© 2017 Copyright - Haijai.com
สื่อสารกับลูกให้ถูกใจ
น่าแปลกที่ในยุคการสื่อสารกว้างไกล ปัญหาเรื่องการสื่อสารกันไม่เข้าใจ ก็ดูเหมือนจะยังไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดไปสักที ?
ทำไมการสื่อสารที่สะดวกขึ้น จะทำให้เรา เข้าใจกันน้อยลง โดยเฉพาะกับคนในครอบครัว? ทั้งที่มีความรักให้กันและกันอย่างเปี่ยมล้น แต่เพราะเหตุผลใดกันหนอจึงทำให้ พ่อ แม่ และลูก มักเกิดปัญหา พูดกันไม่รู้เรื่อง พูดกันน้อย และไม่พูดกันอยู่ร่ำไป
ปัญหานี้จะเกิดขึ้นน้อยลง หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลย หากคุณพ่อคุณแม่เริ่มต้นสื่อสารกับลูกอย่างถูกต้อง ตั้งแต่พวกเขายังเยาว์วัย ทำให้ลูกได้เรียนรู้ตั้งแต่เล็กว่า เขาสามารถพูดคุย เชื่อถือ และไว้ใจพ่อแม่ได้ทุกเรื่อง
การสื่อสารให้ถูกอกถูกใจทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณลูกนั้นทำได้ไม่ยาก มันก็แค่
• แค่ฟัง เปิดโอกาสให้ลูกได้พูด ได้ระบายความรู้สึก ได้แสดงความคิดเห็น การฟังลูกพูดบ้างจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้เข้าใจความคิด ความรู้สึกของลูก ทำให้ลูกได้ระบายความรู้สึกที่อาจจะเก็บกดและคั่งค้างอยู่ในใจ ฟังลูกอย่างสงบ คิดและไตร่ตรองคำพูดของลูก อย่าดุหรือแทรกขึ้นมากลางคัน ถ้าหากลูกสับสนจนพูดไม่รู้เรื่อง ควรสัมผัสและให้กำลังใจลูกด้วยคำพูดที่อบอุ่น อ่อนโยน เช่น ‘ใจเย็นๆ ค่อยๆ พูด แม่ฟังลูกอยู่เสมอ’ เมื่อฟังลูกจนจบแล้วควรเริ่มต้นด้วยคำพูดเชิงบวก มองตาลูกขณะที่พูดเพื่อให้ลูกสัมผัสถึงความรักและความจริงใจที่พ่อแม่มีให้
• แค่ดูก็รู้ใจ เด็กบางคนอาจใช้วิธีแสดงออกแทนการพูด ถ้าเป็นเด็กเล็กก็อาจจะร้องไห้ งอแงเมื่อรู้สึกไม่สบายตัว ไม่อยากทำหรือไม่พอใจ แต่ถ้าเป็นเด็กโต อาจใช้วิธีเงียบ หรือโวยวาย กรีดร้อง จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะถอดรหัสใจ ว่าการกระทำของลูกนั้นต้องการสื่อสารอะไร เช่น ถ้าลูกลงไปนอนดิ้นทุรนทุราย แสดงว่าเขาไม่ต้องการทำสิ่งนั้น ต่อต้าน หรือต้องการต่อรอง ความเข้าใจ ความใส่ใจ และการสังเกตจะทำให้เราเข้าใจลูกได้ถูกต้อง มีอำนาจในการต่อรอง และหาวิธีสงบเด็กได้
• แค่กำลังใจ หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่บั่นทอนกำลังใจหรือก่อให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจกับลูก เพราะจะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกเป็นปรปักษ์ ก้าวร้าว และไม่ยอมฟังคำอธิบายอื่นๆ นอกจากนี้การแสดงศักยภาพของความเป็นพ่อแม่ด้วยการส่งเสียงดัง ตะโกน ตะคอกลูกนั้นจะได้ผลเป็นอย่างดี หากคุณต้องการให้การสื่อสารระหว่างคุณกับลูก ล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มต้น
• แค่เสียง ไม่พอ การับปากหรือสัญญากับลูกเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ารับปากแล้วต้องทำตามสัญญา อย่าคิดว่าเรื่องเล็กน้อยไม่เป็นไร เทียบง่ายๆ การติดหนี้หนึ่งร้อยบาทกับการติดหนี้หนึ่งแสนบาท ล้วนทำให้ชื่อของคุณไปอยู่ในแบล็คลิสต์ได้เหมือนกัน การไม่รักษาสัญญากับลูกไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน คือ ทำให้ลูกหมดความเชื่อถือ ระแวง และมีปัญหาในการสื่อสารครั้งต่อไป ดังนั้นก่อนจะรับปากกับลูกทุกครั้งต้องคิดก่อนว่าทำได้ไหม และสมควรรับปากหรือไม่
• แค่พยายาม ไม่ได้ ความพยายามอาจเป็นสิ่งที่ดี แต่ในบางครั้งความพยายามในทางที่ไม่ถูกทิศ ก็อาจไม่นำไปสู่อะไรเลย นอกจากหายนะ !! คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจรู้สึกว่าอยากเป็นเอนไซโคพิเดียเคลื่อนที่ให้ลูกๆ ชนิดที่ว่า ถามมาเถอะ จะตอบให้ พ่อต้องรู้ แม่ต้องทราบ นับเป็นความคิดที่ดี หากคุณพ่อคุณแม่จะเป็นผู้รู้จริง แต่ถ้าเป็นแค่ความพยายาม ที่จะแสดงว่ารู้ เพราะกลัวเสียเหลี่ยมความเป็นพ่อแม่แล้วละก็ เห็นทีจะต้องขอบอกว่าเป็นการกระทำที่น่าจะมีผลเสียมากกว่าผลดีเป็นแน่ เพราะการพยายามอธิบายในสิ่งที่เราเองยังไม่เข้าใจ ไม่รู้จริง อาจทำให้ลูกสับสนและความน่าเชื่อถือ ไว้วางใจที่ลูกมีต่อเราอาจต่ำเตี้ยเรี่ยจนใกล้ศูนย์ ดังนั้นถ้าลูกถามแล้วคุณพ่อคุณแม่ไม่รู้ ก็ขอให้ตอบลูกไปตามจริงว่า ไม่รู้ คงต้องหาข้อมูลก่อนแล้วจะมาตอบให้ เป็นการฝึกให้ลูกยอมรับความจริงโดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบ รวมทั้งรู้จักวิธีถาม วิธีหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนอธิบายเมื่อเขาโตขึ้น
• แค่ขอโทษ ก็พอ การขอโทษและยอมรับผิดของคุณพ่อคุณแม่จะเป็นอีกต้นแบบที่ทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะยอมรับความจริง ยอมรับความผิด ลดนิสัยหยิ่งยโส นอกจากสอนให้ขอโทษแล้ว ยังควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า การขอโทษหรือการแสดงความเสียใจเป็นสิ่งที่ควรกระทำและไม่น่าอาย เพราะทุกคนทำผิดพลาดได้ การขอโทษจะทำให้ไม่ก่อศัตรู และความผิดพลาดจะเป็นบทเรียนให้ระวัง ไม่ผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก
“การสื่อสารกับลูกเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ จึงต้องอาศัยทั้งความตั้งใจ ความเข้าใจ การสังเกต การปรับปรุงและการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จึงจะทำให้ทักษะการสื่อสารพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ”
แพทย์หญิงจิตรา วงศ์บุญสิน
กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลบางปะกอก 1
(Some images used under license from Shutterstock.com.)