่สามารถพบวิตามินบี 2 ได้มาก คือ นม ไข่แดง เนื้อสัตว์ และตับ
• วิตามินบี 6 มีความสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาท ช่วยในการสร้างสารที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองและระบบประสาท ความจำดี วิตามินบี 6 มีมากในเนื้อสัตว์ ไข่แดง และถั่วเมล็ดแห้ง
• วิตามินบี 12 มีส่วนสำคัญของการแบ่งเซลล์การทำงานของสมองและประสาท การขาดวิตามินนี้จึงส่งผลให้เซลล์สมองมีการทำงานลดลง เชื่องช้าและกระทบต่อการเรียนรู้ รวมทั้งมีอาการซีด แหล่งที่สามารถพบวิตามินบี 12 ได้มากคือ ตับ เนื้อสัตว์ ไข่ นม
ศาสตราจารย์นายแพทย์ พิภพ จิรภิญโญ
หัวหน้าหน่วยโภชนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
(Some images used under license from Shutterstock.com.)