© 2017 Copyright - Haijai.com
มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท
นึกย้อนกลับไปสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก 6-7 ขวบ ผมยังจำได้ดีว่าผมมีกระปุกออมสินรูปม้าใบหนึ่งก็คงเหมือนเด็กทั่วๆ ไปที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งใจจะฝึกฝนให้เราเป็นคนรู้จักออม รู้จักค่าของเงิน แต่ด้วยความที่ว่าเป็นเด็กกระมังผมก็วิ่งไปขอเงินคุณปู่ที คุณย่าทีแล้วนำมาหยอดกระปุก เพราะอยากให้มันเต็มไวๆ พอกระปุกเต็มผมก็ดีใจมาก มานั่งนับกับคุณแม่ว่าได้เท่าไรแล้วก็นำเงินที่ได้ไปฝากธนาคาร หลังจากนั้นก็ซื้อกระปุกใบใหม่ผมก็เริ่มไปประจบคุณปู่คุณย่าใหม่กระปุกของผมจะเต็มเร็วกว่าพี่ๆ ของผมทุกครั้งครับเป็นแบบนี้อยู่พักใหญ่เลยทีเดียว ผมเลยมานั่งนึกว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการสอนเราสมัยนั้น มันให้อะไรเรามากกว่านั้นไหมคุณแม่มักบอกผมเสมอว่าหากผมอยากได้อะไร ก็ต้องเก็บเงินใส่กระปุกแล้วนำเงินนั้นไปซื้อ แต่เท่าที่ผมจำได้ผมยังไม่เคยนำเงินจากกระปุกไปซื้อของเลยซักที คุณแม่ต่างหากจะเป็นคนออกสตางค์ซื้อของเล่นให้ผมทุกครั้ง แล้วถ้าตอนนี้ผมจะลองหัดให้ลูกๆ ผมหยอดกระปุกดูบ้าง ทฤษฎีการออมนี้จะต้องเกิดประโยชน์มากกว่าเพียงเพื่อการซื้อของเล่นของพวกเขาเป็นแน่
จริงๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่มีลูกย่างเข้าวัย 3 ขวบ ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะในการเริ่มสอนให้เขารู้จักเรื่องของเงินแล้วล่ะครับ เรายังไม่จำเป็นต้องสอนให้เขาจำว่านี่คือธนบัตรใบละยี่สิบ นี่คือเหรียญห้าบาท ยังไม่ใช่ตอนนี้ครับ แต่เราจะเริ่มจากการเปิดโอกาสให้เด็กหัดจ่ายเงินเองบ้างเวลาไปซื้อของ เช่น เวลาไปซื้อของเล่นในห้างสรรพสินค้า เราควรให้เด็กเป็นคนยื่นเงินให้กับพนักงานขายของการเรียนรู้นี้เองจะช่วยให้เด็กเกิดการซึมซับข้อมูลและมีความเข้าใจในประโยชน์ของเงินว่า เงินนั้นสามารถนำไปใช้แลกเปลี่ยนให้ได้สิ่งของที่ตัวเองต้องการหรือจำเป็นต้องได้มา
เมื่อหัดลูกไปได้สักพัก ก็ควรเริ่มสอนลูกถึงว่าจะทำอย่างไรให้ได้เงินมาแน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องทำงานเพื่อแลกกับเงิน ความคิดนี้เองที่ผู้ใหญ่ต้องปลูกฝังให้เขาเข้าใจที่มาของเงินว่าต้องทำงานถึงได้เงินคุณแม่ที่ไม่ได้ทำงานอาจจะบอกลูกว่าคุณพ่อต้องทำงานมากเป็นสองเท่าเพื่อคุณแม่ด้วย และเมื่อใดก็ตามที่ลูกเริ่มร้องขอเงินไปซื้อขนมหรือของเล่น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้โดยไม่มีเหตุผลสมควรหรือไม่ควรให้ไปง่ายๆ แต่เพื่อเป็นการสั่งสมนิสัยของการเรียนรู้ คุณควรหัดให้เขาทำสิ่งตอบแทนเพื่อแลกกับเงินที่เขาอยากได้ เช่น อาจให้ทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ เป็นต้น
เมื่อถึงเวลาที่คุณจูงลูกไปซื้อกระปุกใบแรก ตัวคุณเองต้องมั่นใจว่าคุณจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการออมของเขาด้วย ลองตรวจดูว่าคุณยังวางเศษเงินเรี่ยราดไหม คุณยังใช้จ่ายฟุ่มเฟือยให้ลูกเห็นหรือเปล่า พฤติกรรมเหล่านี้เป็นตัวอย่างไม่ดีให้กับเด็ก แม้ว่าเศษเงินอาจมีค่าน้อยนิดแต่หากเราสามารถปฏิบัติตัวให้ลูกรู้ว่าเงินนั้นเมื่อเก็บสะสมรวมกันจะมีมูลค่าเพิ่มเพียงใด ให้เขาได้หยอดเหรียญลงกระปุกด้วยตัวเอง แม้ว่าอาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเต็มจุดเล็กๆ นี้จะทำให้เขาเรียนรู้ที่จะอดทน เมื่อเต็มแล้วจึงมาช่วยกันเปิดกล่องนับเงินเขาจะตระหนักว่าเมื่อเงินมารวมกันมันมีค่ามากมาย สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ อย่าทำให้เด็กเรียนรู้แค่ทฤษฎี แต่ต้องให้เห็นจริงและจับต้องได้ ต้องทำให้เด็กเห็นว่าเงินที่สะสมมานั้นนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างหากคุณตั้งใจนำเงินฝากธนาคาร ควรแบ่งออกมาเล็กน้อยก่อนและนำเงินนั้นไปซื้อของเล่นหรือซื้อไอศกรีม เพื่อเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จในการออม
แน่นอนครับประโยชน์ของการออมไม่ใช่เพียงแค่การซื้อสิ่งของที่อยากได้เท่านั้น แต่ลึกลงไปกว่านั้นมันคือการปลูกฝังทัศนคติ และนิสัยที่ดีในเรื่องของเงิน แม้ว่าเงินจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่ผู้ใหญ่อย่างเราควรให้เด็กระลึกไว้เสมอว่า เงินไม่ใช่เพื่อนที่ดีที่สุดของชีวิต ดังนั้นอย่าปล่อยให้เงินควบคุมชีวิตของพวกเขาในท้ายที่สุด พูดง่ายๆ ก็คือ พยายามสอนเด็กไม่ให้ผูกมัดตัวเองกับเงินจนเกินไปอย่าจุดความคิดเด็กๆ ให้กดดันตัวเองว่าต้องหาเงิน หาเงิน หาเงินเท่านั้น และนำเงินนั้นมาใช้จ่ายกับสิ่งฟุ่มเฟือยหรือเกินความสามารถที่จะได้มา เมื่อใดก็ตามที่เด็กเริ่มมีความคิดเช่นนั้น เท่ากับว่าคุณได้ปล่อยให้เงินควบคุมชีวิตเขาอยู่ครับ
อาจารย์ปรมิตร ศรีกุเรชา
(Some images used under license from Shutterstock.com.)