
© 2017 Copyright - Haijai.com
“คุณพ่อคุณแม่คะ หนูดูดนมเก่งแบบนี้แล้วหนูจะโตขึ้นไหมคะ?”
เวลาผ่านไปเร็วเหมือนติดปีกบิน พ่อแม่คงเริ่มคุ้นชินกับการที่ก่อนนอนในแต่ละวันจะรู้สึกเมื่อยแขน เมื่อยไหล่โดยไม่ทราบสาเหตุบ่อยๆ นั่นเป็นเพราะอุ้มลูกที่น้ำหนักเพิ่มมากขึ้นทุกๆ วัน แต่ก็คงไม่วายกังวลใจว่าน้ำหนักและส่วนสูงจะเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่
น้ำหนัก การชั่งน้ำหนักในเด็กเล็กควรถอดเสื้อผ้าและผ้าอ้อม ควรชั่งเวลาเดียวกันทุกครั้งด้วยเครื่องชั่งน้ำหนักเครื่องเดิม และควรตรวจดูให้ตาชั่งอยู่ในสมดุลย์ที่ศูนย์ก่อนชั่งเสมอ
ในสัปดาห์แรกหลังคลอดลูกอาจมีน้ำหนักลดลงได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักแรกเกิด เพราะมีการถ่ายขี้เทาและปัสสาวะออกมา รวมทั้งเด็กยังกินนมได้ไม่เต็มที่ ต่อมาในช่วง 3-6 เดือนแรก น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 20-30 กรัม
น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของน้ำหนักแรกคลอดเมื่ออายุ 4-5 เดือน เพิ่มเป็น 3 เท่าเมื่ออายุ 1 ปี และเพิ่มเป็น 4 เท่าเมื่ออายุ 2 ปี
ส่วนสูง เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี จะวัดความยาวในท่านอน โดยที่อายุแรกเกิด- 6 เดือน เด็กผู้ชายควรสูงขึ้นอย่างน้อย 17 เซนติเมตร เด็กผู้หญิงควรสูงขึ้นอย่างน้อย 16 เซนติเมตร จากนั้นอายุ 6 เดือน – 12 เดือน ควรสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 8 เซนติเมตร ทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง
คุณพ่อคุณแม่สามารถเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ความยาวแรกคลอดปกติประมาณ 50 เซนติเมตร เมื่อลูกอายุ 1 ปี ลูกควรมีความสูง 1.5 เท่าของความยาวแรกเกิด หรือเท่ากับ 75 เซนติเมตร และสูงเป็น 2 เท่าของความยาวแรกเกิด หรือเท่ากับ 100 เซนติเมตร เมื่ออายุ 4 ปี
เส้นรอบศีรษะ ปัจจัยสำคัญในการกำหนดขนาดและรูปร่างของศีรษะคือ การเจริญเติบโตของสมองพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของความดันในกะโหลกศีรษะ และความผิดปกติของกระดูก การตรวจศีรษะจะต้องคลำรอยต่อของกะโหลกและขนาดของกระหม่อมด้วย ซึ่งกระหม่อมหน้าจะมีขนาดค่อยๆ เล็กลงและปิดเมื่ออายุ 9-18 เดือน กระหม่อมหลังจะมีขนาดเล็กกว่าและปิดเมื่ออายุ 3-4 เดือน หรือคุณพ่อคุณแม่อาจจะคิดเปรียบเทียบอย่างง่ายๆ ว่า เส้นรอบศีรษะเมื่อแรกเกิดปกติโดยประมาณเท่ากับ 35 เซนติเมตร อายุ 4 เดือน เท่ากับ 40 เซนติเมตร และ เพิ่มเป็น 45 เซนติเมตร เมื่ออายุ 1 ปี
เส้นรอบอก เป็นการวัดในท่านอนแล้วนำไปเปรียบเทียบกับเส้นรอบศีรษะซึ่งจะเท่ากันเมื่ออายุ 6 เดือน หลังจากนั้นเส้นรอบอกจะมากกว่าเส้นรอบศีรษะ
โดยทั่วไปการเจริญเติบโตของเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายจะไม่เท่ากัน จึงจำเป็นที่จะต้องแยกบันทึกค่าต่างๆตามเพศของลูก ดังจะเห็นได้จากกราฟค่าปกติของชมรมต่อมไร้ท่อในเด็กแห่งประเทศไทย ที่ให้เด็กผู้หญิงใช้กราฟแผ่นสีชมพูและเด็กผู้ชายใช้กราฟแผ่นสีฟ้า ซึ่งมีค่าปกติจะอยู่ในช่วงเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 3-97 ค่าน้ำหนัก ส่วนสูง และเส้นรอบศีรษะควรอยู่ในเปอร์เซ็นต์ไทล์เดียวกัน นอกจากนี้การบันทึกการเจริญเติบโตควรทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ติดตาม เฝ้าระวังและเห็นการเปลี่ยนแปลงของการเจริญเติบโตของลูกได้ดียิ่งขึ้น
แพทย์หญิง เกศินี โอวาสิทธิ์
กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม
ศูนย์พัฒนาการและการเรียนรู้ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)