Haijai.com


ปืนอัดลมมหาภัยโปรดช่วยกันกำจัด


 
เปิดอ่าน 3333

ปืนอัดลมมหาภัยโปรดช่วยกันกำจัด

 

 

ในบ้านเรานั้นมีเด็กที่ได้รับบาดเจ็บจาก “ปืนอัดลม” (เฉพาะที่มารักษาในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลทั่วประเทศ) ถึงปีละ 4,792 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ส่วนในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปีก็ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะส่วนใหญ่มักตกเป็นเหยื่อของเด็กคนอื่นๆ ที่ถือปืนยิงเล่นกัน แต่ในเด็กๆ ไม่ว่าจะวัยใดการบาดเจ็บที่ได้รับ ก็มักเป็นแผลฟกช้ำที่ผิวหนัง แขน ขาหรือลำตัวกรณีไม่รุนแรง แต่ในรายที่รุนแรงอันตรายจะเกิดที่ตา ความแรงของกระสุนมักทำให้เกิดกระจกตาถลอก เลือดออกในช่องตา (hyphema) ต้อกระจก หรือทะลุเข้าไปในลูกตา ต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล  

 

 

ในต่างประเทศซึ่งก็เคยวางขายกันเกลื่อน และแม้ต่อมาได้พยายามดัดแปลงเพื่อลดความแรงลง แต่เด็กๆ จำนวนมากก็ยังได้รับอันตราย จากรายงานของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า มีคนที่บาดเจ็บจากปืนอัดลมถึงราว 30,000 รายต่อปี ในจำนวนนี้ร้อยละ 81 เป็นเด็กและวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 19 ปี การบาดเจ็บนี้ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลร้อยละ 5 ในจำนวนนี้ร้อยละ 37 เกิดจากการบาดเจ็บที่ลูกตา

 

 

ในการศึกษาผู้ป่วยเด็กที่บาดเจ็บจากปืนอัดลมจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเด็กโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 42 ราย พบว่ามีอายุระหว่าง 1-23 ปี อายุเฉลี่ย 10 ปี เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง 5 เท่า 29 รายจาก 42 ราย มีสาเหตุมาจากสมาชิกอื่นในครอบครัวหรือเพื่อนเล่นยิงกัน 5 รายเกิดการบาดเจ็บโดยตนเอง ผู้บาดเจ็บต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 1-136 วัน เฉลี่ย 7 วัน ในประเทศแคนาดาเคยทำการศึกษาก็พบว่า เด็กๆ ที่ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นปืนอันตราย อายุโดยเฉลี่ยคือ 12 ปี มี 49% บาดเจ็บที่แขนขา 35% บาดเจ็บที่ลูกตา 6 ใน 43 ราย ลูกตาพิการเข้าขั้นตาบอด 2 ใน 6 ราย เกิดต้อกระจก และมี 4 รายที่ต้องควักลูกตาทิ้ง

 

 

ในหลายประเทศได้ออกกกฎหมายควบคุมการขาย ไม่ให้จัดเป็นผลิตภัณฑ์ของเล่นดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา ผู้ซื้อต้องมีอายุเกินกว่า 18 ปี ในบรรดา “ของเล่นของเด็กๆ” มากหลายชนิดที่จัดว่าอันตรายต่อเด็กๆ นั้น ของเล่นประเภท “ปืนอัดลม” ถือว่ามีอันตรายอย่างสูง แต่เด็กๆ ก็หาซื้อมาเล่นได้ง่ายๆ เพราะราคาถูก และในบ้านเรานั้นมันวางขายกันเกลื่อนทั้งตามห้าง ในตลาด ร้านค้าใกล้บ้าน กระทั่งร้านขายขนมหน้าโรงเรียนก็ปล่อยปละละเลยกันมาเนิ่นนาน จนทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการควบคุมการจำหน่ายอย่างจริงจัง

 

 

ที่ผ่านมาก็ไม่มีหน่วยงานใดให้ความสนใจรับผิดชอบ มันจึงก่อให้เกิดภัยแก่เด็กมากยิ่งกว่าปืนอัดลมราคาสูง (บีบีกัน) ด้วยซ้ำไป เพราะแม้ปืนอัดลมบีบีกันจะมีแรงอัดกระแทกสูง แต่กฎหมายได้จัดให้มันเป็น “สิ่งเทียมอาวุธ” จึงถูกระบุว่าเป็นกีฬาของผู้ใหญ่ ส่วนราคาก็นับว่าแพงเกินกว่าเด็กส่วนใหญ่จะซื้อมาเล่นได้ง่ายๆ เพราะปืนบีบีราคาสูงหลักพันถึงหลายๆ หมื่นบาท แล้วยังต้องขอรับอนุญาตนำเข้าปืนอย่างถูกต้อง และต้องใช้ในสนามยิงปืนและมีอุปกรณ์เสริมความปลอดภัย ปืนในลักษณะนี้ไม่สามารถขายให้เด็กในลักษณะของเล่นได้ และถูกควบคุมตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน (แต่ยังคงมีการละเมิดขายในเว็บไซต์ออนไลน์ และมีพ่อแม่ซื้อให้เด็กเล่นที่บ้านโดยไม่มีการควบคุมดูแล)

 

 

จากการสุ่มทดสอบปืนอัดลมทั้งสั้นและยาว ประเภทไม่แพงและหาซื้อได้ง่ายๆ ที่วางจำหน่ายในตลาดจำนวน 27 รายการ พบว่า มีปืนอัดลมที่ไม่ผ่านการทดสอบ 25 รายการ (92.5%) ยิงที่ความเร็วมากกว่า 30 เมตรต่อวินาทีถือว่าเป็นอันตราย โดยค่ามาตรฐานความปลอดภัยของปืนอัดลมทั้งชนิดสั้นและยาวนั้น เมื่อผ่านการทดสอบแล้วลูกกระสุนแข็งต้องมีพลังงานจลน์ไม่เกิน 0.08 จูล ขณะที่ลูกกระสุนอ่อนต้องมีพลังงานจลน์ไม่เกิน 0.5 จูล ปืนบางรายการมีค่าเกินมาตรฐาน 5 เท่า เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมไม่นิยามปืนอัดลมไว้ว่า ไม่ใช่ของเล่น จึงละเลยต่อการตรวจจับ

 

 

เรียกได้ว่าการเอาใจใส่ในความปลอดภัยของเด็กนั้นช่างมีน้อยนิด ผิดกับบรรดาผู้ผลิตปืนอัดลมที่ดูคล้ายของเล่น ที่มีการพัฒนาเจ้าปืนอันตรายให้มีการอัดลมกระแทกกระสุนให้เร็ว แรงและยิงรัวเป็นชุดๆ เพิ่มอันตรายให้เด็กๆ ที่ซื้อมายิงกระสุนใส่กัน โอกาสคนโดนยิงจะเลือดออกในช่องลูกตา เป็นต้อกระจก ลูกตาแตก หรือต้องผ่าตัดควักลูกตาทิ้งจึงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นไปอีก

 

 

ข่าวดีจากเรื่องอันน่าเศร้านี้ก็คือ ในขณะนี้บ้านเรามีหน่วยงานที่แสดงความมุ่งมั่นกับการขจัดปัญหาปืนอัดลมอันตรายอย่างจริงจัง นั่นก็คือ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) โดยท่าน พ.ต.อ.กฤศ โบสุวรรณ รองผู้บังคับการ ปคบ. ได้กล่าวว่า “ปืนอัดลมแบบเบาที่ดูคล้ายของเล่น แม้จะมีแรงอัดกระแทกกระสุนเบา แต่มีลักษณะคล้ายปืนจริง ก็ถือเป็นสิ่งเทียมอาวุธเช่นกัน การวางขายทั่วไปเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถ้ามีการขายถือว่าผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490

 

 

ส่วนการปลอมแปลงเครื่องหมาย มอก. และระบุทะเบียนมาตรฐาน 685 ซึ่งเป็นมาตรฐานของเล่นนั้น ถือว่าผิดกฎหมายและต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ส่วนชุมชนควรร่วมกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีการจำหน่ายปืนอัดลม หากพบการลักลอบจำหน่ายควรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือหากสงสัยแจ้งผ่านศูนย์ ปคบ. 1135

 

 

จากการตรวจสอบปืนอัดลมลักษณะดังกล่าวกว่า 39 รายการ ของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี พบว่า มีเพียง 2 รายการเท่านั้นที่ได้มาตรฐาน ส่วนที่เหลืออีก 37 รายการ อยู่ในเกณฑ์อันตราย หากยิงโดนตา จะทำให้มีเลือดออกในตาดำได้ แถมยังพบอีกว่า ปืนอัดลมดังกล่าว ยังมีวางขายตามท้องตลาดกว่า 90% ทั้งๆ ที่เป็นของเล่นที่อันตราย และผิดกฎหมายด้วย หัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเราๆ จะทำอย่างไรดี เพื่อความปลอดภัยของลูกๆ?

 

 

ก่อนอื่นก็จะต้องเอาใจใส่ในการเลือกซื้อของเล่นให้ลูกๆ โดยเฉพาะปืนอัดลมนั้นไม่ควรซื้อให้เด็กๆ เป็นอย่างยิ่ง พญ.สินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์ ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลเวชธานี ได้ฝากไว้ด้วยความห่วงใยเด็กๆ ว่า “แม้บางครั้งจะเห็นเด็กผู้ชายวัย 3-4 ขวบ เล่นกันโดยแสดงออกผ่านการเล่นที่ดูก้าวร้าว มีทั้งเตะ ต่อย ไล่ยิงกันบ้าง โดยไม่อยู่ในอารมณ์ของการทะเลาะเบาะแว้ง ก็ไม่ได้แปลว่าเด็กจะมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่รุนแรง เพราะขึ้นอยู่กับการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวว่าอะไรคือการเล่น หรืออะไรเป็นเรื่องจริง ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักการแยกแยะด้วย คุณพ่อคุณแม่จะต้องสอนหากลูกเห็นเหตุการณ์ในโทรทัศน์หรือเกมที่เกี่ยวกับการใช้อาวุธในทางที่ไม่ถูกต้อง และต้องคอยบอกลูกว่าสิ่งไหนควรทำหรือสิ่งไหนไม่ควรทำ มิเช่นนั้นอาจเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องได้ และที่สำคัญก่อนตัดสินใจซื้อของเล่นให้กับลูกควรคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกจะได้รับให้มากกว่าความสนุกสนาน เพราะมันอาจจะให้โทษแก่ลูกแทนก็เป็นได้” พญ.สินดี ฝากทิ้งท้าย

 

 

จริงๆ แล้วของเล่นแนวอาวุธยุทธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นมีด ดาบหรือปืน ก็ไม่ควรอุดหนุนกันอยู่แล้ว แต่หากลูกอยากเล่นอย่างรับมือไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องสอนให้เขารู้ว่า บรรดาของเล่นแนวบู๊นี้มันมีทั้งประโยชน์และโทษ หากจะเล่นก็ต้องเรียนรู้ และเคารพกฎ กติกา มารยาท รวมทั้งการมีคุณธรรมดังการฝึกศิลปะป้องกันตัว (ที่ได้มาตรฐาน) ทั้งหลาย เช่น ของเล่นปืนก็สอนวิธีการใช้ และให้เขารู้ว่า ปืนนั้นมีไว้ป้องกันตัวเองในยามจำเป็นจริงๆ ไม่ใช้มีไว้เพื่อโอ้อวด  เพื่อข่ม หรือทำร้ายคนอื่น และชุมชนควรร่วมกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีการจำหน่ายปืนอัดลมด้วย

 

 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)