
© 2017 Copyright - Haijai.com
ฟังจากความว่างเปล่า
เคยสังเกตมั้ยค่ะว่าเวลาที่คุณพ่อคุณแม่คุยกับลูก เรามักอยู่กับความคิดของตัวเราเอง และตีความคำพูดด้วยความคิดของตัวเอง โดยไม่ได้อยู่กับลูกจริงๆ เลย ลูกพูดอย่างนี้ เดี๋ยวต้องต่อด้วยอย่างนั้น ลูกเล่าว่าทำอย่างนี้ เดี๋ยวลูกต้องต่อว่าทำอย่างนั้น
เรามักคาดเดาไปก่อนล่วงหน้า โดยอาศัยประสบการณ์จากในอดีตมาเป็นตัวชี้นำ และนั่นทำให้เรา “พลาด” ในการที่จะเดินเข้าไปทำความเข้าใจกับลูกอย่างน่าเสียดาย
“แม่ขา วันนี้ครูให้น้องไหมออกไปอ่านเรียงความหน้าชั้น”
“แล้วหนูอ่านได้มั้ย ไม่ได้ละซิ ว่าแล้วเห็นมั้ย น้องไหมน่ะขี้อายเกินไป เวลาอยู่ต่อหน้าคนเยอะๆ ทีไร ชอบพูดไม่ออก แข้งขาสั่น อย่างนี้บุคลิกภาพไม่ดีรู้มั้ยลูก ไม่ได้ละ แม่ต้องฝึกเรื่องการแสดงออกให้น้องไหมมากกว่านี้ซะแล้ว ไม่งั้นต่อไปพอหนูโตขึ้นแล้วคุณครูให้ออกไปแสดงหน้าชั้น ขืนไปยืนขาสั่นอยู่ล่ะก็ แม่อายเขาแย่เลย”
ประโยคสนทนาระหว่างคุณแม่หมี่และน้องไหม ใครได้ยินเข้าเป็นต้องอมยิ้มในความช่างเจราของคุณแม่หมี่ ที่ทั้งคิดทั้งพูดได้เป็นฉากเป็นตอน ทำเอาน้องไหมนั่งนิ่งอึ้งไป
เคยมั้ยคะ ที่เมื่อลูกอ้าปากจะพูด จะเล่าอะไรสุกอย่างหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่ก็อดไม่ได้ เผลอดักคอขึ้นมาอย่างคนรู้ทัน และอาบน้ำร้อนมาก่อนว่า “ฉันว่าแล้ว มันต้องเป็นอย่างนี้” “นั่นไง ผิดปากเสียที่ไหนล่ะ”
ถ้าเคย หมอขอแนะนำว่าให้พยายามลด ละ เลิก พฤติกรรมแบบนี้ เพราะทุกคำพูดที่คุณพ่อคุณแม่คิดว่าน่าจะเป็นการอบรมสั่งสอน เป็นการผลักดันให้ลูกเกิดแรงฮึด หรือเป็นการแสดงความรัก ความห่วงใย ความเข้าใจ ในตัวลูกนั้น นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างที่คุณพ่อคุณแม่หวังแล้ว ผลเพียงอย่างเดียวที่เกิดขึ้นก็คือสร้างความรู้สึกติดลบในใจลูก
ลองนึกภาพลูกโป่งที่ถูกเป่าลมจนตึง ถ้าได้รับการปล่อยลมที่อัดอยู่ข้างในออกมาเสียบ้าง ลูกโป่งนั้นก็จะสามารถคงสภาพต่อไปได้ แต่ถ้าได้รับแรงอัดเพิ่มเข้าไปอีกโดยไม่มีทางระบายออกเลย ในที่สุดลูกโป่งก็จะระเบิดและแตกกระจัดกระจายไป ลูกของคุณพ่อคุณแม่ก็เช่นกันค่ะ
เมื่อลูกอยากเล่า อยากพูด หน้าที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่ก็คือ การฟัง และสำคัญอย่างมากที่ต้องเริ่มต้นฟังจากความว่างเปล่า คือ การฟังโดยเอาความคิด ความกังวลทั้งหมดของเราแขวนไว้ก่อน แล้วฟังจากมุมมองของลูก โดยปราศจากอคติ ไม่ต้องรู้เท่าทัน ไม่ต้องคาดเดาล่วงหน้า หรือหวาดระแวง ฟังอย่างตั้งใจ ติดตามเรื่องราวไปพร้อมๆ กับคำบอกเล่าของลูก และรอฟังบทสรุปที่ออกมาจากปากลูก
เมื่อลูกพูดจบ ลูกโป่งใบน้อยได้ระบายลมออกมาจนฟุบแฟบแล้ว เมื่อนั้นละค่ะ จิตใจและสมองของลูก ก็จะเกิดความสงบจบเรื่องที่ค้างคาใจ จนมีพื้นที่ว่างพอที่จะรับฟังคำสั่งสอน ความคิดเห็นของคุณพ่อคุณแม่
การด่าทอ ทะเลาะทุ่มเถียงหรือซ้ำเติมลูก ไม่ได้ทำให้ชีวิตลูกหรือของคุณพ่อคุณแม่ดีขึ้นเลย ยิ่งด่าว่าลูก ก็เหมือนตอกลิมแห่งความเจ็บปวดย้ำซ้ำลงไปในจิตใจตนเอง ว่ามีลูกไม่ได้เรื่อง ไม่ได้ดังใจ ชอบทำให้พ่อแม่ผิดหวัง ตัวลูกเองก็รู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า เสียความมั่นใจในตนเอง เรียกว่าด้วยคำด่าว่าประโยคเดียว สร้างความเจ็บซ้ำให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่ และคุณลูกได้อย่างทั่วถึง
พ่อแม่คือคนที่รักลูกมากที่สุด และความรักนี้ควรมาพร้อมกับการให้เกียรติลูก เพราะถ้าพ่อแม่ไม่ให้เกียรติลูกของตนเองแล้ว เด็กจะไม่มีวันเชื่อมั่นว่าเขาจะได้รับสิ่งนี้จากคนอื่น ทุกคำพูดของคุณพ่อคุณแม่จึงควรเป็นคำพูดที่ให้พลัง ให้อิสระ ให้ความรัก ให้การยอมรับและสร้างกำลังใจให้กับลูก แต่การจะสร้างคำพูดเหล่านั้นขึ้นมาได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มที่การฟัง
แค่เริ่มต้นตั้งใจฟังลูกจากความว่างเปล่า ปราศจากอคติ ลูกจะรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ให้เกียรติความคิดเห็นของเขา ใส่ใจความรู้สึกของเขา ลูกจะสัมผัสได้ถึงความรัก ความห่วงใยของคุณพ่อคุณแม่ รู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเอง และความรู้สึกอันทรงคุณค่าเหล่านี้จะอยู่กับเขาไปตลอดชีวิตค่ะ
แพทย์หญิงจิตรา วงศ์บุญสิน
กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลบางปะกอก 1
(Some images used under license from Shutterstock.com.)