© 2017 Copyright - Haijai.com
วิกฤตน้ำท่วม ลูกๆ ว่ายน้ำเป็นหรือยัง?
ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมาคงไม่มีข่าวใดครองพื้นที่สื่อได้นานและลุ้นระทึกรายวันได้มากเท่าข่าว “น้ำท่วม” ซึ่งท่วมชนิดไม่หยุดหย่อนแถมรุกคืบเข้าไปในจังหวัดแล้วจังหวัดเล่า สิ่งที่ตามมานอกจากการต้องสูญเสียทรัพย์สิน บ้านเรือน ยังต้องสูญเสียชีวิต โดยเฉพาะเด็กๆ จมน้ำตายจากภาวะน้ำท่วม กลายเป็นเหตุการณ์ตายรายวันที่น่าเศร้าสลดเป็นที่สุด
ดูเหมือนภาวะน้ำท่วม (รวมทั้งแผ่นดินไหว, พายุกระหน่ำ) จะกลายเป็นวิกฤตการณ์ไปแล้วในแทบทุกพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือเอเชีย ซึ่งมหันตภัยทั้งหมดนี้ทำให้ทรัพย์สิน อาคารบ้านเรือนย่อยยับจนยากจะกู้คืน ที่สำคัญกว่าก็คือ ผู้คนล้มตายหายสาบสูญเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน แต่แม้ว่านี่คือวิกฤตแห่งภัยพิบัติ หากเรามาช่วยกันสอนลูกสอนหลาน ให้รู้จักและเตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติ “วิกฤต” ก็อาจกลายเป็น “โอกาส” ได้ในที่สุด ภัยพิบัติไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้วนะครับ ภาวะโลกร้อนกลายเป็นปัญหาระดับโลก ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อและรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง จึงควรสอนให้เด็กติดตามข่าวภัยพิบัติอย่างใกล้ชิด เพื่อการรับมือและป้องกันแก้ไขอย่างถูกต้องและทันท่วงที
จากการสำรวจของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2542-2548 พบว่าเด็กอายุ 1-14 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำถึง 10,371 คน เฉลี่ยปีละ 1,481 คน หรือเฉลี่ยวันละ 4 คน ซึ่งมากกว่าการตายด้วยอุบัติเหตุจราจรถึง 2 เท่า ที่น่าเศร้าก็คือ เด็กที่จมน้ำตายนั้นว่ายน้ำไม่เป็นถึงร้อยละ 50-80 และเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี จมน้ำตายห่างจากบ้านของเขาไม่เกิน 100 เมตรเท่านั้น (นายอามินูร์ ราห์มาน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการจมน้ำระหว่างประเทศที่บังกลาเทศเผยว่า แต่ละปีมีเด็กในเอเชียจมน้ำเสียชีวิต 350,000 คน สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วถึง 20 เท่า) ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องหันมาเอาใจใส่ให้เด็กๆ ของเราว่ายน้ำเป็น อย่างน้อยที่สุดให้อยู่ในขั้นช่วยชีวิตตนเองได้ (ส่วนอายุที่จะเริ่มเรียนว่ายน้ำ ขอแนะนำว่าน่าจะรอให้ครบ 5 ขวบดีกว่า ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย แต่แม้จะน้อยกว่า 5 ขวบจะยังไม่พร้อมเรียน ก็ยังพอจะฝึกฝนการรู้จักช่วยตัวเองให้โผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้เมื่อตกน้ำ และพอจะประคับประคองตนเองได้เพื่อให้ผู้พบเห็นช่วยได้ทัน)
1.ก่อนอื่นทำบ้านให้ปลอดภัย สำรวจทั้งในและนอกบ้านอยู่เสมอๆ ว่า จุดใดคือจุดเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับลูกๆ หรือสมาชิกในครอบครัว เมื่อพบแล้วก็ต้องรีบจัดการให้เรียบร้อย เช่น ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำในกะละมังในอ่างน้ำโดยลำพัง ถ้ารองน้ำไว้ในถัง ในตุ่ม ในโอ่งต้องปิดฝาไว้ตลอดเวลา น้ำในถังในกะละมังหากไม่ได้ใช้ให้เททิ้งและคว่ำกะละมังคว่ำถังไว้ด้วย หากในบริเวณนั้นมีสระว่ายน้ำ มีบ่อ ให้ทำรั้วกั้น เพื่อไม่ให้เด็กๆ เข้าไปเล่นโดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล
2.ไม่ทำให้เจ้าตัวเล็กเกิดความรู้สึกว่า สระว่ายน้ำเป็นสถานที่ต้องห้าม แต่ควรค่อยๆ ทำให้ลูกน้อยผ่อนคลายสบายใจด้วยวิธีการต่างๆ เช่น อาจจะเริ่มจากให้ลูกเล่นน้ำในอ่างน้ำเล็กๆ ที่บ้าน โดยหยิบของเล่นชิ้นโปรดของลูกสัก 2-3 ชิ้น เพื่อให้เขาเล่นเพลินๆ ขณะกำลังแช่น้ำ โดยมีคุณพ่อหรือคุณแม่ดูแลอยู่ใกล้ๆ เพื่อให้ลูกอุ่นใจ
3.จากนั้นในวันต่อๆ มาก็ให้หาเวลาพาลูกไปเที่ยวสระว่ายน้ำ เพื่อให้ลูกได้เห็นถึงบรรยากาศอันสนุกสนาน ชวนนั่งกินข้าวกินขนมกัน แล้วพาเดินเล่นรอบๆ สระ ค่อยๆ ให้ลูกลองเอาขาจุ่มน้ำ อุ้มเขาลงสระอย่างช้าๆ จูงลูกเดินในน้ำ ให้หัดเตะขา หัดการเคลื่อนไหว ลอยตัวในน้ำ ฯลฯ
4.เมื่อคุณลูกถึงขั้นยอมลงสระแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็จะต้องสร้างบรรยากาศที่ทั้งอบอุ่นและสนุกสนาน อย่าเครียดนะครับ เพราะจะทำให้ลูกกลัวและเครียดไปด้วยเราเองต้องอารมณ์ดีไว้ก่อน แล้วหากลูกยังไม่ยอมไปจริงๆ ก็อย่าไปดึงดันบังคับ หรือขู่เข็ญกันเลยนะครับ ไม่งั้นลูกจะรู้สึกว่า การว่ายน้ำช่างเป็นความยากเย็นและทุกข์ทรมานซะเหลือเกิน เขาจะพลอยต่อต้าน หรือหมดกำลังใจไปดื้อๆ ก็เลยว่ายน้ำไม่เป็นตลอดไป
การสบสายตาลูก กอด หอมแก้ม จับมือ ยิ้มให้ลูกมากๆ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ทำให้ลูกสบายใจ และเป็นกำลังใจให้นักว่ายน้ำตัวน้อยหน้าใหม่ได้อย่างดีที่สุด แต่อย่าลืมนะครับว่า ทุกขั้นตอนต้องใช้เวลา และเมื่อถึงขั้นตอนใดหากลูกเกิดกลัวขึ้นมา เช่น ตื่นตกใจ ร้องไห้จ้า ก็ควรให้หยุดไว้เพียงขั้นที่เด็กไม่เกิดความกลัว แต่หากวันนั้นลูกไม่ไหวจริงๆ ก็ให้งดไปก่อน แล้วค่อยพาลูกมาใหม่ในวันหลัง
5.นอกจากอุปกรณ์ว่ายน้ำทั้งหลาย (ชุดว่ายน้ำ, แว่นว่ายน้ำ, แชมพู, สบู่, ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่มกันความหนาวเย็น (ห่มตัวให้ลูกน้อย หลังขึ้นจากสระใหม่) รวมทั้งถุงพลาสติกใสเพื่อใส่ชุดเปียก แล้วก็อย่าลืมเตรียมอาหาร, นม, และขนมที่ลูกชอบด้วยนะครับ เพราะหลังจากการเล่นน้ำ ลูกต้องหิวจนท้องร้องจ๊อกๆ อย่างแน่นอน
6.หากวันนั้นอากาศหนาวเย็น, ฝนตก, ฟ้าคะนอง หรือลูกมีไข้รุมๆ ก็ควรงดลงเล่นน้ำ และถ้าลูกมีปัญหาด้านโรคผิวหนัง ก็ควรจะพาไปพบคุณหมอเพื่อรักษาให้หายดีซะก่อน มิฉะนั้นคลอรีนในสระว่ายน้ำก็อาจจะทำอันตรายผิวของลูก จนเกิดระคายเคือง หรือมีอาการมากยิ่งขึ้น
7.ตลอดเวลาที่อยู่ในสระว่ายน้ำกับลูกน้อย ไม่ควรละสายตา หรือทิ้งลูกไว้เพียงลำพัง (แม้จะชั่วครู่ก็ไม่ควรเสี่ยงครับ) แม้ว่าลูกพอจะว่ายเป็นแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็อย่าเพิ่งวางใจ โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบยิ่งต้องดูแลกันใกล้ชิด แต่นั่นก็คงไม่ได้หมายถึงการวิตกจนเกินเหตุ จนเด็กขยับตัวไม่ได้เลย หรือเอาแต่คอยเอ็ด คอยห้ามเด็กๆ ทุกๆ ความเคลื่อนไหว เด็กๆ ควรสนุกสนานและมีอิสระ อันเป็นพื้นฐานแห่งการมีความคิดสร้างสรรค์และมีสุขภาพจิตที่ดีดังนั้น ทุกครั้งที่ลูกลงสระจึงจะต้องคอยดูลูกไว้ อย่าให้คลาดสายตา
8.เมื่อเห็นว่าลูกถึงวัยที่ควรไปเรียนว่ายน้ำได้แล้ว ก็จะต้องพิจารณาหาข้อมูลให้รอบคอบ เช่น เรื่องของ ค่าเล่าเรียน เวลาการเรียน และที่สำคัญคือ สภาพแวดล้อมวิธีการสอน การดูแลในเรื่องของความปลอดภัย รวมทั้งคุณภาพหรือวุฒิภาวะของครูผู้สอนด้วยนะครับ (ซึ่งมักจะได้ข้อมูลมาจากการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก ถามจากครอบครัวที่เคยเรียนมาแล้ว หรือลองมานั่งสังเกตการณ์ดูในวันที่ครูลงสอน)
นอกจากนั้นจำนวนเด็กๆ ที่ลงเรียนในแต่ละรอบก็มีความสำคัญ หากว่ามากเกินไปและครูฝึกดูแลไม่ดีก็อาจเกิดเหตุร้ายอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด ดังเคยเกิดเป็นข่าวอันน่าสลดใจ เช่น เหตุการณ์ที่สระว่ายน้ำแถว อ.สามพราน จ.นครปฐม ในชั่วโมงพละที่มีครูสอนว่ายน้ำ 1 คน ต่อเด็ก 11 คน (วัย 7-8 ขวบ) เมื่อเรียนครบชั่วโมงครูก็สั่งให้ลูกศิษย์ขึ้นจากสระ และให้รีบไปอาบน้ำแต่งตัว โดยไม่มีการตรวจนับเลยว่า ลูกศิษย์ที่ขึ้นมาจากสระนั้นมีเพียง 10 คน และกว่าจะรู้เด็กที่หายไปก็กลายเป็นศพจมน้ำอยู่ก้นสระ
เมื่อลูก 5 ขวบขึ้นไปควรจะพาลูกไปเรียนว่ายน้ำ โดยเรียนกับคุณครูผู้มีความชำนาญ (ด้านการว่ายน้ำ) แล้วก็อย่าเห็นเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยเลยนะครับ ที่จะลงทุนให้ลูกในเรื่องของการว่ายน้ำ ที่ไม่เพียงแค่ว่ายน้ำพอได้ แต่ควรพยายามส่งเขาเรียนกระทั่งว่ายน้ำเก่ง โดยมีทั้งความชำนาญ ความแข็งแรง และมีทักษะในการเอาชีวิตรอดยามเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่วนทักษะในการช่วยเหลือผู้อื่น (ที่จมน้ำ) นั้น ก็สามารถฝึกฝนต่อไปได้ครับเมื่อเขาเติบโตขึ้น
นอกจากความปลอดภัยของชุมชนแล้ว ก็อย่าหลงลืมความปลอดภัยของลูกๆ หลานๆ ในรั้วบ้านของตนเองด้วยนะครับ โดยตั้งหลักไว้ก่อนเลยว่า เด็กที่จมน้ำนั้นจะขาดอากาศหายใจ และมีเวลาให้เราแก้ไขเพียงแค่ 4-5 นาทีเท่านั้น เพราะหากเกินไปกว่านี้เด็กก็อาจเกิดภาวะสมองตายกลายเป็นเจ้าชายนิทรา หรือเสียชีวิต ดังนั้นโปรดมอบสิ่งเหล่านี้ให้แก่พวกเขา แต่ในขณะเดียวกัน ก็จงอย่าปล่อยปละและละสายตาไปจากความปลอดภัยนะครับ
Good to Know
นอกจากการทำบ้านให้ปลอดภัยสำหรับลูกรักแล้ว การจูงมือเด็กๆ ให้ไปสำรวจจุดเสี่ยงด้วยกัน พร้อมกับให้คำแนะนำและคำห้ามปราม ก็น่าจะได้ผลดีในเรื่องของความปลอดภัยไม่น้อยเลย เช่น พาไปสระว่ายน้ำ แล้วเดินไปดู ไปสัมผัสถึงความลื่นของขอบสระ ที่ไม่ควรวิ่งเล่นในบริเวณนี้อย่างเด็ดขาด แล้วแนะนำอีกว่า ก่อนจะลงว่ายน้ำจะต้องทำการวอร์มอัพ หรือบริหารร่างกายก่อนลงสระ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับสภาพความพร้อมก่อนจะออกกำลังกาย มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหากล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ กล้ามเนื้อเกร็ง หรือตะคริวกินระหว่างกำลังว่ายน้ำ
ส่วนเด็กๆ ที่เกิน 5 ขวบแล้วยังว่ายน้ำไม่เป็น ก็จะต้องว่ายน้ำในแถบน้ำตื้นเท่านั้น ส่วนเด็กเล็กก็จะต้องลงเล่นในสระเด็กเท่านั้น และจะต้องไม่ปีนหรือไต่ขอบสระในเขตน้ำลึกโดยเด็ดขาด (มีเด็กๆ มากมายที่จมน้ำ เพราะชอบปีนขอบสระน้ำในเขตน้ำลึก) นอกจากนั้นแล้วหากบริเวณที่อยู่อาศัยมีคลอง มีบ่อน้ำ ก็ควรจูงลูกไปดูและสอนให้เห็นถึงอันตราย และออกกฎไว้เลยว่า ห้ามเข้าใกล้โดยเด็ดขาด
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)