© 2017 Copyright - Haijai.com
Creative Development พัฒนาการทักษะการคิดริเริ่มสร้างสรรค์
เด็กในวัย 6 ขวบขึ้นไป ถือเป็นวัยที่โตพอที่จะมีความคิดเป็นของตนเองได้บ้างแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางครั้งคุณพ่อคุณแม่จะเห็นว่าลูกกลับมาจากโรงเรียน พร้อมกล่องทดลองวิทยาศาสตร์ หรืองานศิลปะที่ดูยังก็ไม่เหมือนงานศิลปะทั่วๆ ไป นั่นเป็นเพราะลูกกำลังเข้าสู่ช่วงของการมีพัฒนาการด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นั่นเอง
ความคิดที่เกิดขึ้นมาจากความสร้างสรรค์ถือเป็นความคิดที่ยอดเยี่ยม เพราะนอกจากจากได้แนวคิดใหม่ๆ แล้ว ยังจะได้สิ่งประดิษฐ์ที่แปลกแตกต่างไม่ซ้ำใครอีกด้วย ซึ่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นี้มาจาก 1 ใน 6 คิว ที่จะต้องมีอยู่ในตัวคนหนึ่งคน และก็เริ่มมีมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ ซึ่งแววดีนี้จะปรากฏเด่นชัดออกมาก็ต่อเมื่อเด็กได้เริ่มถูกป้อน หรือถูกพัฒนาด้วยทักษะที่ดีที่ได้เริ่มแรกมาจากพ่อและแม่นั่นเอง ฉะนั้นหากเด็กได้รับการสนับสนุนที่ดีจากพ่อแม่ ผู้ใหญ่รอบข้าง ให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาได้คิดออกมา ก็จะช่วยให้ความคิดริเริ่มของเด็กกลายเป็นสิ่งสร้างสรรค์ขึ้นมาได้
C.Q. (Creative Quotient) เป็นความฉลาดในการริเริ่มสร้างสรรค์ มีความคิดจินตนาการ รวมถึงความคิดเห็นใหม่ๆ ซึ่งในการทำสิ่งต่างๆ คนที่มี C.Q. สูงกว่าคนอื่นๆ ก็จะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้มากกว่าคนทั่วไป ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จึงเป็นลักษณะความคิดแปลกใหม่แตกต่างจากความคิดแบบธรรมดาๆ ทั่วไป เพราะสิ่งที่คิดขึ้นมาใหม่นี้ ถือเป็นความคิดที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และสังคม
สังเกตว่าเด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
• เป็นคนที่กล้าคิดแตกต่างจากคนอื่นๆ (คิดในเรื่องเดียวกัน แต่คิดได้ใหม่กว่า ฉีกออกไปจากกรอบความคิดเดิมๆ)
• เป็นคนที่กล้าแสดงออก ทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน หรือกระทั่งตามสถานที่ต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้ได้พูดแสดงความคิดเห็น (ไม่ว่าจะถูกจะผิด ก็ขอให้ได้พูดแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องๆ นั้น ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่)
• เป็นคนที่กล้าทดลองทำในสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะงานวิทยาศาสตร์ งานประดิษ งานศิลปะ ฯลฯ เด็กก็จะกล้าที่จะทำอะไรแปลกใหม่ แตกต่างไปจากโจทย์ที่ได้รับมา
• เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง จะไม่กลัวกับอะไรง่ายๆ เป็นคนที่หนักแน่น และแน่วแน่ในสิ่งที่จะลงมือทำ
• เป็นคนที่ไวต่อแรงกระตุ้น หรือสิ่งเร้า ที่ท้าทาย เห็นเรื่องตื่นเต้นเป็นต้องขอลองทุกครั้งไป
ลักษณะต่างๆ เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่พ่อแม่จะสามารถสังเกตได้จากลูกๆ ที่บ้าน เพราะพอถึงช่วงวัยหนึ่งที่เขาโตพอที่จะมีความคิดเป็นของตนเอง เด็กก็จะยิ่งกล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ ซึ่งในบางครั้งเรื่องที่เด็กคิดและทำออกมา อาจดูเป็นเรื่องใหญ่เกินความสามารถของตัวเด็ก พ่อแม่ หรือคุณครูที่ปรึกษา ก็จะต้องคอยให้คำแนะนำที่ดี ที่เหมาะสมกับเด็กด้วย แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เป็นคำแนะนำที่บั่นทอนกำลังใจเด็ก ควรให้กำลังใจ ให้ความมั่นใจกับเด็กด้วยว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้น จะเป็นจริงขึ้นมาได้ถ้าอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง รวมทั้งความตั้งใจที่ดีของตัวเขา
ส่งเสริมทักษะการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ให้กับเด็ก
• สร้างบรรยากาศที่ดี : การสร้างบรรยากาศ รวมทั้งการจัดสิ่งแวดล้อมที่ดี และเอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน ทำให้เวลาที่ต้องคิดหาคำตอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือการตอบคำถามในห้องเรียน จะช่วยให้เด็กคิดและลงมือทำ ลงมือตอบได้อย่างรวดเร็ว ได้คำตอบที่ถูกต้องแม่นยำ บางครั้งก็อาจจะมีคำตอบของคำถามที่แตกต่างออกไป จนคุณครู และคุณพ่อคุณแม่ต้องแปลกใจ บรรยกาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กจะต้องไม่อยู่ในรูปแบบที่เคร่งเครียดจนเกินไป ควรปล่อยให้เด็กได้เล่น ได้คิด ได้ทำในสิ่งที่เขาอยากที่จะเรียนรู้อย่างอิสระบ้าง เช่น “เวลาเรียนเป็นเรียน เวลาเล่นเป็นเล่น” เด็กที่ถูกเคร่งครัดกับกฎเกณฑ์และระเบียบวินัยมากเกินไป ทำให้เขาไม่สามารถมีความคิดที่เป็นอิสระ หรือไม่สามารถยืดหยุ่นกับสิ่งที่เรียนรู้ได้เลย
• ส่งเสริมให้เด็กรับผิดชอบ : พ่อแม่ควรมีส่วนร่วมมือในการส่งเสริมลูกให้เขามีความรับผิดชอบด้วยตนเองให้มากที่สุด เพราะความรับผิดต่อสิ่งที่กำลังทำอยู่ ย่อมส่งผลดีต่อตัวเด็ก ที่จะทำให้สิ่งต่างๆ ประสบความสำเร็จและลุล่วงไปได้ด้วยดี ผลดีที่ตามมาไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่จะได้รับ แต่จะส่งผลต่อไปเมื่อเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า รวมทั้งสิ่งที่เขาได้คิด ได้ทำอย่างริเริ่มสร้างสรรค์นี้ ย่อมส่งผลไปถึงสังคมที่เข้มแข็ง และก้าวหน้าที่ส่วนหนึ่งเกิดมาจากเยาวชนผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ตัวน้อยเหล่านี้นี่เอง
Do you know
สิ่งที่พึงระวังในการฝึกฝนการคิดให้กับลูกคือ การหลงประเด็น แม้ความคิดสร้างสรรค์จะไม่ควรมีกรอบกั้น แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องเป็นการสร้างสรรค์ที่มีเหตุผล ความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องและมีเหตุผล จะทำให้ความนั้นมีคุณค่า
สิ่งหนึ่งที่จะหลงลืมเสียมิได้ในการฝึกฝนที่จะคิดอย่างสร้างสรรค์คือ Concept (แนวคิด) หรือหากเปรียบให้เห็นภาพชัด Concept ก็คือโจทย์ ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรามีโจทย์ หรือ Concept มาเป็นตัวตั้ง แต่การหาคำตอบนั้นมีได้หลายวิธีหลากหลายได้อย่างสร้างสรรค์ : พ.ญ.จิตรา วงศ์บุญสิน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)