© 2017 Copyright - Haijai.com
วินาทีแรกที่พ่อแม่ได้ยินเสียงร้อง
และเห็นใบหน้าน้อยๆ ของลูก นับเป็นช่วงเวลาแห่งความปลาบปลื้มยินดีที่สุดของพ่อแม่ที่อุตส่าห์เฝ้าทะนุถนอม หล่อเลี้ยงทารกน้อยในครรภ์มาเป็นเวลาหลายสิบสัปดาห์ พ่อแม่บางคู่อาจจะเคยมีประสบการณ์เลี้ยงลูกคนก่อนหน้านี้มาแล้ว บางครอบครัวก็โชคดีที่มีญาติผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน ไม่ว่าจะเป็นคุณตา ยาย ปู่ ย่า ลุง ป้า น้า อา ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลเด็กเป็นผู้ช่วยคนสำคัญ แต่สำหรับพ่อแม่มือใหม่ก็คงจะเต็มไปด้วยคำถาม ความกังวลและความไม่แน่ใจในหลายๆ เรื่องตั้งแต่แรกเกิด ไม่แน่ใจว่าลูกจะแข็งแรงหรือไม่ ไม่ทราบว่าทำไมหลังคลอดหมอ และพยาบาลจะต้องแยกลูกออกไป แล้วกำลังรุมทำอะไรกับลูกอยู่ พ่อแม่ต้องทำตัวอย่างไรบ้างเพื่อให้ลูกมีความสุข มีพัฒนาการและการเรียนรู้ที่ดีสมวัย
วันนี้เราจะมาไขความลับให้ได้ทราบกันกับเรื่องราวการเดินทางของลูกน้อยตั้งแต่แรกลืมตาในห้องคลอดจนถึงห้องทารกแรกเกิด และกลับบ้านว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
เมื่อกุมารแพทย์ทารกแรกเกิดได้รับแจ้งว่าจะมีการคลอดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคลอดธรรมชาติ หรือ การผ่าคลอดก็ตาม จะต้องเตรียมตัวหลายอย่าง เช่น ทบทวนประวัติการตั้งครรภ์ของมารดา ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ สุขภาพของมารดาและทารกระหว่างตั้งครรภ์ อายุครรภ์ ภาวะของทารกในครรภ์ก่อนคลอด จากนั้นเตรียมพยาบาลคู่ใจไป “รับเด็ก” ด้วยกัน เมื่อไปถึงห้องคลอดก็ต้องตรวจเช็กอุปกรณ์ต่างๆ เครื่องให้ความอบอุ่น สายออกซิเจน เครื่องดูดเสมหะ ที่ใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นต้น
“อุแว้ อุแว้ อุแว้ พ่อจ๋า แม่จ๋า หนู (ผม) ออกมาแล้วนะคะ (ครับ) แล้วเนี่ยหมอเค้าทำอะไรกับหนูเนี่ย หนูกลัวจังเลย”
“อ๋อ! ไม่ต้องกลัวจ๊ะ หมอแค่ทำให้หนูอบอุ่น เช็ด ดูน้ำคร่ำออกจากปากและจมูก ผูกสายสะดืออีกครั้ง และตรวจประเมิน เบื้องต้นในนาทีที่ 1 และ 5 ที่หมอเรียกว่า “Apgar Score” ซึ่งย่อมาจาก A = Activity เป็นการประเมินกำลังกล้ามเนื้อแขนขา P = Pulse อัตราการเต้นของหัวใจ G = Grimace (Reflex Irritability) ปฏิกิริยาตอบสนองต่อการกระตุ้น A = Appearance สีผิว และ R = Respiration การหายใจ โดยแต่ละด้านมีคะแนนเต็ม 2 รวมทั้ง 5 ด้าน เท่ากับคะแนนเต็ม 10 เมื่อหนูเรียบร้อยดีแล้วหนูอาจจะรู้สึกว่ามีสายอะไรยาวๆ มาพาดตามตัว ไม่ต้องตกใจนะจ๊ะ นั่นเป็น “สายวัด” หมอเอามาวัดสัดส่วนของหนู เริ่มจาก เส้นรอบศรีษะ เส้นรอบอก ความยาวตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า แต่คุณหมอบางท่านอาจจะทำหลังจากนั้นก็ได้ จากนั้นพวกเราทั้งหมดก็จะไปที่ห้องทารกแรกเกิดกัน”
เอาล่ะตอนนี้เราย้ายมาดูเรื่องราวที่เกิดขึ้นในห้องทารกแรกเกิดกัน ลูกก็จะไปนอนอยู่ใต้เครื่องให้ความอบอุ่น พยาบาลก็จะชั่งน้ำหนัก ตรวจวัดอุณหภูมิ การหายใจ ระดับออกซิเจนปลายนิ้ว ทำความสะอาดโดยใช้น้ำมันเช็ดไขที่ติดมากับผิวลูกให้สะอาดเอี่ยมอ่อง เช็ดตาและหยอดยาฆ่าเชื้อที่ตาทั้ง 2 ข้าง ทำความสะอาดสายสะดือ ฉีดวิตามินเค ส่วนหมอก็ตรวจร่างกายลูกลย่างละเอียดทั่วทั้งตัว จากนั้นจะห่อผ้าให้ความอบอุ่นแล้วปล่อยให้ลูกนอนพัก รอประมาณ 3 ชั่วโมง จนแน่ใจว่าลูกสบายดีจึงเริ่มให้ดูดนมแม่ได้ ระหว่างนั้นหมอและพยาบาลยังไม่ได้พักหรอกนะคะ ต้องไปเขียนประวัติ สั่งการรักษาให้ลูกตามที่ได้ทำไปข้างต้น รวมถึงการให้สังเกตสีและปริมาณปัสสาวะ-อุจจาระ ฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (HBV) ด้วย
เมื่ออายุ 48 ชั่วโมงขึ้นไปแต่ไม่เกิน 1 สัปดาห์ ลูกจะถูกเจาะเลือดแล้วหยดลงบนกระดาษซับพิเศษของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 6 วงเล็กๆ เพื่อส่งตรวจคัดกรองระดับธัยรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid stimulating hormone, TSH) และโรคพีเคยู (Phenylketonuria, PKU) หากลูกมีภาวะตัวเหลือง (Jaundice) ก็ต้องส่งตรวจสารเหลือง (Microbilirubin) ค่าความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง (Hematocrit) พร้อมทั้งส่งตรวจหาสาเหตุของการเหลืองด้วย นอกจากนี้สำหรับบางโรงพยาบาลอาจจะส่งตรวจกรุ๊ปเลือด ภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกซ์พีดี (G6PD) ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) หรือเก็บเลือดจากสายสะดือ (Cord Blood) ในกรณีที่พ่อแม่ต้องการเก็บไว้เผื่อใช้งานในอนาคต ก็สามารถทำได้ตั้งแต่ในห้องคลอดโดยที่พ่อแม่ต้องแจ้งให้ทราบก่อนล่วงหน้า
ก่อนกลับบ้านลูกจะได้รับการตรวจคัดกรองเรื่องการได้ยิน หากเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง เช่น คลอดก่อนกำหนด ก็ต้องส่งตรวจตาด้วย หากไม่ปกติ (Not Pass) ก็จำเป็นต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติมต่อไป จะเห็นได้ว่าลูกกว่าจะได้กลับบ้านพร้อมพ่อแม่ต้องผ่านขั้นตอนการดูแลอย่างละเอียดจากทีมแพทย์ และพยาบาลทุกคนเพื่อให้พ่อแม่แน่ใจได้ว่าลูกปกติและแข็งแรงดี
แพทย์หญิง เกศินี โอวาสิทธิ์
กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม
ศูนย์พัฒนาการและการเรียนรู้ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)