© 2017 Copyright - Haijai.com
พฤติกรรมการพูดหยาบคาย
T.Berry Brazelton, M.D. หรือ ดร.แบรี่ บราเซลตัน ผู้เขียนหนังสือขายดีที่รู้จักกันดีเรื่อง Touchpoints (ทัชพอยต์) เป็นผู้ก่อตั้งแผนกพัฒนาการเด็กในโรงพยาบาลบอสตัน และเป็นศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ ที่แผนกการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้กล่าวไว้ว่า
ช่วงวัย 4-5 ขวบ เด็กเริ่มมีพฤติกรรมเลียนแบบคำพูดสาบาน และพูดเพ้อเจ้อเหลวไหลจากเพื่อนๆ หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ของเขาเอง ประเด็นสำคัญหนึ่งที่พ่อแม่จะต้องรู้ก็คือ ปฏิกิริยาตอบสนองของพ่อแม่ และผู้ใหญ่รอบตัวที่แสดงออกมาเมื่อได้ยินคำพูดของเด็ก มีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมการใช้ภาษาพูดของเขา โดยปกติแล้วผู้ใหญ่มักแสดงความชื่นชมยินดีเมื่อได้ยินลูกพูดคำใหม่ๆ ออกมา และบ่อยครั้งก็ชอบที่จะล้อเลียนคำพูดของเด็ก ในแต่ละวันเด็กจะเรียนรู้คำพูดและประโยคใหม่ๆ อยู่เสมอ ขณะเดียวกันเขาก็เลียนแบบคำพูดหยาบคาย หรือคำสาบานของผู้ใหญ่ หรือพ่อแม่มาด้วย ยิ่งเมื่อทุกคนมีปฏิกิริยาที่แสดงออกมาให้เขารู้สึกได้อย่างชัดเจน เช่น หยุดพูด สีหน้าเปลี่ยน จากนั้นก็อาจหัวเราะออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่มักแสดงอาการตกใจ หรือทำราวกับว่าลูกของตนเพิ่งผ่านเส้นขีดอันตรายออกมาได้ ปฏิกิริยาเหล่านี้ทำให้เจ้าหนูรู้สึกสับสน และพึมพำคำพูดเหล่านั้นอีกครั้ง เพื่อทดสอบว่าปฏิกิริยาของผู้ใหญ่มีความหมายอย่างไร การหยุดนิ่ง หรือแสดงปฏิกิริยาตอบสนองจนมากเกินจะเป็นผลให้เด็กพูดคำพูดเหล่านั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และอาจดังขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากที่แสดงปฏิกิริยาเป็นกังวลต่อคำพูดของลูกน้อยแล้ว พ่อแม่ควรผ่อนคลายลงบ้าง เพราะพฤติกรรมนี้ของลูกเป็นพียงการทดลอง และการเลียนแบบเท่านั้น เขาแค่รู้สึกประหลาดใจว่าทำไมคำพูดเกี่ยวกับเพศหรือของสกปรก จึงทำให้พ่อแม่มีปฏิกิริยาได้ถึงขนาดที่พ่อแม่ต้องห้ามเขาไม่ให้พูดอีก ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วความกังวลของพ่อแม่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในขั้นต่อไปพ่อแม่อาจเป็นกังวลว่าลูกจะถูกละเมิดทางเพศมาหรือเปล่า ฯลฯ แต่ความจริงแล้วการทดลองนี้ของเด็กเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก (นอกเสียจากว่า คำพูดหยาบคายหรือรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเพศที่ลูกพูด ไม่ได้มาจากการได้ยินคนในบ้าน หรือเพื่อนๆ ของเขาพูด!)
คุณพ่อคุณแม่ควรระวังไม่แสดงออกมากเกินไปนัก ถ้าคุณจำเป็นต้องตำหนิให้พูดทำนองว่า “คำพูดแบบนี้ทำให้คนอื่นรำคาญ คนส่วนใหญ่ไม่ชอบฟัง” การไม่แสดงออกว่าสนใจกับพฤติกรรมนี้มากนัก จะทำให้ลูกค่อยๆ เลิกพฤติกรรมนี้ไปเอง ที่สำคัญพ่อแม่จะต้องไม่ลืมที่จะถามตัวเองด้วยว่า เด็กได้เลียนแบบคำพูดเหล่านี้มาจากผู้ใหญ่หรือคนในบ้านหรือไม่ ซึ่งตัวคุณเองหรือแม้กระทั่งคู่สามี (ภรรยา) ของคุณเองต้องตระหนัก และระมัดระวังในการใช้คำพูดด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเลียนแบบคำพูดที่ไม่เหมาะสมจากพ่อแม่ของเขาเอง
คุณอาจเป็นกังวลว่าลูกจะกลายเป็น “เด็กพูดจาหยาบคาย” ซึ่งแน่นอนล่ะว่ามีความเป็นไปได้ แต่คุณต้องไม่ใช้เหตุผลนี้เป็นปัจจัยในการสั่งงดไม่ให้เขาออกไปเล่นกับเพื่อนข้างนอก หรือกับเพื่อนที่โรงเรียน ในทางตรงกันข้ามให้ใช้โอกาสนี้สอนให้ลูกรู้ว่าคำพูดทำนองนี้จะทำให้คนอื่นรู้สึกอย่างไร และมีปฏิกิริยาอย่างไรกับเขา ถ้าลูกของคุณยังคงมีคำพูดหยาบคายอยู่อีก คุณต้องทำให้เขาเข้าใจว่า คำพูดหยาบคายทำนองนี้ของเขา จะทำให้คนฟังไม่พอใจได้โดยการอธิบายให้เขาฟังสาเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ชอบคำพูดทำนองนี้ และคุณอาจต้องถึงกับขอให้เขาเลิกที่จะพูดคำเหล่านี้อีก ซึ่งลูกอาจรู้สึกโกรธ แต่คุณก็ต้องอธิบายให้เขาฟังถึงสาเหตุที่ทำให้ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นกับเขา และช่วยเขาหาวิธีที่จะจัดการกับอารมณ์นี้
สำหรับเด็กโตการใช้คำพูดโพล่งพลางพยาบคาย และคำสาบานก็เพื่อกลบเกลื่อนความรู้สึกไม่มั่นคงในจิตใจ จึงจำเป็นต้องใช้คำพูดลักษณะนี้ในการเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง หรือเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ใหญ่ และความเข้มแข็งของเขา ในกรณีนี้การหมั่นยกย่องชมเชยในพฤติกรรมที่ถูกต้องของเขาเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการช่วยให้เขามีวิธีหักล้างความรู้สึกไม่มั่นคงได้อย่างเหมาะสม
(Some images used under license from Shutterstock.com.)